การสร้างแรงจูงใจ ในการปลูกและฟื้นฟูป่าเพื่อลดปัญหาโลกร้อน

การสร้างแรงจูงใจ ในการปลูกและฟื้นฟูป่าเพื่อลดปัญหาโลกร้อน

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก

 (greenhouse gases) อันเป็นสาเหตุสำคัญของ “ภาวะโลกร้อน” ในทางตรงข้ามการทำลายป่าในเขตร้อนเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่อื่นๆ เป็นสาเหตุสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย พบว่า ในปี พ.ศ. 2554 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 234.58 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่สาขาการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้มีทั้งการปล่อยและดูดกลับ และสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิได้ถึง 70.94 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เนื่องจากการปลูกป่าและไม้ยืนต้น รวมทั้งการปลูกไม้ยางพารา

ในการนี้จึงมีโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ อาทิ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program, T-VER) เพื่อเป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน กิจกรรมทางด้านป่าไม้ที่เข้าข่าย ได้แก่ การปลูกป่าอย่างยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า (Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries, REDD+) โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme) หรือเรียกว่า “โครงการ LESS” มีแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกย่องผู้ทำความดีโดยการมอบใบประกาศเกียรติคุณ (Letter of Recognition: LOR) เหมาะสำหรับสนับสนุน การปลูกและฟื้นฟูป่าในรูปแบบ CSR ของภาคเอกชน โครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามประเภทป่าและลักษณะของพืชพรรณมีผลต่อการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งได้มีงานวิจัยมาสนับสนุนอาทิ “โครงการวิจัยการขยายสเกลจากระดับสถานีสู่ระดับภูมิภาคของข้อมูลการแลกเปลี่ยนคาร์บอน น้ำ และพลังงานในระบบนิเวศ: การประเมินความสมดุลและความไม่แน่นอน” สนับสนุนการวิจัยโดย สกว. และมีการศึกษาพรรณไม้ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกเพื่อการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าไม้หลายชนิด เช่น สัก โกงกาง กระถินเทพา กระถินเทพา และยูคาลิปตัส ตลอดจนการปลูกพรรณไม้พื้นเมือง พรรณไม้อเนกประสงค์ และพรรณไม้ปลูกในเมืองที่เน้นเพื่อการอนุรักษ์ โดยวิเคราะห์อัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากรูปแบบการปลูกและการจัดการที่นิยมใช้ทั่วไปสำหรับพรรณไม้แต่ละชนิด ศึกษาโดย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายละเอียดดังแสดงในตาราง

รายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “คู่มือศักยภาพของพรรณไม้สำหรับส่งเสริมภายใต้โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดภาคป่าไม้” สามารถดาวโหลดจากเวบไซต์ http://www.conference.tgo.or.th/download/tgo_main/publication/ARFR_Guideline/ARFR.pdf

จากรายละเอียดความแตกต่างการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของพืชพรรณแต่ละชนิด ประกอบกับการสนับสนุนผ่านกลไก/โครงการของภาครัฐต่างๆ กล่าวได้ว่าประเทศไทยมีบทบาทพอสมควรต่อการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนผ่านภาคป่าไม้ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ต้องการให้นานาประเทศร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหาดังกล่าว

...........................................................

ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์

คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หัวหน้าโครงการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)