เรียนรู้จากผู้นำ: เคล็ดลับการ “คิด” แบบนักกีฬาโอลิมปิก (1)

เรียนรู้จากผู้นำ: เคล็ดลับการ “คิด” แบบนักกีฬาโอลิมปิก (1)

ขอยืนปรบมือชื่นชมนักกีฬาของไทย และของทุกชาติทุกภาษา ที่รวมตัวกันแสดงพลังอันยิ่งใหญ่ ที่อยู่ในตัวมนุษย์ ณ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 31

นักกีฬาที่ปรากฏกายในเวทีนี้ มีดีกรีขั้นเทพทั้งสิ้น เพราะเขาต่างต้องทุ่มเทๆ ฝึกฝนๆ อดทนๆ และฝ่าฟันอุปสรรคมากมายๆ กว่าจะมีทักษะ และร่างกายที่แกร่ง แข็งแรงยิ่ง

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มุมมองของทั้งตัวนักกีฬาและโค้ช ที่ว่า

ความสามารถเชิงร่างกาย อาจทำให้เขาต่างผ่านด่านอรหันต์มาถึงการแข่งขันระดับโอลิมปิกได้ 

แต่ความแตกต่างระหว่างผู้ชนะเหรียญทอง และเหรียญเงิน กลับมิใช่ทักษะด้านร่างกาย แต่เป็นเรื่องความแกร่งที่ “ใจ” ในนาทีนั้นๆ ของการแข่งขัน

“90% mental and 10% physical” ชนะหรือไม่ ได้จากใจ 90% กาย 10%!

หากเข้ามาถึงเวทีนี้ได้ ถือว่าความเก่งด้าน “กาย” ต้องผ่านมาตรฐานระดับหนึ่ง

จึงเหลือว่าใคร “เก่งใจ” กว่ากัน นั่นเอง

วันนี้มาคุยกันเรื่องเคล็ดลับอันดับหนึ่ง ของการฝึกทักษะด้านใจ หรือ Mental Skills ที่นักกีฬาในหลายทีมใช้ฝึกฝน โดยมีนักจิตวิทยาการกีฬา หรือ Sport Psychologist เป็นผู้ชี้แนะ

เคล็ดลับนี้มีชื่อว่า Visualization หรือ Mental Imagery การสร้างมโนภาพ

หนึ่งในทีมนักจิตวิทยากีฬาของนักกีฬาโอลิมปิกสหรัฐฯ ฟันธงว่านักกีฬา ทั้งระดับอาชีพและระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ ล้วนต้องผ่านกระบวนการ “ฝึกจิต” ในรูปแบบต่างๆ กันมาทั้งสิ้น

วิธีการ Visualization ทำโดยจินตนาการว่า เรากำลังอยู่ในการแข่งขันกีฬาจริงๆ

แล้วกำหนด “ภาพ” ในใจอย่างละเอียดละออ ให้เสมือนจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้ทุกประสาทที่มี ทั้งภาพ รส กลิ่น เสียง ตลอดจนสัมผัสทุกการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

อาทิ หากเป็นนักวิ่ง เราจะจินตนาการตั้งแต่เดินออกจากห้องเตรียมตัว สู่สนาม... รับรู้ถึงอากัปกริยายามก้มโน้มตัวลง..เอามือเท้าลู่..มือสัมผัสผิวพื้นสากของทางวิ่ง..หูตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ รอเสียงสัญญาณ และ..ปัง!..เท้าถีบให้ร่างวิ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างสมบูรณ์แบบ.. ไล่ไปทุกรายละเอียดของการวิ่ง จน..อกแตะเส้นชัย..เป็นคนแรก.. เสียงผู้ชมปรบมือโห่ร้องด้วยความยินดี..น้ำตาแห่งความปลื้มปิติไหลริน

ที่ทำเช่นนี้ เพราะเรากำลังสั่งสมองและทุกอนูในกาย ให้จดจำทุกอย่างในจินตนาการ

น้องสมองของเรา ไม่ว่าเขาจะเก่งกาจเท่าใด..แต่ก็ไม่เก่งเท่าเจ้าของหรอกค่ะ

เพราะเมื่อเราจินตนาการได้อย่างสมจริง น้องสมองจะเริ่มเชื่อเรา

หรืออีกนัยหนึ่ง สมองไม่สามารถแยกแยะระหว่างภาพที่เกิดจริง หรือสิ่งที่เรา “มโน” เอาได้

สิ่งที่สมองทำยามที่เรา Visualize คือ สั่งอวัยวะและต่อมทั้งหลาย ที่เราควบคุมเองไม่ได้ เพราะอยู่ในอาณัติสมอง ให้ตอบสนองเหมือนกับตอนที่เราอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ความแม่นยำ ความมั่นใจ ไม่วิตกหวั่นไหว จำได้ฝังในทุกเซลล์ว่า ต้องทำอย่างไร จึงประสบความสำเร็จ

เพราะเรา “เจนสนาม”

เพราะเราได้แข่งขันในเวทีนี้ จนได้ชัยชนะนับพันๆ หมื่นๆ ครั้ง ในจิตนาการที่เสมือนจริงยิ่งนัก

ตัวอย่างนักมโน มีอาทิ Michael Phelps นักว่ายน้ำชาวอเมริกันขั้นเทพ ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดในโลก

เขาใช้ Visualization ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ มิใช่เพียงเพื่อย้ำจำอนูความสมบูรณ์แบบอย่างเดียว

แต่เพื่อเลือกหน่วยความจำที่สะสมไว้ เพื่อใช้ในการแก้ทุกปัญหาที่อาจเกิดระหว่างการแข่งขัน!

เช่น Visualize ว่าหากสตาร์ทผิด จะแก้ไขอย่างไร ให้กลับมาชนะเหมือนเดิม

หากจ้วงพลาดจังหวะ จะปรับรับมือกับสถานการณ์อย่างไร ฯลฯ

สัปดาห์หน้า มาติดตามการฝึกทักษะ “ใจ” กันต่อว่า นอกจาก “มโน” ให้เป็นแล้ว

น้องสมอง ต้องเก่งเรื่องใด เพื่อช่วยให้เราเข้าเส้นชัย “โอลิมปิก” ชีวิต

เพราะความคิด แม้ทรงพลัง...แต่ “สั่ง” ได้ค่ะ