ความเข้าใจผิด และ ข้อสังเกต เกี่ยวกับค่าขยะใหม่ 150 บาท (2)

ความเข้าใจผิด และ ข้อสังเกต เกี่ยวกับค่าขยะใหม่ 150 บาท (2)

ในบทความตอนแรกเราได้พูดถึงหลักคิด และความคุ้มของการจ่ายค่าขยะแพงขึ้น

 ในครั้งนี้เราจะได้วิเคราะห์เพิ่มเติมในเรื่องต้นทุนที่แท้จริง การจำ การปรับ และค่าขยะที่เป็นธรรมดังนี้

ข้อหก ต้นทุนจริง ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีอยู่หลายตอนที่ใช้ตัวเลขสมมติ ซึ่งก่อให้เกิดความคลางแคลงสงสัยได้ว่าอาจไม่จริง ถ้าเช่นนั้นลองมาดูตัวเลขจริงกัน จากการเก็บข้อมูลมาเป็นเวลาหลายปี ของหลายหน่วยงานพบว่า ค่าใช้จ่ายที่ควรต้องจ่ายจริง (real cost) ในการเก็บและขนขยะออกไปยังสถานที่กำจัดขยะ ไม่ว่าจะเป็นหลุมฝังกลบ หรือเตาเผา หรือเอาไปทำเป็นแท่งเชื้อเพลิง RDF หรือแม้กระทั่งเพียงเอาไปเทกองทิ้งไว้เฉยๆก็ตาม ขึ้นอยู่กับระยะทางที่ต้องขนไป หากเป็นอปท.เล็กค่าขนก็ไม่แพงนักเพราะสามารถหาสถานที่กำจัดขยะได้ไม่ยากด้วยมีพื้นที่ว่างไม่ไกลชุมชนอยู่มากพอ ถ้าเป็นเมืองใหญ่เช่นเมืองอุบลราชธานีหรือเชียงใหม่ แบบนี้ค่าขนขยะก็จะแพงกว่าที่อื่น ตัวเลขที่เป็นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจริงตกอยู่ประมาณ 650 ถึง 1,300 บาทต่อตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 850 บาทต่อตัน

เมื่อไปถึงสถานที่กำจัด ก็ต้องกำจัดต่อให้ถูกต้องตามวิธีทางเทคนิคต่ออีก (หมายเหตุ: ที่อปท.ทำกันอยู่ในปัจจุบันทำกันผิดหลักแทบทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ทำเพียงขนไปให้พ้นหูพ้นตาชาวบ้าน และนำไปเททิ้งที่กองขยะหรือหลุมขยะในลักษณะที่ทางการเขาเรียกว่า “เทกอง” ซึ่งหลุมขยะแบบเทกองนี้ก่อให้เกิดปัญหาได้มากมาย เมื่อเร็วๆนี้ก็เห็นผลกระทบได้ชัดเจนเมื่อมีน้ำท่วมไปท่วมบ่อขยะของเทศบาลนครศรีธรรมราชที่ตกเป็นข่าวใหญ่โต) ซึ่งวิธีกำจัดขยะพวกนี้จะแพงมากแพงน้อยขึ้นกับวิธีการที่ใช้และระดับความระมัดระวังในการป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน แต่โดยรวมแล้วตกอยู่ประมาณ 315 ถึง 1,500 บาทต่อตัน ซึ่งเมื่อรวมงานทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันต้นทุนของเทศบาลจะตกอยู่ประมาณ (850+315) = 1,165 ถึง (850+1,500) = 2,350 บาทต่อตัน (ที่มา: ร่างคู่มือแนวทางปฏิบัติในการจัดการขยะในเขตพื้นที่อปท. 2559)

แต่ราคาสูงสุดที่จะจัดเก็บค่าขยะ(ใหม่)ได้ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 15 มกราคม 2560 ออกตามพรบ.รักษาความสะอาดฯ 2560 ของกระทรวงมหาดไทย กำหนดไว้เป็น 150 (ค่าเก็บ+ค่าขน) + 200 (ค่ากำจัด) หรือรวมแล้วได้เป็น 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน ราคานี้เขาเทียบกับปริมาณขยะ 120 กิโลกรัมที่ออกมาจากต่อบ้านต่อเดือน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเขาเรียกขยะ 120 กิโลกรัมนี้ว่าหนึ่งหน่วยขยะ (ส่วนบ้านเราจะทิ้งออกมาเท่านี้หรือน้อยกว่านี้ เดี๋ยวจะเอามาวิเคราะห์ต่อให้ฟัง, ดูข้อเก้า) นั่นคือเทียบเท่ากับ (1000÷120) x 350 หรือเกือบ 3,000 บาทต่อตันขยะ ซึ่งเห็นได้ว่าค่าขยะสูงสุดที่จะจัดเก็บจากประชาชนแพงกว่าต้นทุนที่อปท.ต้องจ่ายออกอยู่มากทีเดียว แต่ต้องขอย้ำอีกครั้งว่านั่นเป็นอัตราสูงสุดที่จะเก็บได้ตามกฎหมาย ส่วนจะเก็บจริงเท่าไรนั้นเป็นอีกเรื่อง ซึ่งมหาดไทยเองก็กำลังจะประกาศค่าขยะใหม่นี้ออกมาในเร็วๆนี้ว่าต่ำสุดจะเก็บเท่าไร และมากสุดเท่าไร ทั้งนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าอัตรานี้ควรแปรผันไปตามสภาพของท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไปด้วย เพราะบริบทมันต่างกันและต้นทุนก็ต่างกัน

ข้อเจ็ด คิดเผื่ออนาคต ผู้เขียนชี้ให้เห็นแล้วว่าหากเก็บค่าขยะใหม่ตามอัตราสูงสุดหรือ 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน อปท.จะมีกำไรมากทีเดียว และคงมีบางคนที่จะแย้งว่าการเก็บขยะและกำจัดขยะนี้เป็นกิจการบริการสาธารณะอันไม่ควรมุ่งสร้างกำไร ข้อนี้ผู้เขียนเห็นด้วยเต็มร้อย แต่มีข้อสังเกตต่อไปว่านอกจากอปท.จะไม่เก็บในอัตราสูงสุดในภาวะปัจจุบันหรือในช่วงแรกอย่างที่กล่าวไว้แล้วหลายครั้ง เราต้องตระหนักด้วยว่าการแก้ไขกฎหมายบ้านเรานั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก ยิ่งเป็นการแก้กฎหมายที่ไม่ใช่ประชานิยมก็จะยิ่งยากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ไปจนถึงแก้ไม่ได้เอาเลยทีเดียว ผู้เขียนจึงเห็นสมควรแล้วที่จะกำหนดอัตราสูงสุดไว้ให้มากไว้ก่อน ให้เกินกว่าค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนจริงในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้อัตราสูงสุดนี้สามารถใช้งานได้จริงในอนาคตอีกหลายสิบปี แล้วเราค่อยมาใช้ระบบบริหารเพื่อจัดการการเก็บค่าขยะให้ต่ำกว่าค่าอัตราสูงสุดนี้ รวมทั้งให้เป็นธรรมทั้งต่อประชาชน ต่อรัฐ และต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสำนึกของผู้เขียน เราเห็นว่าเรื่องสุดท้ายนี่แหละที่สำคัญที่สุด

ข้อแปด ทั้งจำทั้งปรับ สิ่งที่ประชาชนน่าจะกังวลมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องอาจถูกจับไปจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรืออาจถูกปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับหากไม่ทำตามที่กำหนดไว้ในพรบ.ฉบับนี้ เรื่องสำคัญแบบนี้จึงต้องมาดูในรายละเอียดกัน ในพรบ.เขาบอกว่า ข้อ(1)ในมาตรา 34/3 ของพรบ.ที่อ้างถึงไว้ในตอนแรกๆ “กำหนดหลักเกณฑ์การจัดให้มีที่รองรับสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย (ก็คือขยะนั่นแหละ) ในสถานที่เอกชน ที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปได้” อ่านดูรายละเอียดของข้อความแล้วเห็นได้ว่าเป็นเรื่องการทำธุรกิจของเอกชนที่จะให้บริการแก่ประชาชน ข้อนี้จึงไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน แต่ข้อที่น่ากังวลอยู่ที่ข้อ(5) ที่มีข้อความว่า “กำหนดการอื่นใดที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เพื่อให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ” อันนี้คลุมเครือและครอบจักรวาลไปนิด แต่ด้วยวลีต่อท้ายที่บ่งว่า “เพื่อให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ” ผู้เขียนจึงเห็นว่าถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เพราะถ้าไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกสุขลักษณะข้อกำหนดหรือกำหนดการอื่นใดของท้องถิ่นนี้ก็ออกไม่ได้ ส่วนถ้ามันถูกต้องและถูกสุขลักษณะเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา ต่อสังคม ต่อรัฐ ต่อประเทศ ต่อสิ่งแวดล้อม มันก็เป็นเรื่องที่สมควรต้องทำอยู่ด้วยประการทั้งปวง มิใช่หรือ

ข้อเก้า ค่าขยะที่ไม่ยุติธรรม จากข้อห้าที่บอกว่าประกาศกระทรวงฉบับนี้เขากำหนดอัตราค่าบริการด้านขยะของแต่ละบ้านเรือนไว้รวมทั้งหมดสูงสุดที่ 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน (อีกครั้งนะคะ (ครับ) ที่ต้องบอกว่านั่นเป็นอัตราสูงสุดที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย แต่เก็บจริงจะต่ำกว่าอัตราสูงสุดเป็นเท่าไรนั้นต้องรอดูกันต่อไป, ดูข้อสิบ) โดยคิดเทียบกับปริมาณขยะหนึ่งหน่วยหรือ 120 กิโลกรัมที่แต่ละบ้านทิ้งออกมาในแต่ละเดือน ปัญหาที่ต้องช่วยกันพิจารณาคือ แล้วเราทิ้งออกมามากเท่ากับ 120 กก.ต่อเดือนนี้หรือไม่ เรามาลองคำนวณตัวเลขกันดู สมมุติบ้านเรามีคนเพียง 2 คน และผลิตขยะออกมา 0.75 กก.ต่อวัน (ตัวเลขปกติประมาณนี้) นั่นคือบ้านเราจะผลิตขยะออกมาเพียง 2x0.75x30 = 45 กก.ต่อเดือนเท่านั้น แล้วใยเราจึงต้องจ่ายค่าขยะเท่ากับที่ทางการกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 120 กก.ต่อเดือน ที่หากเราจะทิ้งออกมามากเท่านี้เราต้องใช้เวลานานถึง 120÷45 = 2.7 เดือน

อันนี้สิไม่เป็นธรรมกับเรา และต้องร้องเรียนขอความเป็นธรรม โดยเก็บให้ตรงกับปริมาณขยะที่เราทิ้งออกมาในแต่ละเดือน ซึ่งราคาต้องถูกกว่านี้

(โปรดติดตามในตอนที่ 3 ต่อไป)

.................................................

ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย