คนชอบอยู่กับตัวเอง

คนชอบอยู่กับตัวเอง

ทฤษฎีและความเชื่อเกี่ยวกับบุคลิกภาพของคนนั้นเปลี่ยนไปมาก ผู้รู้ที่ทำการศึกษาทางด้านนี้เชื่อว่าคนเราไม่ว่าจะเป็นชาติใดมีบุคลิกภาพแตกต่างกัน

ผมให้ความสนใจกับทฤษฎีและคำแนะนำด้านการพัฒนาทักษะสำหรับการสร้างสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ มาก เพราะผมเชื่อว่าทักษะในด้านนี้จะช่วยให้ผมทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ทั้งในการเป็นผู้นำที่ดีให้แก่เพื่อนร่วมงาน และในการทำหน้าที่ให้แก่ลูกความโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำในการเจรจาต่อรอง ซึ่งถือเป็นงานหลักตลอดชีวิตการเป็นที่ปรึกษากฎหมายของผมที่ผ่านมาเลยทีเดียว

แต่ผมเชื่อว่าเราจะต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนประเภทไหน เพราะการศึกษาและนำทฤษฎีหรือคำแนะนำที่ไม่เหมาะกับตัวเรามาใช้ย่อมจะทำให้ไม่เกิดการพัฒนาตามที่ควรจะเป็น หรือถึงขั้นทำให้เราเกิดความกดดันจนไม่มีความสุขได้

เมื่อปี ค.ศ. 1936 Dale Carnegie ได้เขียนหนังสือชื่อ How to Win Friends and Influence People เพื่อแนะนำเทคนิคในการพัฒนาตนเองให้สามารถชนะใจคนได้ทั่วไป โดยไม่คำนึงว่าเราจะเกิดมาเป็นคนที่มีบุคลิกภาพ (Personality) เช่นใด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงต่อเนื่องมายาวนาน แต่ในปัจจุบันทฤษฎีและความเชื่อเกี่ยวกับบุคลิกภาพของคนนั้นเปลี่ยนไปมาก โดยผู้รู้ที่ทำการศึกษาทางด้านนี้เชื่อว่าคนเราไม่ว่าจะเป็นชาติใดมีบุคลิกภาพแตกต่างกันมาตั้งแต่เกิด คือ เป็นคนประเภทชอบอยู่กับตัวเอง (Introverts) หรือเป็นคนประเภทชอบอยู่กับคนอื่น (Extroverts) เท่านั้น ซึ่งคนทั้งสองประเภทนี้มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันอย่างมาก

คนประเภท Introverts จะไม่ชอบความขัดแย้ง ทำตัวก้าวร้าวไม่เป็น เป็นนักฟังที่ดี คิดก่อนพูดเสมอจึงทำให้อาจพูดน้อย ชอบการพูดคุยในเชิงลึกไม่ใช่เพียงสนทนาผิวเผินเพื่อการสังสรรค์ จึงเป็นคนที่มีเพื่อนน้อย ไม่ชอบงานปาร์ตี้หรืองานสังคมที่มีคนมากๆ และจะเพิ่มพลังงานให้กับตนเองได้ด้วยการอยู่คนเดียวทำสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ฯลฯ หรืออยู่กับครอบครัวหรือเพื่อนกลุ่มเล็กๆ

คนประเภท Extroverts จะมองเรื่องความขัดแย้งหรือการโต้เถียงกับคนอื่นๆ เป็นเรื่องปกติ เพราะทนไม่ได้ที่จะไม่มีข้อสรุป บางครั้งอาจทำตัวก้าวร้าว ชอบแสดงความคิดเห็นมากกว่าฟัง เป็นนักสนทนาผิวเผิน มีเพื่อนมาก ชอบงานปาร์ตี้และชอบอยู่ในงานสังคมกับคนหมู่ใหญ่ และจะเพิ่มพลังให้กับตนเองได้ด้วยการอยู่กับคนอื่น

ที่พูดมานี้เป็นการสรุปลักษณะนิสัยของคนแต่ละประเภทแบบง่ายๆ หากต้องการทราบว่าเราเป็นคนประเภทไหนก็ต้องหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่านดู ซึ่งหนังสือบางเล่ม เช่น The Power of Personality เขียนโดย Sylvia C. Lohken ได้มีการอธิบายถึงลักษณะนิสัยหลักๆ ของคนประเภท Introverts และ Extroverts รวมทั้งจุดแข็งจุดอ่อนไว้อย่างละเอียด

ในงานด้านการเจรจาต่อรองนั้น คนส่วนใหญ่จะเชื่อว่าคนประเภท Extroverts จะได้เปรียบและทำได้ดีกว่าพวก Introverts เพราะชอบแสดงความคิดเห็น ไม่กลัวความขัดแย้ง และพร้อมที่จะแสดงอาการก้าวร้าวเพื่อกดดันให้ได้ข้อสรุป ทำให้คนประเภท Introverts ที่ต้องทำหน้าที่เจรจาต่อรองถึงขนาดต้องพยายามปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพของตนไปเป็น Extroverts ทั้งๆ ที่ขัดแย้งกับความรู้สึกนึกคิดของตนเอง และก็ทำไม่ได้ดี ไม่มีความสุข

แต่ผมกลับเชื่อว่าคนประเภท Introverts ที่กล้าแสดงความคิดเห็น แม้จะพูดน้อยกว่า จะมีข้อได้เปรียบคนประเภท Extroverts เพราะมีความสามารถในการฟังและการคิดวิเคราะห์ในเชิงลึกเป็นลักษณะนิสัยประจำ ส่วนการไม่ชอบความขัดแย้งและไม่ชอบใช้วิธีดุดันหรือก้าวร้าวก็ไม่ใช่ข้อด้อย เนื่องจากลักษณะนิสัยเช่นนี้จะทำให้การเจรจาเป็นไปโดยไม่มีการยั่วยุให้เกิดอารมณ์โกรธหรือขุ่นมัวซึ่งกันและกัน อันเป็นหัวใจของการเจรจาแบบแก้ปัญหา (Problem Solving Negotiation) ซึ่งเป็นการเจรจาที่จำเป็นที่สุดในทางธุรกิจและในวิถีชีวิตทั่วๆ ไป

ผมเองก็ต้องเจอพฤติกรรมก้าวร้าวของคู่เจรจาที่เป็นคนประเภท Extroverts เป็นครั้งคราว โดยครั้งที่ค่อนข้างรุนแรงครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วในการทำดีลซื้อกิจการค้าปลีกในประเทศเวียดนามของกลุ่มเมโทรซึ่งเป็นบริษัทเยอรมันให้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) โดยหัวหน้าทีมเจรจาชาวเยอรมันของฝ่ายเขาเข้าใจผิดไปว่าผมกำลังดำเนินการบางอย่างที่ประเทศไทยเพื่อล้มดีลทั้งๆ ที่ฝ่ายเขาฝากความหวังไว้กับดีลนี้มาก เขาใช้วาจารุนแรงกล่าวหาและต่อว่าผมอย่างยืดยาว ซึ่งผมก็ชี้แจงข้อเท็จจริงไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีอารมณ์ด้วย จนเขามีอารมณ์เย็นลงและทำการเจรจาต่อไปจนกระทั่งสามารถปิดดีลได้เป็นผลสำเร็จ

Our lives are driven by a fact that most of us can’t name and don’t understand...The fact is whether we’re an introvert or an extrovert. (จากหนังสือ Quiet เขียนโดย Susan Cain)

ครับ ... ผมเป็นคนชอบอยู่กับตัวเอง