ลงทะเบียนคนจน ภาระรัฐสวัสดิการ

ลงทะเบียนคนจน ภาระรัฐสวัสดิการ

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อปี 2559 หรือลงทะเบียนคนจน ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการมาหลายอย่าง

 เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการแจกเงิน 1,500-3,000 บาท ให้ผู้ที่ลงทะเบียนไว้กว่า 7 ล้านคน ทำให้คนที่พลาดการลงทะเบียนคนจนในปีแรก เรียกร้องให้เปิดลงทะเบียนคนจนอีกครั้งในปี 2560 ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จึงประกาศจะเปิดลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ ในวันที่ 2 มี..2560 

รอบนี้จะเป็นการแจกค่าน้ำ ค่าไฟ รถไฟ รถเมล์ ทำประกันให้ฟรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ บอกว่า คลังจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนคนจนรอบที่ 2 โดยไม่มีการแจกเงิน แต่ให้รับเป็นสวัสดิการส่วนลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 80% หลังจากการลงทะเบียนในครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ก.ค.จนถึงวันที่ 15 ส.ค.2559 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนมากกว่า 8.3 ล้านราย แสดงให้เห็นว่ายังมีคนไทยจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และต้องการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ด้านปลัดกระทรวงการคลัง สมชัย สัจจพงษ์ กล่าวว่า คลังจะเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อรับสวัสดิการของรัฐรอบใหม่ในเดือน มี.ค. 2560 เร็วกว่ากำหนดเดิมที่จะเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ของทุกปี การลงทะเบียนคนจน ก็เพื่อใช้เป็นฐานในการให้สวัสดิการเพิ่มเติ่ม เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ การขึ้นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี และการทำประกันภัยอุบัติเหตุ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อยเวลาเข้าโรงพยาบาลจะได้มีเงินชดเชยให้

โดยผู้มีรายได้น้อยที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ ต้องเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี และมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ว่างงานจะได้รับเงิน 3,000 บาท ขณะที่ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงิน 1,500 บาท โดยที่ผ่านมามีผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 8.32 ล้านราย

คุณสมบัติของผู้ที่จะไปลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ต้องมีสัญชาติไทย, อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ต้องเป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทในปี 2559 โดยคำว่า “รายได้” หมายถึงรายได้ของบุคคลที่ลงทะเบียนเท่านั้น ในกรณีประกอบอาชีพร่วมกันทั้งครัวเรือน (เช่น ทำการเกษตรร่วมกัน) และไม่สามารถแยกรายได้ออกมาเป็นรายบุคคลได้ ให้ถือว่า รายได้ของครัวเรือนเป็นรายได้ของหัวหน้าครอบครัวเพียงคนเดียว

การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ผู้ลงทะเบียนจะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ เช่น รายได้ (เงินเดือน/เงินฝากธนาคาร/สลากออมทรัพย์/พันธบัตร/หุ้น ฯลฯ), การถือครองทรัพย์สิน (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง/รถยนต์/จักรยานยนต์ ฯลฯ), หนี้สินคงค้างทั้งหมด (เงินกู้ในระบบ/เงินกู้นอกระบบ/หนี้บัตรเครดิต/หนี้เพื่อการศึกษา/หนี้เพื่อการเกษตร หรือประกอบธุรกิจ/หนี้เพื่อการอุปโภค-บริโภค/หนี้เพื่อซื้อบ้านและที่ดิน ฯลฯ)

มองในภาพรวมรัฐพยายามออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ แต่ในมุมกลับกันมาตรการนี้อาจเป็นดาบสองคม เพราะเป็นการเพิ่มภาระสวัสดิการ สร้างวิสัยการรอความช่วยเหลือจากสังคม แทนที่จะดิ้นรนทำงานเพื่อสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ในมุมมองส่วนต้วเห็นว่า รัฐควรเน้นที่มาตรการช่วยเหลือด้านแหล่งงานสำหรับผู้มีรายได้น้อย ให้เป็นที่มาของรายได้ มากกว่าแจกจ่ายเงิน และความช่วยเหลือปลายทาง