ทำตนอย่างไรในฐานะหัวหน้า..ของหัวหน้า

ทำตนอย่างไรในฐานะหัวหน้า..ของหัวหน้า

ในที่ทำงานวันนี้มีบทบาทและงานอย่างน้อย 2 ประเภทที่มืออาชีพต้องเล่นให้เป็น

ประเภทแรก คือ งานที่ไม่มีลูกน้องฝรั่งเรียกว่าเป็น Individual Contributor หรืออีกนัยหนึ่ง ทำงานแบบไม่ต้องดูแลใคร กรุณาเน้นงานของตนให้รอดปลอดภัย

งานอีกประเภทมีลูกน้องที่ต้องดูแล

บทบาทนี้ ขยับจากทำงานด้วยตัวตนคนเดียว เลี้ยวมาทำหน้าที่สร้างผลงาน “ผ่านผู้อื่น”

นั่นคือ ในฐานะหัวหน้า เริ่มมีลูกน้องพฤติกรรมจึงต้องเปลี่ยนไปเก่งงานอย่างเดียวไม่ได้ต้อง “เก่งคน” เพราะมิใช่เพียงแค่บริหารตนแต่ต้องนำพาคนในสังกัดไปสู่เส้นชัยร่วมกัน

บทบาทหัวหน้านี้ ก็ยังมีอีกอย่างน้อย 2 รูปแบบซอยอยู่ภายใน

หัวหน้าหรือ Leader ดูแลลูกน้องที่เป็น Individual Contributorหัวหน้าที่ดูแลหัวหน้าอีกทีฝรั่งเรียกพี่ๆเหล่านี้ว่า Leader of Leaders มีชื่อเล่นเป็น Super Leader หรือซุปเปอร์หัวหน้า

วันนี้เรามาแจงกันว่าบทบาทของพี่ซุปเปอร์หัวหน้าควรทำหน้าที่อะไรบ้าง

ก่อนบอกว่าพี่น่าจะทำอะไร

ควรแถลงไขก่อนว่า พี่น่าจะ “หลีกเลี่ยง” พฤติกรรมใด

เราไล่เลียงกันว่า คนทำงานมีหน้าที่ 3 ลำดับชั้น Individual Contributor น้องน้อยเน้นงานที่ตนรับผิดชอบ, Leader หัวหน้าผู้ดูแลน้องน้อย, Super Leader หัวหน้าของหัวหน้าดูแลทั้งทีมอีกระดับ

ดังนั้น สิ่งแรกที่พี่ซุปเปอร์หัวหน้าไม่น่าทำคือลงลุยงานยิบย่อย เอางานของน้องน้อยไปทำ!

กรุณาปล่อยไปให้เขาทำเถิดหากเกิดมีปัญหาใดขอให้หัวหน้าโดยตรง ลงมือปลุกปั้นให้ฝีมือเขาเข้าขั้นเอง

ถัดไปที่ไม่น่าทำคืองานของ Leader ที่เป็นลูกน้องเราโดยตรง อาทิ สั่งการหรือแก้งานน้องน้อย

เพราะหากซุปเปอร์ว่าการเองบ่อยๆ Leader อาจค่อยๆเริ่มงงว่า แล้วพี่มีผมไว้ทำไม หรือบ้างอาจถือว่าสบายดีพี่ทำงานให้รับผิดชอบไป แต่ผมได้เงินเดือน

และหากเป็นเช่นนี้ซ้ำซาก น้องน้อย Individual Contributor ก็มีงงว่าหนูจะฟังใครดี

หากพี่ 2 ระดับให้คำแนะนำเหมือนกันก็รอดตัวไป

แต่หลายครั้ง 2 พี่อาจมีมุมต่าง สร้างความสับสนให้คนปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น อาจเกิดปรากฏการณ์หนึ่งคือ น้องน้อยเจ้าปัญญาเริ่มรู้ว่าควรเข้าหาใคร เมื่อใด หากเรื่องหนึ่งไปหัวหน้าโดยตรง คาดว่าพี่คงไม่ให้จึงกะข้ามอวัยวะส่วนบนของพี่ไปเพื่อหาที่พึ่งสูงกว่าได้..ไม่ง้ออะ

การทำงานจึงทั้งป่วนทั้งรวน ชวนให้เกิดความขัดแย้งอย่างไม่จำเป็น

อนึ่ง พี่ซุปเปอร์หัวหน้า มีสิทธิเข้าไป “ล้วงลูก” หรือไม่

คำตอบคือ “มี!”

แต่พี่ต้องทำอย่างระมัดระวัง

ทำเฉพาะในกรณีจำเป็นเช่นเรื่องเร่งด่วนหรือเมื่อลูกน้องระดับ Leader นิ่งดูดายไม่แก้ปัญหาฯลฯพี่ซุปเปอร์หัวหน้า ก็ต้องลงมาผ่อนหนักเป็นเบา

แต่ขอให้ถือว่า เป็นการกระทำแบบ “ยกเว้น” เป็นกรณีๆไป

หาไม่ ต้องเริ่มกังวลว่า ใครน้า..จะทำหน้าที่ของฉัน เมื่อวันต่อวัน ฉันทำงานให้น้องหมดจด

ลองมาดูกันต่อว่าซุปเปอร์พี่มีหน้าที่หลักๆอะไรในการทำงานกับระดับ Leader ที่เป็นลูกน้องโดยตรง

1.ทำตนเป็นต้นแบบ

เพราะหัวหน้าทั้งหลายในสังกัดซุปเปอร์พี่ล้วนเรียนรู้ ซึมซับวิธีดูแลน้องน้อยจากซุปเปอร์พี่นี่เอง

เช่น ซุปเปอร์พี่อยากให้หัวหน้าฟังลูกน้องบ้างก็ต้องสร้างพฤติกรรมนี้ให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง

ว่าแต่เขา อิเหนาต้องไม่เป็นเอง

2.ปรับประเด็นการโค้ชพี่หัวหน้า

แทนที่จะโค้ชเรื่อง “งาน”สถานเดียว

ซุปเปอร์พี่มีหน้าที่ติดตาม สอบถามและช่วยพี่หัวหน้าให้เก่งกล้าขึ้นในเรื่องการดูแลคนในสังกัด

ตัวอย่างเช่นแทนการติดตามว่า “โครงการ” เดินหน้าถึงไหนอย่างเดียว

กรุณาให้เวลาหารือและติดตามตลอดจนโค้ชเรื่องการทำงานร่วมกับลูกทีมของพี่หัวหน้า

เช่น “น้องเอผู้ช่วยคุณช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง ดูเขาซึมๆไปไม่พูดไม่ถามในที่ประชุมอย่างเคย”

3.สร้างความศรัทธาน่าเชื่อถือให้พี่หัวหน้าในสายตาลูกน้องของเขา

อาทิ ชื่นชมให้ทีมลูกน้องเขาได้ยินว่าพี่เขาประสบความสำเร็จในการเจรจาสัญญาใหญ่กับลูกค้า

ทั้งนี้ พี่ซุปเปอร์หัวหน้ากรุณาอย่าแข่งเพื่อแซงเป็นที่รักของน้องๆเขา

ที่สำคัญอย่าทำให้พี่หัวหน้าเสียหน้าท่ามกลางทีมที่เขาต้องดูแล

หากมีเรื่องที่พี่หัวหน้าทำผิดพลาดไปต้องไม่ต่อว่าหรือ “ด่า”เขาในที่ที่มีลูกน้อง

ทั้งนี้จะให้ดีหากจะตำหนิใครควรได้ยินกันสองคน

ประชาชนอื่นใดไม่เกี่ยวค่ะ!