ยุติทีวีอนาล็อก มุ่งแต้มต่อ'ออนไลน์'

ยุติทีวีอนาล็อก  มุ่งแต้มต่อ'ออนไลน์'

หลังจากประเทศไทยเริ่มออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) ในปี 2557

 ซึ่งมีการประมูลใบอนุญาต 24 ช่อง ปัจจุบันเหลือ 22 ช่อง

ช่วงเริ่มต้นฟรีทีวีเดิม 6 ช่อง (ทีวีอนาล็อก) ได้ดำเนินการออกอากาศคู่ขนาน 2 ระบบ ทั้งอนาล็อกและดิจิทัล ระหว่างที่โครงข่ายส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล(Mux) เพิ่งเริ่มขยายโครงข่ายส่งสัญญาณ ซึ่งตามประกาศฯ กสทช.ให้เวลา 4 ปี หรือเดือน มิ.ย.2560 ติดตั้งโครงข่ายส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 95%  

ระหว่างนั้นช่องฟรีทีวีรายเดิม 4 ช่องกลุ่มภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่ประกอบไปด้วย ช่อง 5 ,ช่อง 9, ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ประกาศแผนยุติส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบอนาล็อก รายพื้นที่ที่โครงข่ายส่งสัญญาณครอบคลุม 100% และภาครับสัญญาณได้ติดตั้งอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัลแล้วทุกครัวเรือน ไทยพีบีเอส เป็นช่องแรกที่ทยอยปิดทีวีอนาล็อก ตั้งแต่ ธ.ค.2558 โดยทั้ง 4 ช่องฟรีทีวี ประกาศแผนยุติทีวีอนาล็อกทุกพื้นที่ทั่วประเทศราว ก.ค.2561

การยุติทีวีอนาล็อก ประเด็นน่าจะอยู่ที่ 2 ช่องเอกชน คือ ช่อง 7 ที่ได้รับสัมปทานจากกองทัพบก สิ้นสุดเดือน พ.ค.2566 และช่อง 3 ซึ่งได้รับสัมปทานจาก อสมท สิ้นสุด มี.ค.2563 หากทั้ง 2 ช่องที่ได้รับสัมปทาน ยืนยันออกอากาศจนสิ้นสุดสัญญา การยุติทีวีอนาล็อกทั่วประเทศคงต้องลากยาวไปถึงปี 2566

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2560 ได้อนุมัติแผนการยุติการรับส่งสัญญาณทีวีอนาล็อกของ ช่อง7 ที่เสนอมาแบ่งเป็น 3 เฟส  เริ่มเฟสแรกวันที่ 1 ส.ค.2560 เฟสที่ 2 วันที่ 31 ธ.ค.2560 และเฟสที่3 วันที่ 16 มิ.ย.2561 เป็นการยุติพร้อมช่อง 5 ในพื้นที่ทั่วประเทศ

เมื่อช่อง 7 มีความชัดเจนเรื่องยุติทีวีอนาล็อกในปี 2561  ฟากช่อง 3 กสท.ระบุว่าอยูระหว่างการพูดคุยกับ อสมทและช่อง 3 เพื่อขยับเวลาการยุติทีวีอนาล็อกที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดือน มี.ค.2563 ให้เร็วกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้การออกอากาศระบบทีวีอนาล็อกของประเทศไทยยุติได้เร็วขึ้น  

กรณีช่อง 7 ยอมยุติทีวีอนาล็อกก่อนจบสัญญาสัมปทาน 5 ปี น่าจะมาจากโครงข่าย Mux ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่ภาครับสัญญาณ เดิมทีครัวเรือนไทยดูทีวีผ่านโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลราว 70% ซึ่งรับชมทีวีดิจิทัลได้อยู่แล้ว สัดส่วนอนาล็อก 30% ได้รับการสนับสนุนคูปอง 690 บาท ซื้ออุปกรณ์กล่องรับสัญญาณ(set top box) จาก กสทช. จึงรับชมช่องทีวีดิจิทัลได้เช่นกัน 

วันนี้กลุ่มผู้ชมทีวีอนาล็อกอีก 30% ที่เป็น แต้มต่อ” ของฟรีทีวีรายเดิมในช่วงเริ่มต้นออกอากาศจึงลดลง อีกทั้งการยุติอนาล็อกยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการส่งสัญญาณอีกทาง

ทางด้านพฤติกรรมผู้ชมปัจจุบัน ในกลุ่มคนรุ่นใหม่รับชมทีวีผ่านแพลตฟอร์ม ออนไลน์” มากขึ้น ขณะที่ด้านธุรกิจที่ส่งผลต่อฟรีทีวี คือการวัดเรทติ้งผู้ชม ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดราคาโฆษณา ทั้งนีลเส็น ประเทศไทย ผู้ให้บริการวัดเรทติ้งปัจจุบัน และ กันตาร์ มีเดีย ผู้ให้บริการรายใหม่ กำหนดช่องทางวัดเรทติ้งรูปแบบ มัลติ สกรีน ทั้งช่องทางทีวีและแพลตฟอร์มออนไลน์ชัดเจน โดยช่อง 7 เป็นฟรีทีวีกลุ่มแรกที่ทำงานร่วมกับนีลเส็น ในการวัดเรทติ้งมัลติ สกรีน 

นอกจากนี้ช่อง 7 ได้พัฒนาการรับชมออนไลน์ทั้งชมสดและย้อนหลังผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองมากว่า 10 ปี  แนวทางการยุติทีวีอนาล็อกก่อนจบสัมปทานและมุ่งหน้าพัฒนาช่องทางออนไลน์ จึงน่าจะเป็นแต้มต่อที่ดีให้กับฟรีทีวี 

ในจังหวะที่โครงข่าย Mux ครอบคลุมทั่วประเทศ แพลตฟอร์มออนไลน์พร้อม พฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยน และระบบวัดเรทติ้งมัลติ สกรีนเริ่มใช้งาน การประกาศแผนยุติทีวีอนาล็อกของฟรีทีวีรายเดิม จึงเป็นการ ยุติเพื่ออนาคต” มุ่งพัฒนาการรับชมทีวี ที่ตอบโจทย์ผู้ชมในยุคนี้