ไฟเขียวคลื่น IoTจุดพลุใช้งานเชิงพาณิชย์

ไฟเขียวคลื่น IoTจุดพลุใช้งานเชิงพาณิชย์

หลัง กสทช. มีมติเห็นชอบให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 MHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT)  กลาง ก.ค.ที่ผ่านมา 

เหตุการณ์นี้เหมือนเป็นการเบิกฤกษ์เปิดทางให้กับโครงการ IoT ได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะการเปลี่ยนสถานะจากการทำ Proof of Concept หรือโครงการต้นแบบที่ใช้ IoT ให้เข้าสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในประเทศไทย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสการตื่นตัวของเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทย เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเนื่องจากความพร้อมของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและพลังการประมวลผลของเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ที่ช่วยให้ทั้งผู้พัฒนาอุปกรณ์สมองกลฝังตัว ผู้ค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หน่วยงานวิจัยและการศึกษา รวมถึงฝั่งผู้ใช้งานภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมสาธารณสุข ไปจนถึงภาครัฐที่มีโครงการสมาร์ทซิตี้ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ จังหวัด ที่ต้องใช้ IoT เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สำคัญ

นอกจากการอนุมัติคลื่นแล้ว สิ่งที่หน่วยงานกำหนดนโยบาย น่าจะได้พิจารณาเป็นวาระต่อไปก็คือ กระบวนการอนุมัติการนำเข้าอุปกรณ์ที่ใช้คลื่น IoT ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเอกชน และเสียเปรียบในการแข่งขัน รวมถึงการพิจารณาเร่งรัดออก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากอุปกรณ์ IoT บางส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

อานิสงส์จากการอนุมัติคลื่นสำหรับ IoT ยังส่งผลบวกต่อธุรกิจการให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งในประเทศไทยอีกด้วย เนื่องจากหากมีปริมาณการใช้ IoT ที่มากขึ้น ก็จะเพิ่มปริมาณการรับส่งข้อมูลผ่านคลาวด์ให้สูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ IoT ถือเป็นเทคโนโลยียุทธศาสตร์ที่จะช่วยให้ธุรกิจเกิดการปรับตัวเปลี่ยนเป็นธุรกิจรับดิจิทัล หรือ ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น และสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ หรือช่วยลดค่าใช้จ่าย แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพ โดยองค์กรธุรกิจจะต้องให้ส่วนงานธุรกิจ และส่วนงานไอทีทำงานสอดประสานเพื่อสนับสนุนโครงการ IoT ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้การวางแผนออกแบบ ติดตั้ง ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จ

นอกจากนั้น องค์กรธุรกิจ จำเป็นต้องให้มั่นใจได้ว่า การใช้ IoT สามารถบูรณาการกับระบบเอ็นเตอร์ไพรส์ แอพพลิเคชั่น ทั้ง Enterprise Resource Planning (ERP) Supply chain management (SCM) Customer Relationship Management (CRM) และเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ข้อมูลที่ได้รวบรวมจากหลายแหล่ง และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จากข้อมูลเชิงลึกที่ถูกซ่อนอยู่ (Insight) โดยต้องให้มั่นใจด้วยว่าการใช้งาน IoT นั้นมีความปลอดภัย ไม่เกิดการรั่วไหล หรือถูกโจรกรรมข้อมูล (data security)

ทั้งนี้ บริษัทการ์ทเนอร์ ได้มีการคาดการณ์จำนวนอุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ราว 25 พันล้านตัวภายในปี 2020 และแม้จะไม่มีตัวเลขคาดการณ์ในไทยแน่นอนว่า การเติบโตและจำนวน IoT จะแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตซึ่งรวมถึงในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของไทย เช่น ภาคการผลิต และรถยนต์​ที่จะใช้ IoT เซ็นเซอร์ตรวจจับการทำงานของเครื่องจักรการผลิต เป็น Preventive or Predictive Maintenance ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลเครื่องจักรที่อยู่ในกระบวนการผลิต รวมถึงระยะเวลาที่ใช้งาน โดยให้มีการแจ้งเตือนว่าถึงเวลาบำรุงรักษาแล้ว มิเช่นนั้นเครื่องจักรจะเสียหายหยุดชะงักงัน และกระทบต่อการผลิตอย่างแน่นอน

อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ใช้ติดตามยานพาหนะและทรัพย์สินต่างๆ ช่วยตรวจจับการบุกรุก ลดการสูญหายและสูญเสีย รวมถึงช่วยบ่งบอกตำแหน่งที่อยู่ และช่วยบริหารเส้นทางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังใช้แวดวงสาธารณูปโภคอย่าง การใช้สมาร์ทมิเตอร์ และโรงไฟฟ้าเป็นสมาร์ทกริด ในธุรกิจพลังงาน โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการใช้ไฟฟ้า และนำมาบริหารการคาดการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าในโรงงาน

ส่วนในแวดวงค้าปลีก ร้านอาหารและโรงแรม สามารถนำ IoT เข้ามาสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าผ่านการติดตามเรียนรู้พฤติกรรม และนำเสนอบริการหรือรีวอร์ดที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล สร้างความแตกต่างให้ธุรกิจตนเองโดดเด่นขึ้นมา

แม้แต่ในภาคสาธารณสุขและเภสัชกรรม ก็สามารถใช้ติดตามขั้นตอนการผลิตยาจนถึงการจัดจำหน่าย และลดยาปลอม รวมถึงติดตามสุขภาพส่วนบุคคล ผ่าน wearable device ได้อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ภาคการเกษตรที่ใช้เซ็นเซอร์ ตรวจจับดิน น้ำ อากาศ เพื่อให้เป็นการเกษตรแบบอัตโนมัติที่คาดการณ์ผลิตผลล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ปัจจุบันมีบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรธุรกิจ และผู้ให้บริการคลาวด์ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ให้การรองรับการใช้งานร่วมกับ IoT ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้นเช่น Oracle Internet of Things Cloud Service โดยช่วยให้องค์กรธุรกิจออกแบบและสร้างแอพลิเคชั่น IoT ได้ง่าย ติดตั้งได้รวดเร็ว และมีประสิทธิผล

ปัจจุบันเทคโนโลยี IoT มีระดับความ mature มากขึ้น ดังนั้นรัฐและเอกชน ควรมองหาแนวทางการปรับใขัที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง เพื่อสร้างโอกาสและความอยู่รอดเพื่อไม่ให้ธุรกิจถูก disrupt จากเทคโนโลยี