ภารกิจของสื่อไทยกับความเศร้าของพสกนิกร

ภารกิจของสื่อไทยกับความเศร้าของพสกนิกร

สัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเวลาที่หนักหน่วงอย่างเหลือล้นของคนไทยทั้งประเทศ ที่ร่ำไห้กับเสด็จสู่สวรรคาลัย

ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นพ่อของแผ่นดินที่ประทับอยู่กลางใจพสกนิกรชาวไทยเท่านั้น แต่ด้วยพระจริยวัตรจากการทรงงานของพระองค์ ผ่านโครงการพระราชดำริกว่าสี่พันกว่าโครงการ ยังคงเป็นแบบอย่างของความเพียรที่จะสานต่อให้ลูกๆ ทุกคนยึดเป็นสรณะศรัทธาในการดำเนินชีวิตต่อไปอีกด้วย

ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีผู้คนใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์สูงสุดติดอันดับโลก เราก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะเห็นถึงการแสดงความเสียใจเชิงสัญญะ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ต่างคนต่างปรับภาพตนเองและรูปที่แชร์เป็นสีขาวดำ เพจเกือบทุกหน้าจอได้ปรับโทนของสีในสื่อของตนให้ไว้ทุกข์ตามครรลองของความโศกสลดของผู้คนในช่วงนี้

การนำเสนอข่าวในวันของการสูญเสียเมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา นำไปสู่การรวบหน้าจอโทรทัศน์ให้อยู่บนฐานของการถ่ายทอดภาพรวมการเฉพาะกิจที่รอแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังอย่างเป็นระบบระเบียบ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ในการทำงานภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องการความนิ่ง สงบ และไม่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนชาวไทย

อย่างไรก็ตาม ด้วยประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ว่าด้วยการควบคุมสื่อมวลชนท่ามกลางความกระหายข้อมูลข่าวสารของประชาชนในสภาวการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไม่ปล่อยให้สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่หลักในการกำหนดวาระข่าวสารของสังคม รวมไปถึงกลายเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารหลักที่ประชาชนจะเสพได้ เนื่องจากแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อำนวยให้ใครๆ ก็ได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาและส่งสาร ทำให้ง่ายต่อการปลุกเร้าเชิงอารมณ์และพร้อมที่จะนำพาผู้คนขาดสติไปตามกระแสความดราม่าอันอ่อนไหวได้อย่างง่ายดาย

เผด็จการอันเกิดจากกระแสทัศนคติของคนหมู่มากท่ามกลางความอ่อนไหวในทางอารมณ์ อาจนำไปสู่ข้อจำกัดจำเขี่ยในการให้ที่ยืนของคนบางกลุ่มที่อาจไม่เป็นไปตามกระแสของคนหมู่มาก ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่ความจงเกลียดจงชังและพร้อมที่จะห้ำหั่นในเชิงรุกกันได้ทุกเมื่อ หากกระตุ้นเร้าด้วยเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียวจนลุกลามเป็นความรุนแรงใหญ่โต ดังที่เกิดการ ‘ล่าแม่มด’ กันอย่างเอาเป็นเอาตายในบางพื้นที่ของประเทศไทย

จากงานวิจัย Hate speech ที่ผู้เขียนและคณะได้เคยจัดทำให้กับสภาวิจัยแห่งชาติเมื่อสามปีก่อนได้ระบุชี้ชัดว่า ‘ความเกลียดชัง’ สามารถกระตุ้นเร้าได้อย่างรุนแรงเมื่อมันมาพร้อมกับ ‘ความรัก’ อารมณ์อันพลุ่งพล่านที่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพได้นั้น มีปัจจัยอันเกิดมาจากการที่บุคคลที่เรารักและศรัทธาถูกกระทำ ซึ่งเมื่อโหมเข้ากับสภาวะที่ผู้คนถูกปิดกั้นเชิงข้อมูลข่าวสาร กรอปกับความอ่อนไหวและไม่มั่นคงในเชิงอารมณ์แล้ว ถือว่าปัจจัยแวดล้อมหลังการสูญเสียพ่อหลวงของเราเป็นบริบทที่มีความพร้อมต่อการผลิต Hate speech และ Hate crime ได้อย่างง่ายดาย

การเฝ้าระวังการสื่อสารอันอาจเกิดจากใครก็ได้ที่จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจผลิตเนื้อหาที่ไม่เข้าพวกกับกระแสของคนหมู่มาก รวมไปถึงเนื้อหาที่ส่อไปถึงความเกลียดชัง อันสร้างความแปลกแยกให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราในสังคมไทยช่วงนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้สื่อกระแสหลักทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการนำเสนอข้อเท็จจริง โดยใช้ทักษะและความชำนาญในการทำข่าวและเรื่องราวที่น่าเชื่อถือมานำเสนอ ตัดกระแสบรรดาข่าวลือ ข่าวปล่อย หรือข่าวกุในโลกออนไลน์ที่กำลังพรั่งพรูออกมาเป็นดอกเห็ดในขณะนี้

การทำงานของนักข่าวมืออาชีพซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ในช่วงเวลาแห่งความสูญเสียในครั้งนี้ นับเป็นภารกิจสำคัญของสำนักข่าวทุกแห่ง ที่จะยืนยันบทบาทการทำหน้าที่ของตนเอง เพื่อให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองเป็นไปอย่างสงบ ราบรื่น และสง่างาม การประคับประคองอารมณ์ของคนไทยจากการสูญเสียด้วยการสร้างพลังของการแสดงออกเชิงบวก ตามปรัชญาการทำงานของในหลวงอันเป็นที่รักคือ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยที่ดีที่สุดในขณะนี้ ทั้งนี้ การปล่อยให้เผด็จการออนไลน์ออกมาเพ่นพ่านและสร้างความชอบธรรมแบบกวาดล้างผู้คนที่อาจไม่ได้แสดงความโศกสลดตามมาตรฐานของดราม่าออนไลน์ ดูจะเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยที่ไม่สมควรให้อภัยได้

อนึ่ง การทำงานของสื่อมวลชนในบริบทดังกล่าวนั้น ต้องมาพร้อมกับการเปิดพื้นที่ของภาครัฐ โดยต้องยอมรับในวุฒิภาวะการทำงานของสื่อมวลชนไทยให้ทำงานได้อย่างเสรี ภายใต้หลักการถ้อยทีถ้อยอาศัยโดยรัฐต้องเชื่อว่าทุกภาคส่วนล้วนแล้วแต่มีเจตนาที่ต้องการจะสร้างปรากฏการณ์ดี ๆ ในการต่อยอดปรัชญาการทำงานของพ่อหลวง ซึ่งนำไปสู่การมีส่วนร่วมและดึงผู้คนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ทิศทางที่เหมาะที่ควรอย่างทรงพลัง

ความโศกเศร้าจากความสูญเสีย ความตรึงเครียดจากเปลี่ยนผ่าน รวมไปถึงความหวาดกลัวของรัฐบาลในอันที่ต้องการจะควบคุมสถานการณ์ให้ผ่านไปด้วยดีถือเป็นเรื่องปกติของหลายๆ สังคมที่ต้องเผชิญในสภาวการณ์เช่นนี้การก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างามคงต้องมาพร้อมบรรยากาศที่ผ่อนคลายภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เราสามารถต่อยอดอดีตที่พ่อหลวงเคยสร้างและสั่งสมให้กับเราได้อย่างสมภาคภูมิ ดังเช่นที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีได้มีพระดำรัสให้กำลังใจกับพสกนิกรชาวไทยเมื่อคืนวานอย่างกล้าหาญและงดงามว่า

เราก็ครอบครัวเดียวกัน เราพวกเดียว พ่อของเรา พ่อของทุกคน เราภูมิใจ เราคนไทย ต่อไปก็ช่วยกันทำงาน เดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เดินไปข้างหลัง”