หัวหน้ากับอุณภูมิห้อง

หัวหน้ากับอุณภูมิห้อง

ชีวิตหัวหน้า ท้าทายยิ่ง อำนาจ วาสนา บารมี ที่มากับตำแหน่งที่สูงขึ้น ล้วนมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่

เพราะอำนาจที่มีให้ใช้ ส่งผลตรงไปตรงมาต่อชีวิตของคนในสังกัด

จากผลผลการวิจัยหลากหลายค่าย ฟันธงคล้ายกันว่า

บรรยากาศของการทำงาน จะสุข จะสนุก จะทุกข์เพียงใด โยงใยกับตัวหัวหน้าถึง 70% !

หัวหน้าจึงมีหน้าที่คล้ายเป็น Thermostat ผู้ควบคุมอุณหภูมิห้องของทีม ว่าสบาย “พอดี” หรือไม่

จึงต้องคอยหมั่นสำรวจตรวจเช็คว่า องศาต่ำไป จนหนาว ราวๆวังเวงไหม

หรือเย็นสบายไป จนไม่อยากทำงาน ประมาณลัลล้า หาสาระยาก

หรือร้อนผ่าว จนทีมไข้ขึ้น เพราะทั้งมาคุ ทั้งดุเดือด

ดิฉันได้มีโอกาสหารือกับลูกทีมจำนวนไม่น้อย ที่มีหัวหน้าผู้เชื่ออย่างหมดใจว่า ห้องต้องร้อน มิฉะนั้นน้องๆ จะนอนเล่นเย็นใจเกินไป!

จึงเน้นเพิ่มองศา ทั้งด้วยวาจา : สารพัดด่าทอ ต่อว่า เร่งรัดตามงานติด ผิดต้องโวย

ทั้งด้วยพฤติกรรม : วาจาพี่ อาจเอ่ยว่า “ฟังหนูอยู่” แต่ทั้งสีหน้า และสายตาเย็นชาของพี่ ส่งข้อความดังชัดกว่าวาจา ว่าไม่สนใจ!

เมื่ออุณภูมิสูงส่ง ท่านผู้อ่านคงไม่สงสัยว่าทำไมน้องหลายคนจึงหนีร้อนไปพึ่งเย็น ไม่ว่าจะเป็นย้ายทีม ลาออก

หรือเข้า Mode จำศีล ทนจนชา มีอาการเสมือนไม่สนใจ เป็นทองไม่รู้ร้อนได้ ปิดใจปิดหู หนูเล่นบทดื้อตาใส ไม่เถียง..แต่ไม่ทำ!

อนึ่ง หัวหน้าในปัจจุบัน ตระหนักดีว่า เรามีหน้าที่สื่อสารและ Feedback 2 ประการ ทั้งชื่นชม ยามลูกน้องทำอะไรได้ดี และเมื่อมีปัญหา ก็ต้องกล้าเรียกลูกน้องมาFeedback เพื่อให้ปรับปรุงและพัฒนา

Feedback แบบหลัง เป็นสิ่งที่ท้าทาย ต้องทำด้วยความตั้งใจ และใส่ใจนัก

โดยก่อนอื่นใด ต้องงดใช้ Mode “อัตโนมัติ

เพราะเป็นศิลปะที่หัวหน้าต้อง ปรับให้พอดี กับสถานการณ์ เวลา สถานที่ จริต และจิตใจของผู้ใต้บังคับบัญชา

มิใช่ใช้อารมณ์ของพี่เป็นใหญ่ ไปลุ่นๆ ใจขุ่นร้อนอย่างไร วาจาไปอย่างนั้น

มาดูตัวช่วย เป็นคำถาม 3 ข้อ เพื่อชะลอ Mode อัตโนมัติ ดังนี้ค่ะ

1.ถามตัวเองว่า วัตถุประสงค์ของการ Feedback ครั้งนี้ คืออะไร? หากคุยตอนนี้เราจะได้สิ่งนั้นไหม?”

อาทิ หัวหน้าอย่างฉัน อยากบอก “มัน” ว่าต้องกลับตัวกลับใจ หยุดพฤติกรรมชอบนินทาฉันลับหลังตั้งแต่วินาทีนี้!

หากพี่มี Mentor ที่มีใจเป็นกลางอยู่ข้างกาย ท่านคงกระซิบว่า อย่าเพิ่งพูดเลย เพราะฟังเหมือนพี่มีโทสะ กะลุยเละ!

ทั้งเมื่อน้องฟังคำ Feedback ผสมอารมณ์ร้อนจัดเช่นนี้ อาจยืนกราน (อย่างน้อยในใจ) ว่ามิใช่ “นินทา” ค่ะ แต่ “หารือ” กับเพื่อนถึงปัญหาที่เห็น บังเอิญเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานที่พี่ให้ มีอะไรอีกไหมคะ ?!

หรือน้องเข้า Mode เงียบๆ เย็นๆ พยักหน้ารับ (แต่ในใจยืนยันว่า นี่ไง! มันน่านินทาไหม ใครจะกล้าหารือต่อหน้า ป้าบ้าอำนาจขนาดนี้!)

หากพูดแล้วไม่น่าจะได้ตามเป้าหมาย ชะลอไว้ก่อนดีไหม

เก็บลมหายใจไว้บ้าง รอจังหวะใหม่ ได้งานได้ใจกว่าเยอะ

2.ถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า

เรามีอคติกับเจ้าลูกน้องคนนี้เพียงใด?”

โปรดสังเกตุว่า คำถามคือ เพียงใดมิใช่ หรือไม่

เพราะมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ล้วนแล้วแต่มีอคติทั้งสิ้น

จะมาก จะน้อย จะบ่อย จะบาง แค่ต่างกรรม ต่างวาระ

ทุกครั้งที่ต้องหารือเรื่องระคายใจ ก่อนกดปุ่ม เผาเอาให้วอด

กรุณาชะลอ โดยใช้ Mode “Slow Motion”

อาทิ จับสติตนเองให้ทันว่า น้องคนนี้ไม่เข้าตาเรา ตั้งแต่เขา “เถียง”ในที่ประชุมใช่หรือไม่

หากจับตนได้ ว่ากำลังคุยจากกอคติ

ตั้งสติใหม่ ชะลอวาจาไว้ก่อน

3.ถามตัวเองว่า เรามีส่วนเกี่ยวข้องทำให้น้องมีพฤติกรรมนี้เพียงใด?”

“เพียงใด” มิใช่ “หรือไม่” อีกครั้ง

อย่างน้อย พี่คือคนตั้งอุณภูมิห้อง

น้องอยู่ในห้อง ต้องเกี่ยวกับพี่ หนีความรับผิดชอบไม่ได้

อาทิ ที่เขาเอาเราไป “นินทา”ในห้องน้ำ เป็นเพราะอะไร ที่มาที่ไปส่วนใดมีเอี่ยวเกี่ยวกับเราบ้าง

เช่น พี่เคยสร้างความมั่นใจให้น้องบ้างไหม ว่ามาคุยกับพี่เรื่องลำบากใจ น้องไม่ตายคล้ายศพ

แถมพี่ยังทำตนเป็นต้นแบบ ยามน้องให้ Feedback เพื่อพัฒนา พี่กล้า “ขอบคุณ” ที่หนูพร้อมเสี่ยงเป็นกระจกส่องให้พี่เห็นปัญหา ที่อาจไม่ค่อยมีใครกล้าพูด

เมื่อเข้าใจบริบท และความโยงใยทั้งหลาย

โดยเฉพาะหากสัมผัสได้ถึงความร้อนผ่าวในใจ ที่ใกล้หลุดปากทุกขณะจิต

คิดใหม่! นิ่งให้ตะกอนเริ่มนอนก้น! แล้วจึงเรียกน้องคุย เพื่อสะท้อนปัญหา ด้วยความเมตตา และเข้าใจ

เพราะบางจังหวะ พี่ยิ่งกดดัน น้องยิ่งร้อนรุ่ม ยิ่งวิ่งพล่าน งานยิ่งป่วน

ดังนั้น คนที่ควรปรับพฤติกรรมก่อน และส่งผลยิ่งใหญ่กว่า

..น่าจะเป็นพี่มังคะ