'ขัดแย้ง' ง่าย 'ปรองดอง' ยาก

'ขัดแย้ง' ง่าย 'ปรองดอง' ยาก

ได้ฤกษ์วาเลนไทน์ วันแห่งความรัก

คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ประเดิมให้พรรคการเมืองทยอยเข้าให้ข้อคิดเห็น ต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานโดยไล่เรียงตามตัวอักษรตั้งแต่ ก.ไก่ เป็นต้นไปที่ศาลาว่าการกลาโหม

อันดับแรก เวลา 09.00 -12.00 น.(14 ก.พ.) มีพรรคความหวังใหม่ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย และพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย เข้าให้ข้อคิดเห็นและ 13.30-16.30 น. วันที่15 ก.พ. เป็นคิวของพรรคชาติพัฒนา

สำหรับพรรคการเมือง ประเด็นที่น่าสนใจนอกจากนี้ ก็คือบทเรียนเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ที่ต้องสรุปบทเรียน และทบทวนตัวเอง

บทเรียนแรกเรื่องค่านิยมทางการเมือง ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ชัยชนะทางการเมืองเช่น การซื้อเสียงเลือกตั้ง การซื้อผู้สมัครส.ส.ที่มีฐานคะแนนมาสังกัดพรรคตัวเองและการนำเอานโยบายประชานิยมมาซื้อใจประชาชน ซึ่งก็ไม่ต่างกับสัญญาว่าจะให้ ต้องเลิกให้หมด

บทเรียนต่อมาคือ การใช้อำนาจทางการเมืองที่เกินขอบเขต เหลิงอำนาจเอื้อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง จนกลายเป็นปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน อย่างที่มีการเดินขบวนขับไล่ในที่สุด

นี่คือ สองประเด็นใหญ่ ที่ยังมีประเด็นปลีกย่อยอีกมากมาย ที่นักการเมืองต่างรู้อยู่แก่ใจกันดี และ ไม่ใช่วัฒนธรรมทางการเมือง

 ที่เห็นว่า “ขัดแย้ง” นั้นง่ายดายก็เพราะเวลาพรรคการเมืองและนักการเมือง ต้องการ “ชนะ” เลือกตั้ง สิ่งแรกที่แทบไม่ต้องคิดก็คือ การทำลายคูู่ต่อสู้ทางการเมืองด้วยข้อมูลที่พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว ปล่อยข่าวลือ เล่นเกมใต้ดิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้วาทกรรมสร้างความรักและความเกลียดในหมู่ประชาชน เรื่องแบ่งสีทางการเมืองก็เกิดจากเหตุนี้

แทนที่จะเอาผลงานความดีความชอบของตัวเองในทางสังคมมาแข่งขัน

ส่วน ปรองดอง ที่ว่ายาก ก็เห็นได้จาก เวลานี้ที่กว่าจะเริ่มต้นได้ ก็กินเวลา 3 ปีเข้าไปแล้ว และก็ยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

หวังว่าพรรคการเมืองจะมีข้อคิดที่สร้างสรรค์ในการสร้างความปรองดอง และไม่ทำอะไรให้มันยากไปกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาก็ทำให้ยากมามากพอแล้ว