ความกลัวของตลาด เมื่อหมด QE

ความกลัวของตลาด เมื่อหมด QE

ความกลัวของตลาด "เมื่อหมด QE "

ตั้งแต่ต้นปีภาพเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดและได้รับการกล่าวถึงที่ต้องติดตามมาโดยตลอด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเริ่มชัดเจนขึ้น คาดว่าอย่างน้อย 2-3 ครั้งภายในปีนี้ รวมถึงส่งสัญญาณว่าการลดขนาดเครื่องมือทางการเงิน เช่น QE ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

หากยังจำกันได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2551 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับเข้าใกล้ศูนย์ พร้อมทั้งดำเนินนโยบายการเงินแบบพิเศษ (Unconventional monetary policy) ด้วยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative easing; QE) โดยเป็นการพิมพ์เงินสำหรับเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางถึงยาว รวมถึงตราสารทางการเงินซึ่งมีผลตอบแทนอ้างอิงกับสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย (Mortgage-backed securities; MBS) จากสถาบันการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง อีกทั้งยังเป็นการผลักดันราคาสินทรัพย์อื่นๆ ให้สูงขึ้นด้วย แต่ในขณะเดียวกันการซื้อสินทรัพย์ข้างต้นส่งผลให้งบดุลของ Fed เร่งตัวขึ้นจากระดับก่อนวิกฤติที่ 8.7 แสนล้านเหรียญ สู่ระดับ 4.4 ล้านล้านเหรียญ ในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่ามาตรการ QE ได้ปิดฉากลงแล้วตั้งแต่ปลายปี 57 แต่การรักษาระดับของงบดุลที่เพิ่มสูงขึ้นของ Fed อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการดูแลเสถียรภาพด้านราคาในยามที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังกลับสู่ภาวะปกติโดยมีอัตราการว่างงานและเงินเฟ้ออยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติมากขึ้น กอปรกับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือน ธ.ค. 58 และ 59 สู่ระดับปัจจุบันที่ 0.50-0.75% เป็นการสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถลดการพึ่งพิงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้พอสมควร ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) จำนวนหนึ่งจึงเริ่มกล่าวถึงขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Fed policy normalization) อีกครั้ง คือ การลดขนาดงบดุล ซึ่งหมายความว่าสภาพคล่องส่วนเกินที่วนเวียนอยู่ในระบบจากมาตรการ QE จะลดลงหาก Fed ตัดสินใจดำเนินขั้นตอนดังกล่าว

ณ จุดนี้ หลายท่านอาจกังวลว่า Fed จะสร้างความแตกตื่นให้กับนักลงทุนทั่วโลกเหมือนช่วงกลางปี 56 ที่คุณเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธาน Fed เริ่มส่งสัญญาณชะลอมาตรการ QE เป็นครั้งแรกอีกหรือไม่ สำหรับโจทย์ข้อนี้ผมมองว่า เป็นความท้าทายที่คุณเจนเน็ต เยเลน ต้องสื่อสารกับตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ไตรมาสก่อนการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาในที่ประชุม FOMC และอาจเริ่มดำเนินการลดขนาดงบดุลในช่วงท้ายของปีนี้ ด้วยการยึดแนวปฏิบัติที่ระบุให้ Fed ถือครองพันธบัตรรัฐบาลและตราสารอื่นๆ ในบัญชีจนครบกำหนดไถ่ถอนโดยไม่นำเงินต้นไปลงทุนต่อ ดังนั้น งบดุลของ Fed จะทยอยลดขนาดลงตามลำดับอายุของตราสาร ซึ่งหากประเมินตราสารที่มีอายุครบกำหนดในช่วง 2 ปีนี้ น่าจะอยู่ที่ราว 6 แสนล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเพียง 13% ของสินทรัพย์ทั้งหมด กล่าวคือ สภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้จะค่อยๆทยอยหมดไปจากสภาพคล่องที่ลดลงจากการลดปริมาณเงินในระบบดังกล่าว โดยสัญญาณจุดเริ่มต้นของการลดสภาพคล่องในระบบอย่างชัดเจน คือ เมื่อมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดตามช่วงเวลาที่เฟดได้ประกาศเอาไว้

การลดคิวอีดังกล่าวจะทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจหายไปและทำให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่นั้น ผมมองว่า ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้พึ่งพิงแค่เพียงปริมาณเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบแต่ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น ทำให้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นในปี 56 ที่ผ่านมาค่อนข้างจำกัด แต่ความผันผวนของตลาดจะยังมีอยู่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นโยบายการคลังของแต่ละประเทศที่สนับสนุนส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศตนสามารถยืนอยู่ได้ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้โอกาสการลงทุนยังมีอยู่เสมอ และกลับมาที่ปัจจัยพื้นฐานของการลงทุนในระยะถัดไปอาจจำเป็นต้องเน้นความสามารถในการเลือกหุ้น “Selective Stock” มากขึ้น เพื่อคัดเลือกหุ้นที่เหมาะสม รวมทั้งมีแนวโน้มในการเติบโตควบคู่ไปกับเศรษฐกิจครับ

• “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน