ปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจ ป้องกันย่ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง

ปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจ ป้องกันย่ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง

วันที่ 2 กรกฎาคม 2560 เป็นวันครบรอบ 20 ปี "วิกฤติต้มยำกุ้ง”

 ซึ่งถือเป็นวิกฤติที่เลวร้ายสุดของไทย เชื่อว่านักลงทุนหรือนักธุรกิจรุ่นเก่าที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะจำบทเรียนนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากบทเรียนครั้งนั้นทำให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างเกาะป้องกัน สะท้อนผ่านดุลบัญชีเกินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สถาบันการเงินแข็งแรงขึ้น ซึ่งในมุมมองของดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่าเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว เราแก้จุดอ่อนที่เป็นสาเหตุของวิกฤติคราวนั้นไปได้มาก แต่คงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่มีวิกฤติขึ้นอีกและวิกฤติจะมาหรือไม่มา ก็เป็นเรื่องที่พูดยาก หลายครั้งก็มาแบบที่ไม่รู้ตัว เนื่องจากเมื่อไหร่ที่เราคิดว่าเข้มแข็งไปถึงจุดๆหนึ่งแล้วมักชะล่าใจ และประมาท ซึ่งมักจะเป็นบ่อเกิดของปัญหา และถ้าปัญหาพวกนี้สะสมมากขึ้นก็จะนำไปสู่วิกฤติได้

ดร.ประสาร ยกตัวอย่างที่น่าสนใจและอาจเป็นเชื้อให้เกิดวิกฤติในอนาคตอันใกล้นี้ว่า ได้เริ่มเห็นโอเวอร์ซัพพลายของอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ ซึ่งประสารบอกว่า “อสังหาริมทรัพย์”ในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่บ้านหรือคอนโดมิเนียม แต่รวมไปถึงศูนย์การค้า-ชอปปิงมอลล์ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะหลังๆ จะออกมาในทาง“มิกซ์ยูส”หรืออสังหาฯผสมผสาน มีทั้งเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า รวมอยู่ด้วยกัน

พวกนี้เป็นปรากฏการณ์ที่คนมีเงินในมือแล้วไม่รู้ว่าจะไปลงทุนอะไร ก็เลยมาลงทุนในอสังหาฯ กันมากเป็นผลพวงของระบบการเงินที่เกิดจากSpillover Effectในตลาดการเงินโลก ถือเป็นอาการหนึ่งของความไม่สมดุล

ส่วนอีกเรื่องที่ ประสาร มองว่า มีความไม่สมดุลอยู่ คือ ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งระยะหลังสินทรัพย์โตเร็วมาก มีความเกี่ยวโยงในระบบการเงินมากขึ้น และระบบธรรมาภิบาลยังไม่เข้มแข็งนัก 

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากประเทศอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำยาวนาน ทำให้คนที่มีเงินพยายามมองหาช่องทางลงทุนนอกเหนือจากการฝากเงิน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้นจนอาจสูญเสียเงินลงทุน และสร้างความเสียหายในวงกว้าง นำไปสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพการเงินได้

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ และสต็อกอสังหาริมทรัพย์มีมาพักใหญ่แล้ว ซึ่งเกิดจากลงทุนที่มากเกินไปในบางพื้นที่ เห็นได้จากในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ก็มีการหยิบยก เรื่องความเสี่ยงของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ที่โตเร็วมาก ซึ่งเกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยง เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมถึงมีการกู้ยืมระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเอง และระบบการบริหารจัดการที่ไม่ดีเพียงพอ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าแต่ละสหกรณ์มีสมาชิกจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเข้าไปกำกับดูแลระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีระบบการบริหารจัดการที่รัดกุม และมีธรรมาภิบาล

เราเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะหามาตรการป้องกันปัญหาเหล่านี้ เพราะแม้ตอนนี้จะเป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นกับบางสหกรณ์หรือแม้แต่การแสวงหาตอบแทนที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยต่ำนาน ซึ่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และยกระดับการศึกษาและการให้ความรู้กับประชาชน  

ขณะเดียวกันในระดับเศรษฐกิจมหภาค เราก็จำเป็นต้องเร่งสร้างให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการยกระดับเศรษฐกิจให้ก้าวพ้นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ด้วยสร้างรายได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งออกเพื่อให้คนในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มของคนและของประเทศ

ทั้งนี้บทเรียน 20 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะก้าวข้ามวิกฤติปี 2540 มาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตไทยจะไม่เกิดวิกฤติซ้ำอีก เพียงแต่วิกฤติรอบใหม่ อาจมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น เราต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองเพื่อทำให้ตัวเองแข็งแกร่ง รับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต