ครบรอบ 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง กับอุตสาหกรรมกองทุนรวม

ครบรอบ 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง กับอุตสาหกรรมกองทุนรวม

ครบรอบ 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง กับอุตสาหกรรมกองทุนรวม

ณ สิ้นปี 2559 อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยเติบโตจนเกือบจะถึง 5 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว จากปี 2540 หลังวิกฤตต้มยำกุ้งทีขนาดอุตสาหกรรมหดตัวไปกว่าครี่งเหลือเพียงประมาณ 1 แสนล้านบาทจากตลาดหุ้นที่ปรับลดลงถล่มทลาย จากวันนั้นถึงวันนี้อุตสาหกรรมกองทุนรวมโตถึงราว 50 เท่า เรียกได้ว่าเป็นการเติบโตที่มหัศจรรย์มากครับ

จากสิ้นปี 2540 ณ สิ้นปี 2559 ประเทศไทย มี ...

GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เติบโตจาก 4.7 เป็น 14.4 ล้านล้านบาท หรือ 3.1 เท่าตัว

เงินฝาก เติบโตจาก 4.2 เป็น 12.4 ล้านล้านบาท หรือ 3 เท่าตัว

มูลค่ากิจการในตลาดหุ้น เติบโตจาก 1.1 เป็น 15.1 ล้านล้านบาท หรือ 13.7 เท่าตัว

กองทุนรวม เติบโตจาก 1 แสนล้านเป็น 4.6 ล้านล้านบาท หรือ 46 เท่าตัว !!

เห็นได้ชัดว่ากองทุนรวมเติบโตเป็นอย่างมากจนเรียกได้ว่าเป็น Mega Trend ได้เลยครับสำหรับ 20 ปีที่ผ่านมา มองไปข้างหน้า 20 ปี ผมคิดว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมกองทุนรวมจากนี้ไปน่าจะยังโตต่อไปได้ แต่อัตราการเติบโตที่เคยเห็นปีละ 20 – 50% คงไม่มีให้เห็นบ่อย ๆ แล้วล่ะครับ ถ้าเปรียบเป็นหุ้น ก็เป็นหุ้นที่เริ่มเปลี่ยนจากการเป็นหุ้น Growth มาเป็นหุ้นแนว Value ที่มีอัตราการเติบโตต่ำกว่า โดยผมมองว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมจากนี้ไปน่าจะโตได้ประมาณ 10% ส่วนหนึ่งมาจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ตามธรรมชาติ

เมื่อเราดูสัดส่วนของอุตสาหกรรมกองทุนรวมต่อ GDP จะเห็นได้ว่าเติบโตจากเพียงประมาณ 2% เป็น 32% แล้วในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ประมาณ 20-40% เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เราอาจไม่เห็นกองทุนรวมโตกระฉูดอย่างที่ผ่านมา

แล้วอะไรคือ Mega Trend ของกองทุนรวมสำหรับ 20 ปีข้างหน้า

ผมมองว่า 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ลงทุนจะมากขึ้น กองทุนรวมจะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีบัญชีเงินฝาก 90.1 ล้านบัญชี ขณะที่จำนวนบัญชีกองทุนรวมยังคงมีเพียง 5.2 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นเพียง 5.8%

ในยุคที่ “ฟินเทค” เข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น 20 ปีข้างหน้าผมมองว่ากองทุนรวมจะเข้าถึงผู้มีรายได้น้อย - ปานกลางมากขึ้น จากความรู้ความเข้าใจด้านการเงินการลงทุน (Financial Literacy) ที่ดีขึ้นในยุคที่ข้อมูลข่าวสารกระจายเข้าถึงคนทุกหมู่เหล่าอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้การที่หน่วยงานกำกับดูแล ให้การสนับสนุน “ผู้แนะนำการลงทุนที่เป็นอิสระ” เราน่าจะได้เห็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน (บลป.) และบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยผมเชื่อว่านักลงทุนเองจะเริ่มมีการปรับพฤติกรรมการซื้อกองทุนผ่านสาขาของธนาคาร มาซื้อกองทุนผ่านผู้แนะนำการลงทุนที่เป็นอิสระมากขึ้นอย่างที่เป็นในต่างประเทศ