สูตรความสำเร็จ : Grit

สูตรความสำเร็จ : Grit

‘’...การทำงานใด ๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้..

และเมื่อใดพลังของความเพียรนี้เกิดขึ้น เมื่อนั้นการงานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดยง่ายดาย และรวดเร็ว...‘’

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2522

 ความเพียร เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งพสกนิกรชาวไทยได้เรียนรู้อย่างซาบซึ้ง จากพระราชจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นต้นแบบของความเพียร อย่างต่อเนื่อง อย่างไม่ทรงย่อท้อ อย่างยากนักที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือน

ที่ผ่านมา นักวิจัยต่างชาติเริ่มให้ความสนใจศาสตร์ของความเพียรมากขึ้น 

ตัวอย่างเช่น หนังสือขายดีเล่มล่าสุด เรื่อง Grit หรือ ความอึด ความบากบั่นหมั่นเพียร เขียนโดย Dr. Angela Duckworth อาจารย์สาขาจิตวิทยา ที่มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา

มีมุมมองดีๆหลายเรื่องให้เราศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องสำคัญยิ่งนี้

อาจารย์มีคำถามหนึ่ง ที่เพียรเสาะแสวงหาคำตอบ ทั้งในวงการทำงาน การศึกษา การกีฬา การแข่งขัน และการดำรงชีวิตในภาพรวม

“อะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะฟันธงว่า ใครจะประสบความสำเร็จในระยะยาว”

ทีมวิจัยเจาะทั้งเด็กที่แข่งขันการสะกดคำ เหล่าครูใหม่ในโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง ทีมขายในองค์กร ฯลฯ เพื่อศึกษา และติดตามผลว่า สิ่งใดเป็นตัวแยกแยะว่า ใครจะประสบความสำเร็จกว่าใครในระยะยาว

พบว่า

ความฉลาด?..ไม่ใช่

ความเก่ง?..ไม่ใช่

สภาพแวดล้อม?..ไม่ใช่

แรงสนับสนุน?..ไม่ใช่

แต่สิ่งที่โดดเด่น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า เด็กคนไหน พนักงานขายคนใด นักกีฬาคนไหน ฯลฯ จะประสบความสำเร็จ คือ..

Grit หรือ “ความอึด” นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น อาจารย์ทำการศึกษาในโรงเรียนนักเรียนนายร้อยของกองทัพบกสหรัฐ ที่คนรู้จักในนาม West Point

สถาบันนี้มีชื่อเสียงขั้น “เทพ” ในหมู่ผู้ที่ประสงค์จะได้รับการศึกษาด้านการทหาร

กว่าจะเข้าได้ ต้องผ่านการแข่งขันคัดเลือกอย่างเข้มข้น ต้องมีทั้งผลการเรียนเป็นเลิศ ตลอดจนผ่านการวัดทักษะมากมายหลากหลายด้านแบบสารพัดจัดเต็ม

อย่างไรก็ดี แม้จะคัดอย่างพิถีพิถันเท่าใด ก็ไม่วายจะมีนักเรียนที่เรียนไม่จบ เพราะตกหล่นไประหว่างทาง ประมาณ 20% ทุกปี

สรุปว่า กระบวนการคัดเลือก ตลอดจนคะแนนการประเมินที่ผ่านมา ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่า ใครจะไป หรือใครจะรอด

ทีมงานอาจารย์ Angela จึงขอใช้การวัดระดับความอึด หรือ Grit Scale ซึ่งมีคำถามสั้นๆ ง่ายๆ 12 ข้อ ให้นักศึกษาประเมินว่า พฤติกรรมตนเองในแต่ละข้อ อยู่ในระดับใด ตั้งแต่ 5 - เหมือนมาก จนถึง 1 - ไม่เหมือนเลย

ตัวอย่างพฤติกรรมในคำถาม มีอาทิ

- ข้าพเจ้าไม่ท้อถอยเมื่อเจอความล้มเหลว

- สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจเปลี่ยนแปลงไปปีต่อปี

- เมื่อข้าพเจ้าเริ่มทำสิ่งใด จะทำจนแล้วเสร็จ

ฯลฯ

ปรากฎว่า ผลการประเมินตนเองเรื่องความมานะอึดอดทน ของนักศึกษาที่ West Point เป็นตัวบ่งชี้ที่แม่นยำว่า ใครจะอยู่ และใครจะไป

นั่นคือ จาก 20% ที่ไม่ผ่านการศึกษาจนจบ ส่วนใหญ่มิใช่เป็นเพราะไม่เก่ง มิใช่เป็นเพราะไม่แข็งแรงพอ แต่เป็นเพราะ “อึด” ไม่พอ นั่นเอง

ผู้ที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในการงาน กีฬา หรือภารกิจอื่นใด ในการวิจัยของอาจารย์ ต้องมี 2 ปัจจัยหลัก

  1. ซึ่งในความหมายของอาจารย์ คือ “ความถนัด” อาทิ ความถนัดด้านภาษา กีฬา การขาย ฯลฯ
  2. ความเพียร

โดยมีสูตรแห่งความสำเร็จ 2 ขั้นตอนต่อเนื่อง ดังนี้

Talent x Effort = Skill

Skill x Effort = Achievement 

ความถนัด X ความเพียร = ทักษะ

ทักษะ X ความเพียร = ความสำเร็จ

นั่นคือ แม้ชอบและถนัดในเรื่องใด แต่ถ้าไม่ใส่ใจ ไม่ทุ่มเท ไม่ฝึกฝน ไม่เพียรเรียนรู้และพัฒนา ก็จะไม่เกิดความเชี่ยวชาญ จนเป็นทักษะในเรื่องนั้นๆ

มีทักษะ แต่ไม่มีความมานะพากเพียรปฏิบัติให้เกิดเป็นผลงาน ก็ไม่ได้มาซึ่งความสำเร็จ

หากถามต่อว่าปัจจัยใดสำคัญกว่ากัน

ความถนัด หรือ ความเพียร

อาจารย์ Angela ฟันธงว่า

ความเพียรเป็นหัวใจ

เพราะต้องใช้ในทั้งสองขั้นตอนค่ะ!