มีที่ไหนกลยุทธ์ความยั่งยืน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปบรรยายให้กับองค์กรธุรกิจสองสามแห่ง ที่สนใจการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของกิจการ
มีประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะนำมาแบ่งปันในที่นี้ เพราะเป็นสิ่งที่หลายองค์กรมักเข้าใจผิดว่า การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน องค์กรต้องจัดทำกลยุทธ์ความยั่งยืน หรือ Sustainability Strategy ขึ้นมาใช้ในการขับเคลื่อน
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความยั่งยืน เป็นสถานะของกิจการ ที่ทุกองค์กรคาดหวังให้เกิดขึ้น หรือเป็นผลลัพธ์ที่อยากให้เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้เอง ทำได้แต่เพียงสร้างเหตุปัจจัย หรือเงื่อนไขที่เอื้อให้สภาพความยั่งยืนเกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัยหลักที่ส่งผลโดยตรงต่อความยั่งยืน ได้แก่ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) พูดอย่างง่าย คือ CSR เป็นเหตุ - ความยั่งยืน เป็นผล นั่นเอง
การที่องค์กรหนึ่งๆ ออกมาสื่อสารว่า ได้จัดทำกลยุทธ์ความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว แท้ที่จริงคือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (เป็นวิธีการ หรือ Mean) เพื่อให้ได้มาซึ่งความยั่งยืน (เป็นปลายทาง หรือ End) เนื่องเพราะเราไม่สามารถกำหนดหรือกำกับให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้เอง โดยปราศจากการใส่เหตุปัจจัยที่เหมาะสม
เปรียบเหมือนข้อธรรมที่แสดงเรื่องเหตุปัจจัย ที่มักยกตัวอย่างถึง การปลูกมะม่วง ต้นมะม่วงเจริญงอกงาม แตกออกเป็นลำต้น กิ่ง ใบ และให้ผลในเวลาต่อมา ถือเป็นผลที่เกิดขึ้น หากปราศจากดินที่มีปุ๋ยพอเหมาะ แสงแดดส่องถึง การได้น้ำ และมีอุณหภูมิที่พอเหมาะ เม็ดมะม่วง ก็ไม่สามารถเติบโตเป็นต้นมะม่วง และให้ผลไม่ได้
เม็ดมะม่วงเป็นเหตุหลัก ส่วนดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด เป็นตัวอุปการะสนับสนุนเหตุ คือ ทำให้เม็ดมะม่วงเจริญขึ้นจนเกิดเป็นผลมะม่วงให้ได้รับประทานกัน ผลมะม่วงเป็นสภาพธรรมที่มาจากการทำงานร่วมกันของปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ผลมะม่วงจะเกิดขึ้นเองลอย ๆ ไม่ได้ หรือเกิดขึ้นเพราะการบังคับโดยไม่ให้ปัจจัยเลยก็ไม่ได้
ในทางตรงข้าม ถ้ามีเหตุ คือ เม็ดมะม่วง และมีปัจจัยเพียงพอ ทั้งดิน น้ำ ปุ๋ย แสงแดด จะห้ามไม่ให้เม็ดมะม่วงแตกดอกออกผลก็ไม่ได้เช่นกัน
มาถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่า องค์กรควรจะมีกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Strategy) ที่ถูกฝาถูกตัวมากกว่ากลยุทธ์ความยั่งยืน ซึ่งก็ไม่ใช่อีก (อ้าว) นั่นก็เป็นเพราะว่า องค์กรธุรกิจ ไม่ได้มีหน้าที่หลักในการดำเนินงานทางสังคม แต่มีหน้าที่ในการดำเนินงานทางธุรกิจ ที่พึงเป็นไปอย่างรับผิดชอบ (กับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้น) ต่อสังคม (ต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง)
หมายความว่า แทนที่กิจการจะจัดทำกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม ขึ้นมาเพื่อดำเนินการ กิจการควรจะต้องมีการจัดทำกลยุทธ์องค์กร (Corporate Strategy) หรือกลยุทธ์ธุรกิจที่ได้ผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไว้ในกลยุทธ์อย่างรอบด้าน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวทางนี้ต่างหาก ที่จะทำให้ สถานะความยั่งยืนของกิจการเกิดขึ้นได้ อย่างไม่ผิดฝาผิดตัว
หากจะอะลุ่มอล่วย นำคำว่าความยั่งยืนมาใช้ (เพราะคำว่า CSR เฝือแล้ว นั่นแน่ะ) ก็ควรจะต้องใช้ว่า (Corporate) Sustainable Strategy มากกว่าคำว่า (Corporate) Sustainability Strategy
ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการมีกลยุทธ์องค์กรที่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว ไม่ต้องพะวักพะวนว่า อันนี้เป็นกลยุทธ์ธุรกิจ อันนี้เป็นกลยุทธ์ความยั่งยืน ทำให้มีอันเดียว คือ กลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืน พนักงานรวมถึงผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ไม่สับสนด้วย (จบ)
แถมท้ายอีกนิดว่า ถ้ากิจการใด สามารถทำได้ ปัญหาที่ถกเถียงในเรื่องที่ควร หรือไม่ควรมีฝ่ายหรือส่วนงาน CSR หรือ Sustainability ก็จะหมดไป เผลอๆ การตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานด้าน CSR หรือ Sustainability เพื่อให้เกิดการประสานงานข้ามสายงาน ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ดีมั้ยล่ะครับ