เดินบ้าง วิ่งบ้าง เดี๋ยวก็ถึงดวงจันทร์

เดินบ้าง วิ่งบ้าง เดี๋ยวก็ถึงดวงจันทร์

เมื่อได้สอบถามสตาร์ทอัพที่ร่วมในงาน “Startup Thailand 2017- Scale up Asia”

ก็ได้ความว่าพึงพอใจกับถ้อยแถลง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “อรรชกา สีบุญเรือง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินหน้าแก้ไขกฎระเบียบกฎหมายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ และการสเกลอัพของสตาร์ทอัพไทย

“แสดงให้เห็นว่าภาครัฐสนใจฟังเสียงของเรา” วัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (ไทยเทคสตาร์ทอัพ) มองอย่างนั้น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาล ช่วยกระตุ้นวงการธุรกิจสตาร์ทอัพไทยให้เกิดความคึกคัก และก้าวรุดหน้า ผลลัพท์ที่ชัดเจนที่สุดก็ไม่พ้นจำนวนผู้ประกอบสตาร์ทอัพ ที่มีศักยภาพดำเนินธุรกิจได้จริงซึ่งในปี 2660 นี้มีถึง 1,500 รายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2559 ที่มี 700 ราย และยังมีทีมสตาร์ทอัพที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาไอเดียอีกกว่า 8,000 ราย

แต่ที่โดดเด่นและตื่นตัวเป็นพิเศษก็คือ สตาร์ทอัพด้านสุขภาพและการแพทย์ เพราะในปีนี้จะมีการรวมตัวของ 30 บริษัท เตรียมจัดตั้งเป็นสมาคม Health Startup Network (HSN) ด้วยเหตุผลหวังจะปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมาย อำนวยความสะดวกในการสร้างนวัตกรรมใหม่ และลดความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจ

ว่ากันว่า สตาร์ทอัพสายนี้ติด กับดักที่ ยากไม่ต่างกับสายฟินเทค

จากที่ได้เคยพูดคุยกับโคฟาวเดอร์ของ “ชีวี ไลฟ์” ซึ่งทั้งๆที่เป็นแพทย์แต่ก็ยอมรับว่าความท้าทายของธุรกิจที่ทำอยู่เป็นเรื่องของกฏ ข้อบังคับ เพราะในเมืองไทยการบริการเทเลเมดิซีนยังเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคลียร์ในเรื่องของขอบเขตการให้คำปรึกษาของคุณหมอทางออนไลน์ ว่าจะทำได้แค่ไหน อย่างไร

“ ทางแพทยสภาไม่ได้มีกฏหมายที่ชัดเจนว่าคุณห้ามทำอะไรไม่ได้ห้ามทำอะไร แต่เขียนคลุมๆไว้ว่าคุณได้ใช้วิจารณญานอย่างเต็มที่หรือยังในการรักษาคนไข้ ซึ่งกฏมันครอบจักรวาลมากๆ มันตีความได้ทุกอย่าง เราเลยไม่รู้ว่าการไปแตะจุดนี้แล้วจะผ่านหรือไปขัดกับกฏหมายที่มีอยู่หรือเปล่า”

ขณะที่ทางไทยเทคสตาร์ทอัพเองก็กำลังจะออก สมุดปกขาวฉบับที่สอง เพื่อเป็นภาคต่อเป็นกระบอกเสียงสะท้อนการดำเนินงานในนโยบายของภาครัฐ

ซึ่งก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่าภาครัฐมีโครงสร้างใหญ่ที่อุ้ยอ้าย การจะให้ขยับปรับตัวก็เป็นเหมือนการให้ “ช้างเต้นระบำ” แต่เวลานี้ก็ถือว่าโชว์สเต็ปแดนซ์กระจายไม่เบา อย่างไรก็ดี เป้าหมายไกลจะไปดวงจันทร์ของสตาร์ทอัพไทยคงวิ่งเร็วไม่ได้ในทันที เพราะไม่ใช่แค่เรื่องกฏระเบียบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ การสร้างความยอมรับของตลาด

ถึงแม้เทคโนโลยีที่สตาร์ทอัพคิดค้นจะช่วยให้ผู้คนสะดวก สบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่มันก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ทำให้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ เปลี่ยนแปลงไป

การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ยิ่งต้องอาศัยเวลา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องนั่งรอคอยฝนฟ้าโชคชะตา เพียงแต่การเดินทางไปดวงจันทร์ของสตาร์ทอัพไทยไม่ใช่การขึ้นจรวด โดยภาพรวมนั้นดูเหมือนว่าอาจต้องเดินบ้าง วิ่งบ้าง อาจช้าไปหน่อยแต่เดี๋ยวก็ถึงแน่ๆ

.....................................

ชนิตา ภระมรทัต

[email protected]