ประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมพ์

ประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมพ์

ในที่สุด นายโดนัลด์ ทรัมพ์ สังกัดพรรครีพับลิคัน (พร.) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

สหรัฐ (ปธ.) คนที่ 45 เป็นเวลาสี่ปี แบบพลิกล็อคการคาดหมายของสำนักโพลใหญ่ๆและบัณฑิตทั้งหลายอย่างถล่มทลาย

เรื่องที่น่าสนใจยิ่งขณะนี้คือ ปธ.ทรัมพ์จะเป็นกัปตันนำนาวาสหรัฐลอยลำฝ่าคลื่นลมพายุในมหาสมุทรไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่? โดยเพาะในเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ (ฉอ.) ที่ดูเหมือนว่า ท่านมีอยู่ไม่มากนัก เท่าที่สังเกตได้ในขณะหาเสียงโต้วาทีกับคู่แข่ง

ฉอ.คือภาวะจิตที่รู้จักฟัง-ตอบสนอง-หยั่งรู้ความรู้สึก-บริหารอารมณ์ผู้อื่นและตัวเองเป็น มีวิจัยพบว่า ฉอ.มีความสำคัญยิ่งต่อการบริหาร แล้ว ปธ.ทรัมพ์มี ฉอ.แบบใด?

กิจการชื่อไฮร์วิวกับอแฟคติวา สหรัฐ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพทีวีที่แสดงสีหน้ากับการใช้ถ้อยคำของนายทรัมพ์กับนางฮิลลารี่ในขณะโต้วาทีกันสามครั้งก่อนวันเลือกตั้ง พบว่า นายทรัมพ์มักแสดงอารมณ์เหยียดหยาม โกรธเคือง หดหู่ใจ สะอิดสะเอียน ผวากลัว ซึ่งได้แก่ อารมณ์อำนาจล้วนๆ ต่อนางฮิลลารี่ ส่วนนางเองก็มักแสดงอาการ เบิกบานใจ ยิ้มแย้ม แสยะยิ้ม เหยียดหยาม ซึ่งได้แก่ อารมณ์สัมพันธ์-อำนาจ ต่อนายทรัมพ์

โดยนัยนี้ พอจะอนุมานได้ว่า ปธ.ทรัมพ์ถนัดใช้อารมณ์อำนาจมากกว่าอารมณ์สัมพันธ์ในการตัดสินใจ และมุ่งปกป้องตัวเองมากกว่าสร้างความสามัคคี ท่านจึงจำต้องพึ่งคณะที่ปรึกษาผู้มีความอดทนมหาศาลในการเสนอคำแนะนำให้ท่านพิจารณาป้องกันแก้ไขปัญหาระดับชาติและโลก ซึ่งล้วนวิกฤตรุนแรงเร่งด่วนควบคุมได้ยากยิ่งทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐอาจต้องเสี่ยงกับการตัดสินใจผิดพลาดด้วยอารมณ์ร้อนแรงของปธ.ทรัมพ์ ผู้เป็นเพียงนักธุรกิจที่ขาดประสบการณ์เรื่องการเมืองโดยสิ้นเชิง ความผิดพลาดทางธุรกิจอาจทำให้ผู้คนตกงาน แต่ทางการเมืองมีสิทธิ์ทำให้ผู้คนสูญเสียชีวิตได้

แนวอารมณ์ของปธ.ทรัมพ์จะส่งผลให้เกิดระบบบริหารแบบ ปฏิบัตินิยม (pragmatic approach) ที่ยึดมั่นใน ความอยู่รอด ด้วยการสร้าง ความยิ่งใหญ่ ให้สหรัฐเป็นสำคัญ โดยเมินประชาคมโลกและตัดขาดจากองค์การนาโต้ที่หลายประเทศได้ร่วมกันทางทหารต่อต้านการรุกรานจากค่ายลัทธิการเมืองอื่นๆ ที่น่าวิตกยิ่งคือท่านขาดความเข้าใจในประวัติศาสตร์และพลังขับเคลื่อนสู่ความเสมอภาคของประชาชนในภาคตะวันออกกลางที่กำลังคุกรุ่นด้วยกลิ่นไอสงครามโลก

แนวอารมณ์ของนางฮิลลารี่ คลินตัน พรรคเดโมแคร็ต (พด.) คู่แข่งที่พ่ายแพ้กติกาเลือกตั้ง จะส่งผลให้เกิด ปฏิบัตินิยม ผสมผสานกับ สัมพันธ์นิยม (passionate approach) ที่ยึดมั่นใน เหตุผล และ ความร่วมมือ แทนการเอาตัวรอดเป็นสำคัญ

ปธ.ในอดีตอย่างนายบิล คลิตตันและนายอารัค โอบามา พด.ต่างก็เน้นทั้ง ปฏิบัตินิยม และ สัมพันธ์นิยม ควบกัน ส่งผลให้สหรัฐมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศและความสัมพันธ์กับประชาคมโลกที่มีผลดียิ่ง

ส่วนปธ.ในอดีตอย่างนายโรนอล์ด เรแกน นายจอร์ช เอ็ชดับบลิว บุ๊ช และนายจอร์ช บุ๊ช พร. ล้วนมุ่ง ปฏิบัตินิยม อย่างเดียว ส่งผลให้เกิดมหาโศกนาฏกรรม 911 ในสมัยจอร์ช บุ๊ช เมื่อชาวอาหรับจี้เครื่องบินพาณิชย์สองลำ ขับชนอาคารแฝดเวอร์ลเทรดเซ็นเตอร์ มหานครนิวยอร์ค วันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2501 ผู้คนในอาคารตายราวสามพันราย ตามด้วยการยกทัพสหรัฐยึดครองประเทศอิรัค โดยโกหกชาวโลกว่า อิรัคกำลังสร้างระเบิดร้ายแรงอยู่ การใช้งบอภิมหาศาลในการยึดครอง ตลอดจนการเกิดของกลุ่มไอซิสที่มุ่งครองสหรัฐและโลกด้วยการกำจัดผู้ไม่นับถือศาสนาอิสลามให้สูญพันธุ์

ประวัติศาสตร์สหรัฐบ่งชี้ไว้ว่า พร.ครองตำแหน่ง ปธ.เมื่อใด อย่างเช่นในขณะนี้ สหรัฐมักมีอันต้องเข้าสู่ศึกสงครามกับต่างชาติเมื่อนั้น

ปธ.ทรัมพ์จึงพึงพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวบริหารของตนให้มีทั้ง ปฏิบัตินิยม และ สัมพันธ์นิยม และแต่งตั้งรักษาคณะที่ปรึกษาผู้มีวิญญาณจิตตามแนวทั้งสองนี้ไว้ มิฉะนั้น เหตุการณ์ร้ายแรงไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นเป็นประวัติการณ์ได้ในสี่ปีหน้านี้ โดยเฉพาะหากถูกกลุ่มไอซิสกล่าวคำสบประมาทอย่างแรงสักวัน

ปธ.ทรัมพ์คือผลผลิตของการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้เลือกตั้งแสดง อารมณ์ชอบหรือไม่ชอบ ต่อผู้รับเลือก ตามความรู้สึกที่มีอยู่ทั้งในและใต้จิตสำนึก หากชอบมากกว่าไม่ชอบผู้ใด ก็จะลงคะแนนให้ผู้นั้น ด้วยเหตุนี้ บางครั้งก็เลือกได้คนดีมีความสามารถ แต่บางครั้งก็ได้คนย่ำแย่มาบ่อยๆ

ผู้เลือกตั้งเปรียบได้กับคนตาบอดที่ เลือก คลำไปเดินไปยังตัวช้าง เมื่อลูบคลำถูกหาง ก็ร้องว่าช้างคือเชือก ถูกขาก็ว่าต้นไม้ ท้องก็กำแพง หูก็พัด งาก็หอก งวงก็งู คือ คลำถูกอะไรก็ฟันธงว่า นั่นคือประธานาธิบดีของข้าพเจ้า โดยมองไม่เห็นช้างทั้งตัวที่เป็นตัวจริงของผู้รับเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ระบบประชาธิปไตยสหรัฐยังอยู่ภายใต้การชักใยบงการของภาคธุรกิจเอกชนใหญ่ๆ 6 ประเภท คือ ธนาคาร เภสัชภัณฑ์ การกสิกรรม อุตสาหกรรมสงคราม การพลังงาน และการสื่อสารมวลชน ซึ่งทุ่มเทเงินทองมหาศาลวิ่งเต้นให้นักการเมืองออกกฎหมายตามบริบทที่นักกฎหมายตนเขียนไว้ เพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับประชาชนผู้บริโภค นับเป็นการใช้อำนาจของคนหมู่น้อยรังแกปวงชนผู้จ่ายภาษีอากรเป็นค่าจ้างให้นักการเมืองดังกล่าว

ท่านเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล์ล อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร รัฐบุรุษยิ่งใหญ่ กล่าวไว้ว่า ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ย่ำแย่ที่สุดในโลก!

----------------

ธนรัตน์ ยงวานิชจิต

[email protected]