จัดพอร์ตลงทุนต้อนรับปีระกา

จัดพอร์ตลงทุนต้อนรับปีระกา

สวัสดีปีใหม่สำหรับท่านผู้อ่านทุกท่านนะคะ การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆในปี 2016ค่อนข้างผันผวน เห็นได้จากตลาดหุ้นบางภูมิภาค


 มีการปรับขึ้นลงระหว่างปีค่อนข้างมาก แต่หากดูผลตอบแทนทั้งปีกลับเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เช่น ตลาดหุ้นยุโรป ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นจีน และ ตลาดหุ้นอินเดีย ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด จากการตอบรับต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไป ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ก็ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20% ได้ปัจจัยสนับสนุนจากกระแสเงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นจีนกลับปรับลดลงจากปีก่อนเป็นอย่างมาก ตามเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการเข้มงวดด้านนโยบายภาคอสังหาริมทรัพย์ และทางการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้ ในปี 2016 สินทรัพย์ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ น้ำมัน โดยราคาน้ำมันเคลื่อนไหวผันผวนสูง แต่ราคาน้ำมัน WTI ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 45% ในปีที่ผ่านมาหลังจากที่มีการตกลงปรับลดการผลิตระหว่างกลุ่มประเทศโอเปกและนอกโอเปก นอกจากนี้ ความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และการที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ได้ส่งผลให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นถึง 8.5% ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.25% และค่าเงินดอลลาร์ สรอ.แข็งค่าขึ้นก็ตาม

สำหรับมุมมองกลยุทธ์การลงทุนในปี 2017 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 3.4% จาก 3.1% ในปี 2016 ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2016 ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามากกว่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. นอกจากนี้ การคาดการณ์การปรับลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลและการปรับลดอัตราภาษีการนำกำไรจากบริษัทจดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาในประเทศ จะเป็นอีกแรงสนับสนุนให้ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายจึงกำลังถูกแทนที่ด้วยการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป แม้ว่าปริมาณการอัดฉีดจะลดลงจากปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของธนาคารกลาง ทั้ง ECB และ BOJ จึงยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เห็นได้จากการที่ ECB ได้ขยายระยะเวลา QE จากเดิมสิ้นสุดเดือน มี.ค. เป็นเดือนธ.ค. 2017 โดยลดปริมาณที่ซื้อลงจาก 80,000 ล้านยูโรต่อเดือน เป็น 60,000 ล้านยูโรต่อเดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป และ BOJ ไม่ได้จำกัดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ 8 ล้านล้านเยนต่อปี แต่ได้มีการใช้นโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) ระยะยาวอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% แทน
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลให้การลงทุนในตราสารทุน มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้ (Outperform) แต่การลงทุนในตราสารทุนสำหรับปี 2017 จะเป็นในลักษณะ Trading จากปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ความเสี่ยงด้านการเมืองจากที่หลายประเทศในยุโรปจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายของทรัมป์ ในส่วนของตราสารหนี้มีแนวโน้ม Underperform จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จำนวน 3 ครั้งในปี 2017 ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และของไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงอายุระยะยาว เนื่องจาก ผลกระทบที่จะได้รับจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะมากกว่าตราสารหนี้ช่วงอายุระยะสั้น
ในส่วนของราคาน้ำมันนั้น มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 50-55 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดยการปรับลดปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกและนอกโอเปก น่าจะส่งผลดีต่อราคาน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตน้ำมันจากหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ อาจกดดันไม่ให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นได้มากนัก ส่วนทองคำนั้น มีโอกาสปรับเพิ่มได้ไม่มากนัก เนื่องจาก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed จะส่งผลให้ดอลลาร์ สรอ. แข็งค่ามากขึ้น ทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และเข้าลงทุนในตราสารทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า