โลจิสติกส์ไทย เตรียมก้าวสู่ 4.0 ได้อย่างไร

โลจิสติกส์ไทย เตรียมก้าวสู่ 4.0 ได้อย่างไร

การแข่งขันทางภาคธุรกิจได้ยกระดับจากการแข่งขันในระดับหน่วยธุรกิจหรือบริษัท ไปสู่

การแข่งขันในระดับห่วงโซ่อุปทาน หรือว่ากันทั้งระบบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้า ที่ค้าขายกันข้ามชาติ ที่ต้องการจะพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตน จะต้องไม่มองเพียงแค่กิจกรรมต่างๆ ภายในสถานประกอบการของตนเองเท่านั้น แต่จะต้องมองถึงปัจจัยและกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน อีกด้วย

ทั้งห่วงโซ่อุปทาน มีอะไรกันบ้างล่ะ มองกันง่ายๆ อาทิ ต้นทุนในการผลิต, ประสิทธิภาพในการผลิต และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาการค้าและการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีต้นทุนการผลิตและการจัดส่งสินค้าที่ต่ำลง

เป็นไปได้ไหม เป็นไปได้อย่างไรกัน ลองมาไขกุญแจสำคัญในการนำธุรกิจไปสู่ความเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ด้วยกัน ดังนั้น การบริหารงานและจัดการด้านโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในแนวทางหลักที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะมอบหมายหรือเลือกใช้บริการงานด้านโลจิสติกส์ต่างๆ ที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญน้อยกว่า หรือมีต้นทุนในการดำเนินการสูงกว่าไปให้แก่ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ภายนอก (Logistics Service Provider: LSP) ซึ่งมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า และมีประสิทธิภาพดีกว่าที่จะดำเนินการด้วยตนเอง พูดกันง่ายๆ คือ แบ่งงานที่เพื่อนถนัดและทำได้ดีกว่าเราไปให้เขาทำ

แต่ พบว่า ประเทศไทยยังไม่มีการจัดแบ่งประเภทของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (LSP) ออกมาอย่างชัดเจน และยังไม่มีการกำหนดเครื่องมือที่จะบ่งชี้ความชำนาญของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (LSP) ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักธุรกิจบริการและโลจิสติกส์การค้า ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จึงเข้าไปดำเนินงานเรื่องนี้

อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ โครงการจัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์สำหรับภาคธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อ จัดหมวดหมู่/แบ่งประเภทของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยตามประเภทของการให้บริการ และขอบเขตของการให้บริการ (ประเทศ/กลุ่มประเทศ/ภูมิภาค) และจัดทำเครื่องมือที่จะช่วยในการวัดและประเมินประสิทธิภาพด้านการให้บริการโลจิสติกส์ (ความเชี่ยวชาญและความถนัดในการให้บริการ) ให้เหมาะสมกับภาคธุรกิจการให้บริการโลจิสติกส์ของไทยตามหมวดหมู่/ประเภทของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ให้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

นอกจากนี้ กรมฯ นี้ ยังทำงานที่เกียวข้องอีก เช่น สำรวจข้อมูลสถานภาพและประสิทธิภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของไทย ตามประเภทและภูมิภาคของการให้บริการ ศึกษาปัญหาและความต้องการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการของสถานประกอบการ ลงมือไปแล้วระหว่าง พฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนมกราคม 2460 เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคบริการ 4.0 ที่สอดรับกับนโยบายในระดับประเทศต่อไปในอนาคต

การศึกษาการจัดหมวดหมู่/แบ่งประเภทของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ตามประเภทของการบริการ ซึ่งแบ่งออกตามรายละเอียดของเนื้องาน มีความหลากหลายประเภท และมีความแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

Logistics Service Provider: LSP คือ ผู้ให้บริการด้านการปฎิบัติงานโลจิสติกส์แบบดั้งเดิม เช่น การขนส่งและคลังสินค้า โดยผู้ให้บริการมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานหรือโครงสร้างพื้นฐานของตนเอง หรือผู้ให้บริการอาจไม่มียานพาหนะหรือคลังสินค้าเป็นของตนเองก็ได้ เพื่อลดต้นทุนหรือลดการลงทุนในการซื้อสินทรัพย์ ทั้งนี้ สามารถแจกแจง LSP ตามประเภทของการให้บริการ ดังนี้

ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า (Transportation Services) ครอบคลุมงานทางโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทั้งภายในและส่งออกนอกประเทศ ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

การขนส่งทางบก เป็นการขนส่งโดยใช้ถนน และระบบราง จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ การขนส่งทางรถยนต์ หรือรถบรรทุก เป็นการขนส่งทางถนนโดยการใช้รถบรรทุก 4 ล้อ 6 ล้อ 10 ล้อ หรือมากกว่า 10 ล้อ เป็นยานพาหนะในการเคลื่อนย้ายสินค้า ปัจจุบันประเทศไทยมีเส้นทางการขนส่งทางบกที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างสมบูรณ์ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม จีนตอนใต้ และมาเลเซีย

การขนส่งทางราง เป็นเส้นทางการลำเลียงที่ดำเนินงานโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ เหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าหนักๆ ปริมาณมากและในระยะ ปัจจุบันประเทศไทยมีเส้นทางการขนส่งที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว และมาเลเซีย

การขนส่งทางท่อ เป็นการขนส่งสิ่งของประเภทของเหลวและก๊าซผ่านสายท่อ เช่น น้ำประปาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบการขนส่งทางท่อสำหรับสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ

การขนส่งทางน้ำ เป็นวิธีการขนส่งโดยการใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้า รวมถึงการขนส่งทางทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

การขนส่งทางอากาศ เหมาะกับการขนส่งสินค้าประเภทที่สูญเสียง่าย เช่น ผัก ผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น หรือสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการใช้งาน ถ้ามีความล่าช้าอาจเกิดความเสียหายได้ ซึ่งการขนส่งทางอากาศไม่เหมาะกับสินค้าที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก

MTO (Multimodal Transport Operator) เป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในรูปแบบ Terminal To Terminal หรือ Door To Door โดยเป็นการผสมผสานการขนส่งที่เป็น Ship–To–Rail หรือ Air-To-Road หรือ Road To Air , ship and To Rail ภายใต้สัญญาขนส่งฉบับเดียว

ผู้ให้บริการคลังสินค้า (Warehousing Services) เป็นการให้บริการพัก เก็บรักษา ดูแลและบริหารคลังสินค้า รวมถึงการให้บริการติดสลากสินค้าหรือบริการด้านบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการกระจายสินค้า ทั้งนี้ กิจกรรมของคลังสินค้าส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือวัตถุดิบ การจัดเก็บโดยไม่ให้สินค้าเสื่อมสภาพหรือแตกหักเสียหาย สามารถแบ่งประเภทของคลังสินค้าได้ ได้แก่ คลังสินค้าผ่านแดน (In-Transit Warehouse) คลังสินค้าปลอดอากร (Free Zone Warehouse) คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) คลังสินค้ารับฝากเก็บสินค้าในประเทศ (Domestic Warehouse)

ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (International Freight Forwarder) ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นธุระแทนผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ในเรื่องตั้งแต่การจองระวางเรือ การบรรจุสินค้า การขนส่ง การดำเนินพิธีการขาเข้าและขาออก การจัดการเกี่ยวกับเอกสารส่งออก และนำเข้า เป็นต้น โดยจะจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง

ตัวแทนออกของ (Customs Brokerage Services) หมายถึง ตัวแทนของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในการดำเนินพิธีการศุลกากรแทนผู้นำเข้าและผู้ส่งออกซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า

การให้บริการพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ (Courier and Postal Services) คือ ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ เป็นการให้บริการอย่างรวดเร็ว โดยให้บริการแบบ door-to-door โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา โดยให้บริการที่ครบวงจรทั้งในเรื่องทำการขนส่งและการทำพิธีการศุลกากร

Third Party Logistics Service Provider: 3PL หมายถึง ผู้ให้บริการซึ่งกระทำกิจกรรมทั้งหมดหรือบางส่วนของกิจกรรมโลจิสติกส์ รวบรวมหลากหลายบริการ อาทิเช่น บริการด้านการขนส่ง, ด้านคลังสินค้า, การกระจายสินค้า, บริการด้านการเงิน ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงและรับช่วงต่อการขนส่งในแต่ละโหมดของการขนส่งสินค้าจากต้นทางจนถึงจุดหมายปลายทาง

Fourth Party Logistics Service Provider: 4PL หมายถึง ผู้ให้บริการที่มีการพัฒนารูปแบบจาก 3PL โดยมีการเพิ่มการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และพัฒนาเครือข่ายการจัดการภายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

ผู้ให้บริการอื่นๆ เช่น ผู้ให้บริการด้าน IT, ผู้ให้บริการปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และพัฒนาเครือข่ายการจัดการภายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

การแข่งขัน เป็นเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจในยุคนี้ ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการไทย มีความคล่องตัวอยู่แล้ว หากมีหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาช่วยสนับสนุน ย่อมเป็นกำลังสำคัญ เขาขอความร่วมมือมา ควรรีบยื่นมืออีกข้างออกมาผนึกกำลังกัน ดังนั้นขอให้รีบติดต่อไปที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จากนั้น ทางกรมฯ คาดว่าจะสามารถสรุปผลการประเมินสถานภาพและประสิทธิภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ได้ภายในเดือนมีนาคม 2560 นี้

ส่วนผู้ใช้บริการ ก็จะมีความสบายใจ มั่นใจในการเลือกใช้บริการที่มีมาตรฐาน และบริหารต้นทุนได้ เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันกับคู่ค้าของตัวเอง

นี่เป็น อีกหนึ่งใน ดัชนี ชี้วัดความเป็น ไทยแลนด์ 4.0 คุณพร้อมรึยังล่ะ