จับตาถ้อยแถลงประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

จับตาถ้อยแถลงประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

สิ่งที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจตลอดจนตลาดเงินตลาดทุนของโลกในปีนี้ ที่แม้ว่าในภาพรวม

เห็นว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมายาวนานนับสิบปี แต่ปัจจัยที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกของปีนี้ คือการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธาณาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาของนายโดนัล ทรัมป์ ที่มีขึ้นเมื่อวันศุกร์ 20 ม.ค.

ในค่ำคืนวันนั้นประธานาธิบดีคนใหม่ ย้ายเข้าพำนักในทำเนียบขาวตามธรรมเนียมปฏิบัติและเริ่มปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการ ส่วนอดีตประธานาธิบดีที่หมดวาระไป นายบารัค โอบามา เองก็ต้องย้ายออกจากทำเนียบขาว

ตลาดให้สนใจต่อการแถลงนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่นี้มาก เพราะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี นายโดนัล ทรัมป์ ได้ชูนโยบายชาตินิยมแบบสุดโต่ง ชัดเจนที่จะปกป้องการค้ากับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศจีน ด้วยการที่จะขึ้นกำแพงภาษีการนำเข้าร้อยละ 45 และลดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ประกาศไว้กล่าวไว้ก่อนหน้านั้นว่า บริษัทที่ประกอบธุรกิจในสหรัฐอเมริกาควรจะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 20 จากระดับร้อยละ 35 ในปัจจุบัน ที่เป็นการสนับสนุนให้บริษัทสหรัฐอเมริกาลงทุนภายในประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อการจ้างงานให้ชาวอเมริกัน ซึ่งนโยบายเหล่านี้โดนใจและถูกใจชาวอเมริกันจนได้รับชัยชนะ

นโยบายสำคัญอีกประการในการที่จะทำให้ สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง คือ ประกาศการขยายการลงทุนในบริการพื้นฐานขนาดใหญ่ ในการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ ที่มีวงเงินลงทุน 550,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการเพิ่มขีดความความสามารถในการแข่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังจะเป็นการขยายการจ้างงานครั้งใหญ่ ที่กล่าวว่าจะเป็นการจ้างงานที่มีคุณภาพ 

แต่ประเด็นคือ การลงทุนนี้จะต้องใช้เงินมหาศาล แต่สหรัฐอเมริกาเองยังมีปัญหาขาดดุลการคลัง และปัญหาหนี้สาธารณะ ที่ในทางปฏิบัติแล้วสหรัฐอเมริกาสามารถพิมพ์ธนบัตรมารองรับได้ แต่รัฐสภาจะให้การรับรองการสร้างหนี้ตามจำนวนที่ประธานานาธิบดีต้องการหรือไม่ และจะสามารถผลักดันให้เกิดได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด 

เพราะแม้ว่าพรรครีพับรีกัลจะครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส แต่ก็มีคนที่ไม่นิยมชมชอบต่อตัวนายทรัมป์อยู่ด้วยเช่นกัน และจะยอมรับต่อหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะสั้นๆนี้ได้หรือไม่ จากนโยบายด้านหนึ่งลดอัตราภาษีในขณะที่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

นอกจากนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ข้างต้นที่นักลงทุนมองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโลก และทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีนโยบายด้านต่างประเทศอีกหลายประการที่ต่อต้านการค้าเสรี เช่น การจะยกเลิกข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ (ระหว่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา และ เมกซิโก) การที่จะกำจัดแรงงานต่างชาติที่เข้ามาแย่งงานชาวอเมริกัน ด้วยการจะสร้างกำแพงที่กั้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและเมกซิโก(ระยะทางประมาณ เกือบ 4,000 กิโลเมตร ในการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองของชาวเมกซิกัน 

การไม่ให้ชาวมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการส่งกลับแรงงานที่ผิดกฏหมายที่ประมาณการกันว่ามีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน และมาตรการของนายทรัมป์นี้คาดว่าจะทำให้ลดจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีการอพยพเข้ามาทำงาน (แย่งงาน) ชาวอเมริกันที่มีอยู่ประมาณ ปีละ 1 ล้านคน ซึ่งมาตรการด้านภาษีและแรงงานข้างต้นแม้ว่าจะถูกใจชนชาวอเมริกันชั้นกลาง แต่ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่ตามมา ของคนเชื้อชาติต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นทั่วโลกจึงจับตาต่อนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลทรัมป์ ว่าเขาจะจัดลำดับหรือดำเนินการตามนโยบายที่เคยให้สัญญาที่เคยหาเสียงไว้ได้มากมากน้อยเพียงไร ซึ่งก็มีข้อสังเกตุว่าภายหลังที่ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งแล้ว ท่าทีของนายโดนัล ทรัมป์ ก็ดูจะอ่อนลงและมีความระมัดระวังมากขึ้น

ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความสนใจอีกประการคือ เรื่องอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ที่การเจรจากำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรี นางเทรเซา เมย์ได้ให้แถลงข่าวเป็นครั้งแรกที่ยืนยันการถอนตัว และจะเจรจาในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศอังกฤษให้ดีที่สุดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด เพราะว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ที่จะกระทบต่อวิถีชีวิตชาวอังกฤษ และได้ขอร้องไม่ให้ฝ่ายค้านเล่นเกมส์การเมืองต่อประเด็นนี้

สิ่งที่อังกฤษจะต้องเจรจาต่อรองภายหลังการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปนี้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษค่อนข้างมาก เพราะต้องเจรจาในประเด็นเรื่องสำคัญๆ ดังนี้ คือ สิทธิพิเศษทางการค้ากับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปว่าจะคงอยู่ได้หรือไม่ อย่างไร 

รวมทั้งต้องเจรจาข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่จะใช้เวลาเช่นกัน และอีกประเด็นก็คือ ความสามารถในการควบคุมแรงงานต่างด้าว แต่ก็ต้องแลกกับเรื่องสิทธิของแรงงานของชาวอังกฤษที่ทำงานในยุโรป และชาวยุโรปที่ทำงานในประเทศอังกฤษด้วยเช่นกัน