สับสน และคลุมเครือ

สับสน และคลุมเครือ

กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ไปเรียบร้อย ขณะที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (ไอลอว์) เครือข่ายพลเมืองเน็ต และสมาคมผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดงานคู่ขนานไปด้วย

โดยสรุปๆ ไอลอว์ ประเมินว่า มีความพยายามปรับให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ครอบคลุมถึงกฎหมายอื่นๆ รวมถึงความผิดอาญา ตามกฎหมายกล่าวได้ว่า เป็นการทำพ.ร.บ.คอมพ์ให้เป็นกฎหมายอาญาฉบับออนไลน์ ขณะที่ การวิจารณ์ตรวจสอบบนออนไลน์ทำได้ยาก เพราะจากร่างกฎหมายนี้แก้ไขใจความสำคัญในมาตรา14(1) และ (2) เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ด้วยการเพิ่มฐานความผิดให้กว้างกว่าเดิม หากมีผู้โพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายต่อ“การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศความปลอดภัยสาธารณะหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ทั้งยังเพิ่มมาตรา 16/2 กรณีที่พบข้อมูลที่เป็นความผิด ศาลอาจสั่งให้ทำลายข้อมูลได้ ดังนั้นผู้ใดที่รู้ว่ามีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในคอมพิวเตอร์จะต้องทำลาย ไม่เช่นนั้นต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของคนโพสต์

สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ให้อินเทอร์เน็ต อยู่ที่มาตรา 20 คือกำหนดให้มี “คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์” มาทำหน้าที่เกี่ยวกับการบล็อกเว็บไซต์โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการ 5 คนจากจำนวนดังกล่าว 2 คนเป็นผู้แทนภาคเอกชนทำหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อบล็อกเว็บ หมายความว่าเจ้าหน้าที่สามารถบล็อกเว็บด้วยอำนาจใหม่และใหญ่กว่าเดิม

ร่างกฎหมายยังขยายขอบเขตของการบล็อกเว็บ จากเดิมจำกัดเฉพาะความผิดพ.ร.บ.คอมพ์ ให้บล็อกเว็บที่อาจมีเนื้อหาขัดต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ รวมถึงเนื้อหาที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีแม้จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ตาม

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.คอมพ์ ที่ยังมีอีกหลายมาตราที่แก้ไขเสียจนกลายเป็นกฏหมายที่เอาผิดได้แบบครอบจักรวาล สร้างความสับสน งงงวย และคลุมเครือมาก

อันที่จริง ไม่ควรจะไปรวมหรือลากเอาความผิดที่เขามีกฏหมายเฉพาะจัดการอยู่แล้วมารวมกับ พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับนี้ อย่างกฏหมายอาญาเขามีอยู่ กฏหมายความมั่นคง กฏหมายหมิ่นประมาทก็มีอยู่ ก็ให้กฏหมายที่มีอยู่จัดการไป ควรทำกฏหมายให้ “เข้าเป้า ตรงประเด็น” 

เหนืออื่นใด ไม่ควรให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเกินกว่าเหตุ การเอาผิดก็ควรให้เป็นไปตามขั้นตอน อย่าเอากฏหมายไปใส่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง แล้วให้อำนาจไปจัดการได้ครอบจักรวาล อย่าบอกว่าหากคิดดี ทำดีแล้ว ก็ไม่มีความผิดตามกฏหมายใดๆ ..... เราไม่ควรใช้กฏหมายมาเป็นเครื่องมือข่มขู่

การมีอยู่ของกฏหมาย นอกจากจะมีความสำคัญในฐานะเป็นกฎกติกา เพื่อให้สมาชิกทุกคนถือปฏิบัติ แต่หากกฏหมายมีความยุติธรรมไม่เลือกปฏิบัติแล้ว ไม่มีความคลุมเครือ หรือเคลือบแคลง ประชาชนก็จะมีความสุขจากการมีอยู่ของกฏหมายนี้ ส่งเสริมให้คนรู้จักสิทธิหน้าที่ของตัวเองที่ควรกระทำในสังคม ...