จิตวิทยาเชิงบวก

จิตวิทยาเชิงบวก

จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) คือสาขาวิชาจิตวิทยาที่ก้าวตามหลักธรรม

ในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ กฎแห่งกรรม และ "ปฏิจจสมุปบาท

คนมีจิตวิทยาเชิงบวกถนัดมองโลกตามความเป็นจริง มักคิดด้วย หัวใจ-ความรู้สึก มากกว่า “เหตุผล-ผัสสะ-ความหวาดกลัว” จึงเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น คือ มีมุทิตาจิตกับเวทนาจิต (empathy) ต่อผู้อื่น ในฐานะที่ทุกคนอยู่ใต้ “กฎแห่งกรรม” เดียวกัน

ส่วนคนมีจิตวิทยาเชิงลบ (Negativity) ถนัดมองโลกในแง่ร้าย ไม่ยอมรับแม้ในข้อดีของตนเอง น้ำพร่องอยู่ครึ่งแก้วเสมอ เป็นโรคจิตเภทแบบหวาดระแวง ไม่เป็นมิตรต่อผู้อื่น ติดยาเสพติด โดยเฉพาะยาที่ติดทางจิต (มิใช่ทางกาย) ซึ่งเยียวยาได้ยากยิ่งที่สุด ไม่แสดงความรับผิดชอบต่อคนหรือวัตถุสิ่งของที่ตนครอบครองอยู่ แถมหยิบยื่นความทุกข์และหายนะให้กับผู้คนที่สนับสนุนตนอยู่รอบด้านอีกด้วย

นักจิตวิยาเชิงบวกมองว่า เราสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดจากคนจิตเชิงลบได้ เพียงหันมา “กระจาย” จิตเชิงบวกให้เขา/เธอได้ “รับรู้-ตื่น” จาก “โลภ-โกรธ-หลง คำว่า “ช่วยไม่ได้” คือคำต้องห้าม เพราะบ่งบอกถึงจิตเชิงลบที่ใช้ เหตุผล-ผัสสะ-ความหวาดกลัว ซึ่งมองเหตุการณ์ในแง่ร้ายไปหมด มากกว่าใช้ “หัวใจ-ความรู้สึก” ซึ่งกอปรด้วยสติปัญญากับความกล้าหาญสำหรับมองโลกตามจริง

สองนักจิตวิทยาเชิงบวกชื่อดังนามว่าชอนและมิเชลล์ที่ http://goodthinkinc.com/ มีข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจสำหรับ “กระจาย” จิตเชิงบวก เพื่อปรับเปลี่ยนคนจิตเชิงลบให้เป็นเชิงบวก จริงๆแล้ว ทุกคนก็ทำการกระจายจิตเชิงบวกหรือลบต่อผู้อื่นทุกวันอยู่แล้ว ฉะนั้น หากไม่ระวังตัว เราอาจถูกคนจิตเชิงลบกระจายเชื้อเชิงลบ จนติดเชื้อลบงอมแงมไปแล้วโดยมิรู้ตัว

สื่อมวลชน/สื่อสังคมมักกระจายข้อความออกมาเป็นเชิงลบ ส่งผลให้ผู้รับมีความรู้สึกนึกคิดเชิงลบ แล้วกระจายส่งความรู้สึกนั้นต่อไปให้กับผู้อื่น ซึ่งก็กระจายอารมณ์เชิงลบอย่างเช่นโกรธเคือง-เศร้าหมอง-เกลียดชังให้ผู้อื่นต่อๆไป ทั้งนี้ ก่อให้เกิดภาวะจิตที่ตึงเครียดกับหมดอาลัยตายอยากอยู่ทั่วไป และส่งผลกระทบเชิงลบต่อมนุษย์สัมพันธ์ ครอบครัวสัมพันธ์ การเมืองการปกครอง ตลอดจนผลิตภาพอย่างกว้างขวาง

คนจิตเชิงบวกมีวิถีชีวิตที่อยู่กับ การแบ่งปันกัน” “การให้ เพื่อ การเป็นอยู่ ตามวัฒนธรรมของจิตตภาวนานิยม โดยเป็นการให้อย่างไร้เงื่อนไขด้วย “น้ำใจ” แท้จริง แม้มีเวลาทรัพยากรอยู่น้อยนิด ก็ยังปิติยินดีเจียดให้ผู้อื่นตามอัตภาพ โดยมิหวังการตอบแทนเลย วัฒนธรรมทำบุญตักบาตรถวายพระสงฆ์แต่เช้าตรู่คือการเสริมสร้างจิตเชิงบวกทางหนึ่งตามหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

ส่วนคนจิตเชิงลบมีวิถีชีวิตที่อยู่กับ การแข่งขันกัน ตามวัฒนธรรมของวัตถุเงินทองอำนาจนิยม โดยใช้ “ความรุนแรง” เพื่อ “ครอบครอง” ปัจจัยดังกล่าวแบบ เอาแต่ได้” “ไม่โกง-ไม่รวย เพื่อว่าตนจะได้ไม่อยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอก มิน่าเล่า วัฒนธรรมรีดเลือดปู ทำนาบนหลังคน และระบอบทาสจึงยังมีอยู่แม้ทุกวันนี้

ดร. อิริค ฟรอม์ม นักจิตวิเคราะห์ผู้ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ได้สาธยายถึงภาวะจิตของ “การให้” ไว้ ดังนี้

การให้คือการแสดงออกถึงศักยะภาพของผู้ให้ในระดับเข้มข้นสูงสุด ในขณะที่ให้นั้น ผมได้ลิ้มรสถึงพละกำลัง โภคทรัพย์ และพลังอำนาจในตัวผม ประสบการณ์อันกอปรด้วยพลังชีวิตกับศักยภาพในระดับเข้มข้นเช่นนี้ เติมเต็มตัวผมด้วยความเบิกบานใจ ผมรู้สึกเปี่ยมล้น-ได้เป็นอยู่-มีชีวิตชีวา-อิ่มเอิบด้วยความเบิกบานใจ การให้ส่งผลให้เกิดความเบิกบานใจมากกว่าการรับ มิใช่เพราะได้ลิดรอนกดดันตัวเอง แต่เพราะได้อำนวยให้เกิดความรู้สึกมีชีวิตชีวาในตัวผม ....คนมั่งมีมิใช่คนร่ำรวย แต่คนรู้จักให้ต่างหากคือคนร่ำรวย”

เห็นได้ว่า จิตเชิงบวกคือจิตที่รู้จัก “การให้” เมื่อต่างคนได้ให้ต่อกันอย่างอิสระเสรี ต่างก็จะมีความเบิกบานใจกับพลังชีวิตสูง พร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาสังคมส่วนรวมต่อไป ตรงกันข้าม จิตเชิงลบรู้จักแต่ “การรับ” เมื่อต่างคนต่างแข่งขันแย่งกันรับ มองเห็นแต่แง่ร้ายของผู้อื่น ต่างก็จะรู้สึกมีความเบิกบานใจกับพลังชีวิตต่ำ ไม่พร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาสังคมส่วนรวมกับใครทั้งสิ้น

เมื่อชาติบ้านเมืองมีจิตเชิงบวกเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนย่อมสามารถใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่งผลให้การปะทะกันบนท้องถนนระหว่างจิตเชิงบวกและจิตเชิงลบได้หดหายไป และรัฐบาลก็จะมีโอกาสอันล้ำค่าในการมุ่งหน้าพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป ทุกคนมีสิทธิ์ “เลือก” ใช้จิตเชิงบวกหรือจิตเชิงลบได้ตามใจชอบ แต่ไม่มีสิทธิ์หลบหนี กฏแห่งกรรม ได้เลย