โบรกจ่อเพิ่มกำไรบจ.ไตรมาสแรก

โบรกจ่อเพิ่มกำไรบจ.ไตรมาสแรก

เข้าสู่ช่วงเทศกาลประกาศผลประกอบการ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย งวดไตรมาส1/2560

 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก แม้ว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะประกาศออกมามีกำไรดีขึ้น แต่กลับมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นจนทำให้นักลงทุนต่างพากันตื่นขายหุ้นในกลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีหุ้นแบงก์ปรับช่วงเดือนเม.ย.2560 ลดลง 2.66% ขณะที่หุ้นแบงก์ทหารไทย(TMB)เป็นหุ้นลดลงมากสุด 7.38% รองลงมาหุ้นซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) 5.76% หุ้นไทยพาณิชย์(SCB) ลดลง 3.68% และหุ้นกรุงไทย(KTB)ลดลง 3.43% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคา(มาร์เก็ตแคป)กลุ่มธนาคารไม่ถึงเดือนหายไปกว่า 6 หมื่นล้านบาท จากระดับ 2,260,649 เหลือ 2,200,682 ล้านบาท

แต่ล่าสุด เมื่อบจ.ขนาดใหญ่ทยอยประกาศกำไรงวดไตรมาสแรกออกมา ปรากฏว่า เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างน่าสนใจ

บล.เคจีไอระบุว่า การเริ่มต้นประกาศงบไตรมาส 1/2560 ของหุ้นตัวหลักของกลุ่มหลักๆ ล้วนสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ADVANC,บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม( PTTEP) และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย( SCC) ที่รายงานไปแล้ว จากนี้ไปคาดว่าในเดือนหน้า ฝ่ายวิจัยและโบรกเกอร์ในตลาดหุ้นไทย น่าจะปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้น( EPS) ของดัชนีหุ้นไทย( SET) ได้บ้าง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยช่วยจำกัดความเสี่ยงทางลงของดัชนีช่วงที่ปัจจัยภายนอกและกระแสฟันด์โฟลว์ยังผันผวนเช่นนี้

บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า บริษัทปตท.สผ. มีกำไรดีกว่าคาด โดยพลิกกลับเป็นกำไรสุทธิถึง 1.2 หมื่นล้านบาท จากขาดทุน 872 ล้านบาท และกำไรปกติเพิ่มขึ้นถึง 70.8% จากไตรมาส 4/2559 ทั้งนี้แม้ปริมาณขายโดยรวม ลดลง 3.8% ตามแผนหยุดซ่อมบำรุงโครงการยาดานา และเยดากุน แต่ยังได้ปัจจัยหนุนจากราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเฉลี่ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6% (ตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่เพิ่มขึ้น 9.7%) และต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงถึง 13.6% รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ภาระภาษีจ่ายลดลง เพราะบริษัทมีการจัดทำบัญชีเป็นสกุลดอลลาร์ เมื่อจ่ายภาษีจริงในรูปเงินบาทจึงมีกำไรจากค่าเงินบาท และไตรมาสนี้ไม่มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์เช่นที่เกิดขึ้นในงวดก่อนหน้า

กำไรปกติงวดนี้คิดเป็น 35% ของประมาณการทั้งปี ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงสุดของปีนี้ หลังจากนี้คาดว่ากำไรน่าจะชะลอตัวลง เพราะคาดว่าต้นทุนต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้นจาก การผลิตและสำรวจที่จะเพิ่มมากขึ้น และ ปริมาณขายจะลดลง จากการ shut down เพื่อบำรุงรักษาบางแหล่ง แต่โดยรวมทั้งปี 2560 กำไรสุทธิจะเติบโตมากถึง 56%จากปีก่อน ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2560 เท่ากับ 55ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเพิ่มขึ้นเป็น 60 ดอลลาร์ในปี 2561 และหลังจากปี 2562 กำหนดให้เท่ากับ 65 ดอลลาร์

ขณะที่หุ้นแอดวานซ์ กำไรสุทธิอยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.9% ไตรมาส 4/2559 แต่ลดลง 4.7%ปีก่อน ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากงวดก่อนหน้า เกิดจากต้นทุนค่าตัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายโครงข่ายที่ลดลง ส่วนผลการดำเนินงานลดลงจากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว เกิดจากรายได้ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น และ คาดว่าไตรมาส2ปีนี้ ยังคงปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรก ทั้งผลกระทบการเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาล ต้นทุนจากการลงทุนรวมถึงค่าอุดหนุนเครื่องที่จะเข้ามามากขึ้น ภาพรวมจึงยังคงประมาณการกำไรปีนี้ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.5% และ คาดว่าจะทรงตัวในปีถัดไป