รัฐวิสาหกิจ กับนักการเมือง

รัฐวิสาหกิจ กับนักการเมือง

เรื่องอื้อฉาวอันเกี่ยวเนื่องกับ “สินบนข้ามชาติ” ที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ จำกัด รับสารภาพ

ต่อ “สำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรง (เอสเอฟโอ)” ของอังกฤษ ว่ามีการจ่ายสินบนจำนวนมาก ให้หลายประเทศ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจไทยหลายแห่ง จนนำมาสู่การรื้อฟื้นหาขบวนการรับสินบนกันยกใหญ่ในเวลานี้ ได้ปลุกกระแสต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยขึ้นมาอีกครั้ง

และท่ามกลางการประสานงาน ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดจาก “เอสเอฟโอ” อยู่นี้

ประเด็นที่น่าสนใจ สอดรับกับความเห็นของ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่า ทั้งการบินไทย ปตท. กฟน. กฟภ. ทีโอที เกี่ยวข้องกับสินบนข้ามชาติ แสดงให้เห็นว่า รัฐวิสาหกิจมีปัญหาเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน กันอย่างแพร่หลาย

ถึงขนาดที่อดีตอนุกรรมการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ ของกระทรวงการคลังท่านหนึ่ง เคยระบุว่า การจัดซื้อจัดจ้างในรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 60-70 % มีปัญหารับเงินใต้โต๊ะ ทำกันจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติปกติ

“องอาจ” เห็นว่า ควรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสังคายนารัฐวิสาหกิจไทยทั้งระบบ 3 ส่วนสำคัญคือ 1. ให้มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ 2. ควรใช้วิธีการคัดเลือกสรรหาแต่งตั้ง ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ ด้วยระบบคุณธรรมอย่างเคร่งครัด 3. การได้มาซึ่งประธานและกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ควรมีกระบวนการให้ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ทำประโยชน์ให้องค์กรอย่างแท้จริง

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ยังมีผู้รู้บางคนชี้ให้เห็นส่วนหนึ่งของปัญหาคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจว่า เกิดจากการแทรกแซงของนักการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย

ที่เห็นได้ชัด เดิมทีการขึ้นตำแหน่งผู้บริหารของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะขึ้นตามสายงาน แต่ระยะหลังมีการใช้วิธีการสรรหา ซึ่งเหมือนจะดูดี แต่แท้จริงคือต้องการเอาคนนอก ที่เป็นนอมินีของนักการเมือง มาเสียบแทน

ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็เช่นกัน ชัดเจนว่า ทุกแห่งเป็นตัวแทนของนักการเมือง และบางหน่วยงานยังมีนักการเมืองเป็นประธานบอร์ดอยู่ด้วย

คำถามก็คือ เราปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น โดยรู้ทั้งรู้ว่า “เนื้อ” กับ “เสือ” อยู่ใกล้กันแค่ไหน ได้อย่างไร หรือว่าใครไม่รู้ว่า นักการเมืองตั้งคนของตัวเองไปคุมรัฐวิสาหกิจ? ก็คงจะมีแต่คนที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่เท่านั้น