ทำให้ทีมมีใจ Engagement แบบง่าย DIY

ทำให้ทีมมีใจ Engagement แบบง่าย DIY

ช่วงใกล้ปลายปี น่าจะเป็นเวลาดีๆ ที่มืออาชีพจะนั่งตั้งสติ มองไปข้างหน้า เพื่อหาหนทางพัฒนาตนและคนรอบข้าง

ยิ่งท่านที่เป็นหัวหน้า ยิ่งต้องถือเป็นหน้าที่ ว่าอยู่นิ่งๆ เน้นกินบุญเก่าไม่ได้ เพราะพฤติกรรมของเราใดๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ล้วนส่งแรงกระเพื่อมถึงลูกน้องตาดำๆรอบตัวถ้วนทั่วทุกคน

Gallup องค์กรใหญ่ด้านการวิเคราะห์คนและองค์กร ได้วิจัยพฤติกรรมหัวหน้าในองค์กรน้อยใหญ่ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษาย้ำว่า หัวหน้างานมีอิทธิพลสูงยิ่งต่อผลงานและความสุขของลูกน้อง

ลูกน้องจะสุข จะเหงา จะเศร้า จะทุ่มเทหรือไม่ แม้ขึ้นอยู่กับหลากหลายสิ่ง 

แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ พฤติกรรมของหัวหน้าในไส้ 

เพราะหัวหน้าโดยตรง มีอิทธิพลถึง 70% ต่อพฤติกรรม ความทุ่มเท ความมีใจ หรือ Engagement ของลูกทีม

ล่าสุด บริษัทในเครือของ Microsoft ชื่อ Volomatrix ซึ่งเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยียุคใหม่วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ได้ศึกษาองค์กรชั้นนำระดับ Fortune 100 และเจาะวิเคราะห์ผลการประเมินหัวหน้าและทีมงานแบบ 360 องศา เพื่อกลั่นหาประเด็นที่น่าสนใจ ว่าคนที่ถูกประเมินเป็นหัวหน้าระดับแนวหน้า Top 10 เขามีพฤติกรรมอะไร ที่ส่งผลให้น้องมีใจ ให้ใจ ทุ่มเท

วันนี้ ขอขยายความ 3 ประเด็น จากการวิจัยข้อมูลในโครงการนี้ค่ะ

1.หัวหน้าชั้นแนวหน้าที่มีลูกน้องทุ่มเทมีใจ มีเครือข่ายในองค์กรมากกว่าหัวหน้าทั่วไป

จากผลการวิเคราะห์ หัวหน้าที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายในองค์กร ผ่านมีปฏิสัมพันธ์กับทีมอื่น ทั้งในงานที่เป็นทางการ เช่น การประชุม การทำโครงการ หรือกิจกรรมอื่นใด เช่น งานสันทนาการขององค์กร กิจกรรมชมรมกีฬา งานประจำปี ฯลฯ จะมีลูกทีมที่มีใจ พร้อมทุ่มเท หรือมีระดับ Engagement สูงกว่าหัวหน้าทีมอื่น

นอกจากนั้น ตัวลูกทีมที่หัวหน้ามีเครือข่ายมาก ก็มักมีเครือข่ายมากกว่าเพื่อนร่วมงานที่หัวหน้าไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยมีเครือข่ายมากกว่าเพื่อนในทีมอื่น ถึง 85%! 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง การมีเครือข่ายพันธมิตรกว้างขวาง ย่อมส่งผลดีทั้งต่องาน และความรู้สึกมีส่วนร่วมว่า ณ ที่นี้ ฉันมีเพื่อน มีสังคม ไม่เหงาเปล่าเปลี่ยวหัวเดียวกระเทียมลีบ

ข้อมูลนี้ ยังยืนยันว่า ลูกน้องมักซึมซับพฤติกรรมหัวหน้า

พี่เป็นอย่างไร น้องก็ตามมาไม่ห่าง..

ลูก(น้อง)ไม้ มักหล่นไม่ไกลต้น นั่นเอง

2.หัวหน้าชั้นนำ ใช้เวลาพูดคุยกับลูกทีมแบบตัวต่อตัว 1-one-1 มากกว่าหัวหน้าทั่วไป

หัวหน้าโดยรวมในองค์กรชั้นนำเหล่านี้ ใช้เวลาพูดคุยกับลูกน้องแบบ 1-on-1 เฉลี่ยประมาณ 30 นาที ต่อคน ต่อ 3 สัปดาห์

ลูกน้องที่หัวหน้าไม่ให้เวลาพูดคุย 1-on-1 มีแนวโน้มที่จะมีระดับ Engagement ตกต่ำกว่าทีมอื่นถึง 4 เท่า และจะประเมินหัวหน้าต่ำกว่าทีมอื่น 2 เท่า!

ในทางตรงกันข้าม หัวหน้าที่ใช้เวลาพูดคุย 1-on-1 กับลูกทีมมากกว่าหัวหน้าทั่วไป 2 เท่า จะมีลูกน้องถอดใจ ไม่มี Engagement น้อยกว่าทีมอื่น 67%

การให้เวลากับลูกน้อง ถือเป็นการลงทุมที่คุ้มค่า คุ้มเวลายิ่ง

3.หัวหน้าชั้นนำ มีระดับความทุ่มเทมีใจให้องค์กรสูงกว่าหัวหน้าทั่วไป

ว่าแต่เขา พี่อิเหนาห้ามเป็นเอง!

อยากให้น้องทุ่มเท มีใจรักองค์กร พี่ต้องมีอาการคล้ายกันให้เห็นก่อน

ทีมงานที่มีหัวหน้าใจฝ่อ ก็มีสิทธิ์ฝ่อตามถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับทีมอื่น

หากพี่มี “เม้าท์” อย่างเอาจริงเอาจัง ว่าหน่วยงานเรามันมั่ว มันชั่วร้าย มันไม่ทันสมัย มันตกยุค ฯลฯ หมั่นสร้างบรรยากาศที่เป็นพิษ รมให้น้องสูดดมทุกวัน น้องต้องมีอันเป็นไป ยากที่จะให้ใจองค์กร (..และพี่)

ดังนั้น หัวหน้าระดับยิ่งสูง ยิ่งต้องเร่งสร้างพฤติกรรมต้นแบบ ที่น้อมนำให้น้องทุ่มเทมีใจ

เพราะน้องในระดับถัดไป เขาจะมีพฤติกรรม ทำคล้ายเรา

และจะเอาพฤติกรรมนี้ ส่งต่อให้น้องเขา เป็นมรดกตกทอดสืบไป

สรุปว่า ท่านที่กำลังวางแผนวาดอนาคตว่า ปีหน้าฟ้าใหม่ ฉันควรพัฒนาพฤติกรรมใดบ้าง เพื่อสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง พร้อมทุ่มเท พร้อมให้ใจ เสริมแรงกันและกัน

พฤติกรรมที่ทีมวิจัยกลั่นให้เห็น น่าจะเป็นตัวจุดประกาย

DIY ทำได้ เพิ่มได้ ไม่ยาก..ถ้าอยากทำค่ะ