ปัญหากากอุตสาหกรรม ระเบิดที่ต้องถอดชนวน

ปัญหากากอุตสาหกรรม ระเบิดที่ต้องถอดชนวน

หลังจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

เข้ามาคุมงานด้านเศรษฐกิจทั้งหมด ก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว 20 ปี การผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย 10 กลุ่ม การอัดฉีดเม็ดเงิน และมาตรการต่างๆช่วยเหลือเอสเอ็มอี และการปัดฝุ่นโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ขยายไปสู่โครงการเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเป็นฐานการลงทุน และฐานการผลิตใหม่ของประเทศ ยกระดับภาคการผลิตของไทยให้แข่งขันได้ในอนาคต

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีงานหลายส่วนที่ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ อาทิ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ยกระดับผู้ประกอบการไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แต่งานในบางส่วน เช่น การกำจัดกากอุตสาหกรรม ก็ได้ลดน้ำหนักความเข้มข้นลง

ทั้งๆที่ทีมเศรษฐกิจชุดเก่าที่มีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งหลังจากที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ได้ยกนโยบายความเข้มงวดในการกำจัดกากอุตสาหกรรมขึ้นมาเป็นเรื่องเร่งด่วน และออกนโยบายตั้งนิคมกำจัดกากอุตสาหกรรม 6 แห่งทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสางปัญหาเก่าของของภาคอุตสาหกรรมให้กำจัดกากอย่างถูกต้อง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการนำกากอุตสาหกรรมมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมได้รับการยอมรับจากชุมชน และเติบโตอย่างยั่งยืน

แต่หลังจากเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ นโยบายนี้ก็ค่อยๆจางหายไป ขาดการบูรณาการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม แผนงานต่างๆยังเป็นเพียงผลการศึกษา ขาดการผลักดันในภาคปฏิบัติ ซึ่งแม้ว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รุนแรงในขณะนี้ แต่จากการมุ่งขยายฐานการผลิตใหม่ๆ ส่งเสริมให้เกิดเอสเอ็มอีภาคการผลิตให้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่หากขาดมาตรการรองรับที่ชัดเจนและเข้มแข็ง รวมทั้งยังต้องเผชิญปัญหาใหม่ๆของกากอุตสาหกรรม เช่น ขยะแผงโซลาเซลล์จากโซลาร์ฟาร์มต่างๆ ที่จะทยอยหมดอายุกลายเป็นของเสียมีพิษอีกเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งวางแผนรองรับปัญหาในอนาคต ซึ่งหากไม่เร่งแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมในขณะนี้ ก็อาจเป็นประเด็นฉุดรั้งประเทศไทยในอนาคต ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดการต่อต้าน ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตไปได้อย่างยากลำบาก

ดังนั้น แนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช้เพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ไฮเทค มีมูลค่าสูง สร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ แต่จะต้องทำควบคู่ไปกับการวางแผนรองรับปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น การวางระบบการกำจัดกากอุตสาหกรรมทั่วไป และกากอุตสาหกรรมมีพิษให้ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการกำจัดกากให้น้อยลง ดึงดูดให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ ซึ่งหากผลักดันทุกส่วนให้สมดุล ก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเติบโตอย่างเข้มแข็ง

....................................................

วัชร ปุษยะนาวิน[email protected]