เราก็คิดเองทำเองได้

เราก็คิดเองทำเองได้

วันนี้ถ้าเราเปิดดูทีวีในไทยเราจะเห็นแต่รายการทีวี ละคร หรือแม้กระทั่งรายการที่ไปซื้อฟอร์แมตจากต่างประเทศ

นอกจากนั้นลองดูเรื่องของเทคโนโลยีบ้างครับทุกอย่างเราต้องพึ่งจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด อย่างเรื่องรถไฟเราเพิ่งสั่งรถไฟใหม่จากประเทศจีน ทั้งๆที่เราเป็นประเทศแรกในเอเซียที่มีรถไฟ ซึ่งจีนมีหลังประเทศไทยเสียอีก แต่วันนี้ทำไมจีนสร้างรถไฟเองและส่งออกไปต่างประเทศได้ วันนี้เราก็ยังซื้อจากต่างประเทศ ทำไมเราต้องพึ่งทุกอย่างจากต่างประเทศ ทำไมเราไม่คิดจะทำอะไรเองบ้าง 

ดูตัวอย่างจีนสิครับเขาก็เริ่มอย่างเราคือต้องซื้อเขาทุกอย่าง แต่เขาก็ไม่ได้คิดจะซื้อตลอดไปเขาซื้อแล้วมาคิดว่าถ้าฉันจะทำเองขึ้นมาบ้างฉันจะทำได้ไหม บางอย่างที่เขาไม่มี Know-how เช่น สร้างสะพานแขวน สะพานที่ 1 จ้างฝรั่งมาทำ 100% เลย สะพานที่ 2 จ้างฝรั่งมาทำ 50% เท่านั้น ส่วนสะพานที่ 3 จีนทำเองหมดและหลังจากนั้นอีกไม่รู้กี่ 100 สะพานเขาก็ทำเองหมด

จีนทำรถไม่เป็นวันนี้จีนก็ส่งออกรถได้ แต่วันนี้ไทยเราเป็นแค่เป็นแรงงานประกอบรถยนต์ให้บริษัทต่างชาติเท่านั้นเราไม่มีรถยี่ห้อไทยเลยด้วยซ้ำไปรัฐบาลกำลังพยายามผลักดันให้คนไทยต้องขายความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองมากยิ่งขึ้นเพื่อให้มูลค่าของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น มิฉะนั้นเราก็มีแต่การส่งออกสินค้าเกษตรอย่างมากก็เป็นในรูปแบบการแปรรูปสินค้าเท่านั้น

อันที่จริงหากเราจะพัฒนาคนไทยให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นสิ่งแรกที่รัฐบาลไทยต้องทำคือการใช้มาตรการต่างๆช่วยความคิดสร้างสรรค์ไทยให้เกิดง่ายขึ้น อย่างรัฐบาลเวียดนามหรือแม้กระทั่งกัมพูชา บังคับเลยว่าช่วงเวลาไพร์มไทม์ ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆห้ามเอาคอนเทนต์จากต่างประเทศมาออกอากาศ อย่างรัฐบาลมาเลเซีย ประกาศห้ามนำโฆษณาที่ผลิตในต่างประเทศมาฉายในมาเลเซีย ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมทีวีในเวียดนาม และกัมพูชา มีโอกาสเกิดได้มิฉะนั้นสถานีก็ซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศมาฉายกันสบาย 

อย่างรัฐบาลจีนเองก็ปกป้องคอนเทนต์ที่มาจากต่างประเทศเช่นกัน คือ มีการกำหนดเวลาที่จะออกอากาศและปริมาณของ คอนเทนต์จากต่างประเทศต้องไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อเดือน สุดยอดไหมครับ นั่นก็เป็นการสร้างโอกาสเปิดเวลาให้ผู้ผลิตท้องถิ่นและยังช่วยกลั่นกรองวัฒนธรรมจากต่างชาติที่เข้ามาได้อีก ไม่นับรวม Facebook และ Google นะครับซึ่งไม่มีในจีนครับ 

มาดูไทยกันบ้าง กระทรวงวัฒนธรรมได้นำวัฒนธรรมไปเผยแพร่แต่ในประเทศไม่เคยคิดจะหาวิธีปกป้อง หลายๆรายการที่เราเอาวัฒนธรรมไทยไปโชว์ ซึ่งต้องมาดูว่าเหมาะสมแค่ไหนครับที่เราจะเอาไปให้เขาดู เช่น การเอาโขนไปให้เขาดูในงานอีเว้นท์จะมีกี่คนที่จะได้เห็น ทำไมเราไม่สนับสนุนและส่งเสริมรายการทีวีให้มีคุณภาพดีๆเพื่อส่งขายต่างประเทศไปเลย นั่นแหละครับคือสิ่งที่เราจะได้ประโยชน์จากการส่งออกวัฒนธรรมเรามากกว่าเมื่อเทียบเม็ดเงินลงทุน เอาโขน 1 คณะใช้เงินเป็น 10 ล้านเพราะจำนวนคนเยอะมาก เราเอาเงิน 10 ล้าน

 มาสนับสนุนผู้ผลิตคุณภาพส่งออกคอนเทนต์ดีๆ ออกไปจะได้ประโยชน์มากกว่าเพราะรายการทีวีดีๆไม่ได้ฉายแค่ประเทศเดียวแต่สามารถฉายได้หลายประเทศ จำนวนผู้ชมก็มากกว่า เรียกว่าเม็ดเงินลงทุนคุ้มค่ากว่าแน่นอน 

รัฐบาลไทยต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ไม่ใช่แค่เรื่องสนับสนุน แต่เราต้องมีแนวทางในการปกป้องด้วย ผมเชื่อว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ใคร แต่ในฐานะภาคเอกชนที่ได้บุกออกไปขายความคิดสร้างสรรค์ในต่างประเทศ บอกเลยครับ ว่าเหนื่อยมาก ขนาดบริษัทที่สิงคโปร์ถามเลยว่า เราได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลไทยไหมที่ออกมาบุกต่างประเทศแบบนี้ 

ผมบอกเลยว่าเปล่าเลย เราออกมาสู้ด้วยตัวเองครับ