สินบนซื้อเครื่องยนต์ กับ'ดัชนี CPI ไทย'

สินบนซื้อเครื่องยนต์ กับ'ดัชนี CPI ไทย'

ข่าวร้อนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และกลายเป็นข่าวพาดหัวหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ติดต่อกันหลายวัน

คงหนีไม่พ้นข่าว ทุจริตสินบนที่ตรวจสอบกันข้ามทวีป ในกรณีการจ่ายสินบนของ บริษัท โรลส์-รอยซ์ จำกัด (Rolls-Royce) บริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษ ต่อ “ผู้แทนของประเทศไทย และพนักงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)” เป็นเงินสูงถึง 1,253 ล้านบาท ในระหว่างปี 2534-2548 ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในการจัดซื้อเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ “Trent 800” หรือ “T800” ของโรลส์-รอยซ์ ถึง 3 ล็อตด้วยกัน

ข่าวนี้ปรากฎข่าวออกมาเมื่อ วันที่ 17 ม.ค. 2560 ทำให้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่ายต่อกรณีดังกล่าว อย่างคึกคัก 

การบินไทยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ ประกอบด้วย .....

1. คณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์และการซ่อมบำรุง โดยมี “นายพิเชษฐ์ เรียงวัฒนสุข” ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารความเสี่ยง การบินไทย เป็นประธาน คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 15 วัน 

2. คณะกรรมการตรวจสอบเรื่องทุจริต ในการจัดหาเครื่องยนต์และการซ่อมบำรุง ในระหว่างปี 2534-2548 มี “นายนิรุฒ มณีพันธ์” ที่ปรึกษาดีดีการบินไทย เป็นประธาน คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 7 วัน หลังคณะกรรมการชุดแรกทำงานแล้วเสร็จ

กระทรวงคมนาคม มีแอคชั่นต่อเรื่องนี้ทันทีเช่นกัน โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังเรียกผู้บริหารการบินไทยมาพูดคุยว่า ได้สั่งให้การบินไทยสอบสวนให้แล้วเสร็จ และส่งรายงานกลับมากระทรวงคมนาคมภายใน 30 วัน หรือรสงกลาง ก.พ. 2560

กระบวนการสอบสวนคงเดินหน้าต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่อดคิดไม่ได้ก็คือ เหตุการณ์นี้จะไปสิ้นสุด ณ จุดใด เพราะการตรวจสอบหลายครั้งผลสุดท้ายก็คว้าน้ำเหลว!..  เพราะเรื่องสินบนและคอรัปชั่น สำหรับประเทศไทยดูเหมือนเป็นเรื่องที่คุ้นเคย ใกล้ชิด เป็นเนื้อเดียวกับสังคม หลายหน่วยงานมีข่าวพัวพันทุจริต ผู้บริหารก็ยังสามารถอยู่ในตำแหน่ง และดำเนินกิจการต่างๆ ไปได้ ก็ได้แต่หวังว่า กรณีโรลส์-รอยซ์ และการบินไทย ครั้งนี้จะไม่เงียบหายไปกับสายลม หรือมีข่าวอื่นมาฝังกลับไปเสียก่อน

พูดเรื่องทุจริตก็อดไม่ได้ที่จะขอหยิบยกดัชนีเรื่องคอร์รัปชั่นมาเปรียบเทียบสำหรับ ดัชนี CPI : Corruption Perception Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีค่าคะแนนตั้งแต่ 0 (คอร์รัปชันมากที่สุด) – 100 (คอร์รัปชันน้อยที่สุด) คะแนน CPI ไทยเมื่อปี 2557 พบว่า ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ติดอันดับโลกที่ 85 จากการจัดอันดับทั้งหมด 175 ประเทศ

ก็ได้แต่หวังว่าดัชนี CPI ของไทยน่าจะขยับขึ้นมาในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อสังคมตื่นตัวต่อต้านเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น อยากเห็นหน่วยงานรัฐโปร่งใสและมีดัชนี CPI ที่ดี เรื่องนี้ทุกภาคส่วนในสังคมคงต้องร่วมด้วยช่วยกัน ทุจริตจะไม่เกิดหากไม่มีผู้ให้และผู้รับ ร่วมกันต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ร่วมสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรมไปพร้อมๆ กับการยกระดับประเทศ สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 หากทำได้ก็จะดีไม่น้อยเลยทีเดียว