บริษัทน้ำมันต้องทำอะไรบ้าง

บริษัทน้ำมันต้องทำอะไรบ้าง

ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมต้นน้ำ (upstream petroleum industry) นั้น จะมีบริษัทน้ำมัน

หรือบางคนเรียกบริษัทปิโตรเลียม (หมายถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยบริษัทน้ำมันเหล่านี้ อาจเป็นบริษัทน้ำมันข้ามชาติ (international oil companies) หรือบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (national oil companies) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทน้ำมันขนาดเล็กหรือขนาดกลางอีกมากมายที่อาจดำเนินการในแต่ละประเทศหรือในระดับระหว่างประเทศ

ก่อนจะพูดถึงว่าบริษัทน้ำมันต้องทำอะไรและอย่างไร ผู้เขียนจะขอพูดถึงการเอ่ยถึงบริษัทน้ำมันโดยบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะสื่อต่างๆ ว่ามีหลากหลาย และคงเรียกตามความรู้สึกหรือความเข้าใจว่าบริษัทน้ำมันมีหน้าที่อย่างนั้น หรือเรียกเพราะคนอื่นเขาเรียกกัน เช่น เรียกบริษัทน้ำมันว่า บริษัทสำรวจปิโตรเลียม หรือ บริษัทผลิตปิโตรเลียม ซึ่งไม่ครอบคลุมเพราะบริษัทน้ำมันจะทำทั้งการสำรวจ พัฒนา และผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ไม่ใช่สำรวจหรือผลิตอย่างเดียว อาจมีบริษัทน้ำมันบางบริษัทที่เน้นการสำรวจอย่างเดียวหรือเน้นการผลิตอย่างเดียว 

ส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทขนาดเล็ก (เทียบในกลุ่มบริษัทน้ำมันด้วยกัน) โดยบริษัทที่เน้นการสำรวจก็จะเน้นเรื่องสำรวจ และเมื่อสำรวจพบแหล่งที่อาจจะผลิตได้ ก็มักจะขายแหล่งเหล่านั้นให้บริษัทน้ำมันอื่นที่สามารถผลิตได้ แต่ถ้าไม่มีผู้สนใจซื้อก็คงต้องผลิตเอง ส่วนบริษัทที่เน้นการผลิตนั้น มักเป็นบริษัทขนาดเล็กเช่นกัน และมักจะเข้าไปซื้อแหล่งปิโตรเลียมเล็กๆ หรือแหล่งที่อายุมากแล้วแต่ยังพอทำกำไรได้ โดยมักซื้อจากบริษัทใหญ่ซึ่งค่าใช้จ่ายทั่วไปหรือค่าโสหุ้ย (overhead cost) มักจะสูงกว่าบริษัทเล็กๆ ทำให้การผลิตจากแหล่งเล็กหรือแหล่งที่มีอายุมากแล้ว มีกำไรน้อยหรือไม่มีกำไร จึงขายให้บริษัทเล็กซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั่วไปต่ำกว่าและยังสามารถทำกำไรได้ จึงสรุปได้ว่าบริษัทน้ำมันส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ทำทั้งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ในแง่การลงทุนและประโยชน์ของประเทศเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมนั้น ประเทศเจ้าของทรัพยากรมักจะกำหนดให้บริษัทน้ำมันที่มาลงทุนในประเทศเป็นบริษัทที่มีเงินทุนและเทคโนโลยีทั้งในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียม ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทเหล่านี้จะสามารถทำการผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ในที่สุด ดังนั้น บริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีเงินทุนและเทศโนโลยีเพียงพอมักจะไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าประมูลแข่งขัน เหตุที่จำเป็นต้องกำหนดเช่นนี้ เพราะหากบริษัทน้ำมันที่มาขอสิทธิสามารถสำรวจหรือผลิตได้อย่างเดียว อาจเกิดปัญหาว่าสำรวจพบแล้วจะผลิตอย่างไร (หากบริษัทน้ำมันเหล่านั้นไม่สามารถทำการผลิตได้) ซึ่งทางเลือกก็คือ ขายสิทธิให้บริษัทอื่นๆ หรือชักชวนบริษัทอื่นๆ มาร่วมลงทุนพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมด้วย ซึ่งหากไม่มีบริษัทไหนสนใจที่จะซื้อหรือเข้าร่วมทุนด้วย ก็จะทำให้รัฐเสียประโยชน์เพราะไม่สามารถผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้

ส่วนบริษัทน้ำมันที่ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไม่ว่าจะภายใต้ระบบสัมปทาน (concession) ระบบสัญญาแบ่งผลผลิต (production sharing contract) หรือระบบสัญญาบริการ (service contract) นั้น ต้องดำเนินการอะไรบ้าง นั้น ผู้เขียนขอสรุปดังนี้ 1. ทำการสำรวจหาว่าปิโตรเลียมอยู่ที่ใด 2, เมื่อพบแล้วก็ประเมินว่ามีปิโตรเลียมมากพอจะพัฒนาและผลิตได้ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ 3. เมื่อมีข้อมูลยืนยันว่าสามารถจะพัฒนาและผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ก็ทำการพัฒนา 4. เมื่อพัฒนาเสร็จก็ทำการผลิตปิโตรเลียม และ 5. ทำการรื้อถอนหลังจากสิ้นสุดการผลิต โดย 4 ขั้นตอนแรกที่กล่าวถึงมีความเสี่ยงประกอบอยู่ทุกชั้นตอน แม้ส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าความเสี่ยงจะสูงสุดอยู่ในขั้นตอนการสำรวจ ส่วนขั้นตอนอื่นๆ มีความเสี่ยงน้อยถึงไม่มีเลย ความเชื่อที่ว่านี้จะถูกต้องก็ต่อเมื่อแหล่งปิโตรเลียมเป็นแหล่งที่ไม่ซับซ้อน เมื่อพบแล้วก็สามารถประเมิน พัฒนา และผลิตได้ง่าย แต่ถ้าเป็นแหล่งที่มีความซับซ้อน ถึงแม้จะเจาะสำรวจหลุมแรกพบปิโตรเลียมแล้ว ก็ยังมีความไม่แน่นอนในช่วงประเมิน พัฒนา และผลิตสูงอยู่ และเนื่องจาก เงินลงทุนในช่วงพัฒนาจะสูงกว่าช่วงสำรวจมาก ดังนั้นเมื่อมีความไม่แน่นอนในช่วงการพัฒนาสูงอยู่ (แม้จะน้อยกว่าในช่วงสำรวจ) ก็อาจจะทำให้ความเสี่ยงในช่วงพัฒนาสูงกว่าช่วงสำรวจได้ (หากให้คำจำกัดความของความเสี่ยงว่าเป็นผลคูณของความเป็นไปได้ที่จะไม่สำเร็จและเงินลงทุน) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการพัฒนาแหล่งบางแหล่งในอ่าวไทย ซึ่งแม้จะมีการเจาะหลุมประเมินผลจำนวนมาก เมื่อมีการเจาะหลุมพัฒนาเพื่อใช้ในการผลิต ก็พบว่าลักษณะและคุณสมบัติของแหล่งกักเก็บไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดไว้ ทำให้ต้องลงทุนเจาะหลุมพัฒนาเพิ่มเติมจากที่ออกแบบไว้เดิมเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้เงินลงทุนในการพัฒนาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บริษัทน้ำมันต้องมีความรู้ความสามารถและเงินทุนเพียงพอจึงจะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างได้ผล นั่นคือ บริษัทน้ำมันต้องมีผู้ชำนาญการด้านการสำรวจ การประเมิน การพัฒนา และการผลิตปิโตรเลียม ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลยแล้วจะจ้างบริษัทรับจ้างทำทุกอย่างให้หมด เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น รัฐก็ไม่ควรให้สิทธิการสำรวจและผลิตแก่บริษัทประเภทนี้ เพราะทำตัวเป็นแค่คนมากินหัวคิว ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ ควรให้สิทธิแก่บริษัทน้ำมันที่มีความสามารถสำรวจ ประเมิน พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมได้ด้วยตนเองเท่านั้น

คราวนี้มาดูกันว่า การสำรวจ ประเมิน พัฒนา และผลิต นั้น มีงานอะไรต้องทำบ้าง ซึ่งก็บอกได้ว่ามีมากมายทีเดียว ซึ่งผู้เขียนจะขอไม่กล่าวในที่นี้ แต่จะขอชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมบ้างอย่างทำไมบริษัทน้ำมันไม่ทำเอง แต่จ้างคนอื่นทำ จนมีคนเข้าใจผิดว่าบริษัทน้ำมันที่มารับสัมปทานไม่ได้ทำอะไรเองเลย จ้างคนอื่นเขาทำทั้งนั้น รวมไปถึงเข้าใจผิดว่าการตั้งบริษัทน้ำมันไม่ไช่เรื่องยุ่งยากอะไร ทำกันได้ง่ายๆ สิ่งที่ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นคือ บริษัทน้ำมันนั้นจำเป็นต้องทำการสำรวจ ประเมิน พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมด้วยตนเอง แต่ที่ไม่ทำกิจกรรมบางอย่างเองนั้น เพราะการจ้างบริษัทที่เชี่ยวชาญอื่นมาทำแทนทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การเจาะหลุม บริษัทน้ำมันมักจ้างบริษัทเจาะเข้ามาเจาะหลุมให้ แต่บริษัทน้ำมันก็ยังควบคุมการเจาะอย่างใกล้ชิด โดยเป็นผู้ออกแบบหลุมเจาะเองและให้บริษัทเจาะเจาะตามที่ออกแบบ และในระหว่างเจาะก็จะมีการติดตามควบคุมอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การเปิดประมูลให้บริษัทเจาะเข้าแข่งขันเพื่อทำการเจาะนี้ บริษัทน้ำมันจะได้ประโยชน์ในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและค่าใช้จ่ายที่ลดลง คือบริษัทเจาะจะมีความชำนาญในการเจาะเพราะเป็นงานโดยตรงของบริษัทของเขา จึงทำให้เจาะได้เร็ว และด้วยเหตุที่บริษัทเจาะต้องการจะมีโอกาสได้งานในการประมูลครั้งต่อๆ ไป จึงต้องทำงานให้ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด

อาจมีคำถามว่าบริษัทน้ำมันสร้างหน่วยเจาะในบริษัทน้ำมันเองได้ไหม จะได้ไม่ต้องเสียเงินจ้างบริษัทเจาะ ก็ต้องตอบว่าทำได้ และเคยมีการทำมาแล้ว แต่มักจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าจ้างบริษัทเจาะ และทำให้ค่าเจาะรวมของหลุมสูงกว่า ทั้งนี้เพราะหน่วยเจาะของบริษัทมักจะทำงานไปตามหน้าที่ไม่จำเป็นต้องแข่งกับใคร นอกจากนี้หากบริษัทน้ำมันไม่ใหญ่พอ ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องเจาะหลุมในบางช่วงเวลา หน่วยเจาะก็จะไม่มีงานทำ กลายเป็นภาระของบริษัทไปในที่สุด ทั้งนี้การจ้างบริษัทเจาะอาจเปรียบเทียบได้กับการที่บริษัทสร้างบ้านขาย จ้างผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าน โดยบริษัทที่สร้างบ้านขายต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด และเหตุผลส่วนใหญ่ที่ต้องทำเช่นนี้ก็คล้ายกับเหตุผลที่บริษัทน้ำมันจ้างบริษัทเจาะนั่นเอง

นอกจากการเจาะแล้วยังมีกิจกรรมอื่นอีกมากมายที่บริษัทน้ำมันจ้างให้บริษัท (ผู้เชี่ยวชาญ) อื่นมาทำ แต่ก็มีการควบคุมอย่างใกล้ชิด และที่จ้างให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญในกิจกรรมนั้นๆ ทำก็ด้วยเหตุผลที่คล้ายกับการจ้างบริษัทเจาะ

ดังนั้น สรุปได้ว่า บริษัทน้ำมันจำเป็นต้องดำเนินการสำรวจ ประเมิน พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมได้ด้วยตนเอง และการจ้างให้บริษัทอื่นทำกิจกรรมบางอย่างแทนก็เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเห็นได้ว่าการตั้งบริษัทน้ำมันที่มีความสามารถและดำเนินการได้เหมือนบริษัทน้ำมันใหญ่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องมีการวางแผนอย่างดี และหากจะให้บริษัทน้ำมันที่ตั้งขึ้นใหม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำเป็นต้องมีความสามารถทำการต่างๆ ได้อย่างที่กล่าวข้างต้น หากขาดซึ่งความสามารถเหล่านี้ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต

.........................

ดร. โยธิน ทองเป็นใหญ่

นักวิชาการอิสระ