ใช้ “จุดแข็ง” เสริมเป้าหมาย

ใช้ “จุดแข็ง” เสริมเป้าหมาย

ท่ามกลางคราบน้ำตาของพสกนิกรคนไทย ที่ยังไม่หยุดไหลริน เราต่างเริ่มค่อยๆ มีพลัง และกำลังใจกลับมา

หลังจากที่ตระหนักร่วมกันว่า

เราต่างมีภารกิจมากมาย ที่ทำได้ และต้องทำ เพื่อให้สมศักดิ์ศรีของผู้ที่โชคดี ได้เกิดมาเป็นข้ารองพระบาท ขององค์ผู้ทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดิน

ดั่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะ “ทูลกระหม่อมอาจารย์” ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงสอนเหล่าลูกศิษย์ ตอนหนึ่งว่า 

“ให้ทำหน้าที่ภารกิจของเรา อย่าตกใจ อย่าเสียขวัญ อย่าท้อถอย ใครมีหน้าที่ สานต่อให้ดีที่สุด การมัวแต่ร้องไห้นั้น ไม่มีประโยชน์ แต่การทำงานถวายพระองค์ท่านให้ดี นี้แหละดีที่สุด ได้เห็นคนลูกเล็กเด็กแดงมา เห็นคนมาเอื้อเฟื้อกัน มีรถรับส่งกันฟรีเท่าที่ตัวเองจะทำได้นี่ก็ดี”

สังคมไทยวันนี้ เป็นสังคมดีงาม ใครเก่งเรื่องใด ใครมีทักษะใด ใครมีอุปกรณ์เครื่องมือใด ก็เอามาแบ่งให้ส่วนรวม

“จุดอ่อน” ละไว้ ไม่มี ไม่เก่ง ไม่เป็นไร ไม่พอใจ ก็นิ่งได้ ไม่ใช่เวลามาหาความ

เพื่อช่วยประคองกันและกัน ให้ผ่านห้วงเวลาแห่งความโทมนัสแสนสาหัสนี้ไปด้วยกัน

วันนี้ มีเรื่องที่เกี่ยวข้องมาแบ่งปันเช่นกันค่ะ

หลายวงการ เริ่มหันมาสนใจการใช้ จุดดี หรือ “จุดแข็ง” ให้เป็นประโยชน์

ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการงานทั่วไป หรือการใช้จิตวิทยา เพื่อช่วยผู้มีปัญหาทางจิตใจ อาทิ คิดวกวน ซึมเศร้า ฯลฯ

ขออนุญาตยกตัวอย่าง South West Healthcare ผู้ให้บริการด้านสุขภาพของภาครัฐ ที่ประเทศออสเตรเลีย เขามีแนวทางน่าสนใจที่เผยแพร่ ให้ทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยด้านจิตเวช ตลอดจนให้ประชาชนคนทั่วไป เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข 

โดยใช้ “จุดแข็ง” ที่ตัวเองมี

ปกติคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอ พ่อแม่ หรือ หัวหน้างาน สิ่งที่ต่างสอดส่องมองหา คือ ประเด็นที่เป็น “จุดอ่อน” เพื่อหาวิธีเยียวยาผู้ที่ตนดูแล

ด้วยความรัก และ ความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง

อย่างไรก็ตาม ต่างพบว่า อัตราความสำเร็จของการแก้ปัญหา ยังอยู่ในระดับไม่สูงดั่งหวัง เพราะ ผู้ที่มี “จุดอ่อน” มักถดท้อ ขอถอย ขอหยุดสู้

การศึกษาหนึ่งพบว่า หลังการรักษา ผู้ที่ตระหนักว่าตนเองมีปัญหา “หลุดกรอบ” ที่สังคมขีดไว้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านจิตเวช หรือการใช้ยาเสพติด กว่า 1 ใน 4 จะมีภาวะจิตตกด้าน “Self Esteem” หรือ หมดความภูมิใจ หมดความมั่นใจในตัวเอง 

ผล คือ ท้อง่าย หมดแรง หมดกำลังใจ ซึ่งมักทำให้หวนกลับไปสู่ภาวะปัญหาดั่งเดิม

ข้อแนะนำ คือ การใช้ Strength-Based Plan หรือ แผนในการใช้ “จุดแข็ง” เป็นตัวช่วย โดยมีหลัก 4 ประการ คือ

1. Goal กำหนดเป้าหมาย มีเส้นชัยเป็นธงนำ มองอนาคต กำหนดว่าฉันจะดี จะพัฒนาอะไรได้บ้าง

2. Strengths จุดแข็ง s เน้น s แปลว่า ทุกคนล้วนมีจุดแข็ง มีข้อดีอยู่มากมายในตน ใช้ข้อดีเหล่านี้เป็นพลัง เพื่อสั่งตนให้ไปถึงเป้าหมายให้จงได้ดั่งหวัง

3. Environment ตระหนักว่า เรามิได้อยู่ตัวคนเดียวเหี่ยวใจ ให้มองหาและเชื่อมต่อกับบุคคลรอบตัว เชื่อมต่อกับพลังรอบข้าง เพื่อเติมเสริมจุดแข็งของตน

คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นหมอ เป็นแม่พ่อ เป็นหัวหน้า ก็ต้องพร้อมให้ความหวังและกำลังใจ ตลอดจนให้การสนับสนุนในกระบวนการใช้จุดแข็งนี้

4. Choice ทางเลือก คนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ถือเป็น “ทางเลือก” ของตน ของคนๆนั้นเอง 

“People are experts in their own lives” แต่ละคน เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญที่สุดในเรื่องชีวิตตน

ดังนั้น การใช้จุดแข็ง เป็นตัวผลักดันให้สู่เป้าหมาย เจ้าตัวต้องเป็นผู้ร่วมกำหนด และเลือกเองว่าฉันมีดีอะไร 

ใครสั่งไม่ได้ และ ไม่ต้องรอให้ใครสั่ง

ยามนี้ ที่พวกเรารู้สึกสุดว้าเหว่ หดหู่ ลองมาใช้จุดแข็งของเราดูค่ะ

1. Goal กำหนดเป้าหมายให้ชัด ว่าฉันต้องการทำอะไรให้ดีที่สุด ให้เต็มกำลังความสามารถ ให้เป็นหลักชัยของชีวิต เพื่อตอบแทนพระคุณขององค์ผู้ทรงเป็นต้นแบบของการให้

2. Strengths ใช้จุดแข็งทุกสิ่งที่มี ทุกความดีที่สะสมไว้ ทุกทักษะที่เคยใช้ เพื่อทำให้เป้าหมายเป็นจริง

3. Environment เพิ่มพลัง โดยเชื่อมต่อกับพสกนิกรคนไทยมากมาย ที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อถวายให้ “พ่อ” ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจ

4. Choice ไม่มีใครบังคับเราได้

เพราะเราทำจากหัวใจ

เลือกใช้จุดแข็งที่มี

เลือกทำนับแต่นาทีนี้

ทำอย่างไม่หยุด อย่างไม่ท้อ 

ดั่ง “พ่อ” ของเรา