อย่าให้นักลงทุนเรียกร้องเกินมาตรฐาน

อย่าให้นักลงทุนเรียกร้องเกินมาตรฐาน

รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง กำลังโหมกระหน่ำมาตรการ

ส่งเสริมการลงทุนอย่างหนัก เพื่อจูงใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างชาติเข้าลงทุนใหม่ในประเทศ ผ่านมาตรการการเงินและการคลังทั้งในและนอกบีโอไอ หวังให้การลงทุนใหม่ช่วยต่อยอดเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

แต่ความต้องการให้นักลงทุน เข้าลงทุนผ่านการอัดมาตรการส่งเสริมการลงทุนนี้ ไม่ควรหมายความว่า รัฐบาลจะเปิดช่องให้นักลงทุนเรียกร้องเกินสิ่งที่ควรได้ หรือ ข้ามมาตรฐานความเป็นธรรมกับนักลงทุนกลุ่มอื่น รวมถึง ผู้เสียภาษีรายอื่น

มี 2 กรณีตัวอย่างที่หลายคนมองเรื่องความไม่เป็นธรรม ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีแรก คือ นักลงทุนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับสิทธิ์ส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ แต่กระทำผิดเงื่อนไขการชำระภาษีกรมสรรพากร พร้อมขอเรียกร้องให้รัฐแก้ไขเงื่อนไขให้มีภาระถูกลง พร้อมกับคำขู่ว่า จะถอนการลงทุนออกจากประเทศ จนเป็นข่าวใหญ่ตามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ

นักลงทุนกลุ่มนี้ จะต้องชำระภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ต่อกรมสรรพากรเป็นหลายพันล้านบาท แต่ท้ายสุด กระทรวงการคลังยอมผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระภาษี โดยขยายระยะเวลาการชำระภาษี พร้อมงดเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้ หวังให้นักลงทุนกลุ่มนี้ ไม่กระโตกกระตากย้ายฐานออกจากไทย

คำถาม คือ เมื่อนักลงทุนทำผิดเงื่อนไขการชำระภาษี จำเป็นแค่ไหน ที่ต้องผ่อนปรนมาตรฐานการชำระภาษี เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ ในขณะที่นักลงทุนหรือผู้เสียภาษีรายอื่นไม่กระทำผิดเงื่อนไขการชำระภาษี ส่วนที่กระทำผิดเงื่อนไข ก็ยอมจ่ายค่าปรับและเงินเพิ่มตามกติกา

อีกกรณี คือ มีผู้นำเข้าหรือนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง เรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์ ให้เหตุผลว่า ภาษีที่กรมจัดเก็บในอัตรากว่า 300% นั้น แพงเกินไป ทำให้ไม่มีเงินมาชำระภาษี เพื่อนำรถยนต์ที่เก็บไว้ในเขตปลอดอากรมานานนับจากปี 2552 จำนวนนับพันคันออกมาจำหน่ายได้

ด้านกรมศุลกากรเตรียมเสนอแนวทางแก้ไขกรณีดังกล่าว ให้ระดับนโยบายพิจารณา หนึ่งในแนวทาง คือ การลดภาษีตามข้อเรียกร้อง คำถาม คือ รัฐบาลจะใช้หลักการหรือเหตุผลใดมาลดภาษีให้นักลงทุนกลุ่มนี้ เพราะเมื่อนักลงทุนกลุ่มนี้ทราบดีอยู่แล้วว่า อัตราภาษีที่รัฐเรียกเก็บสำหรับรถยนต์นำเข้านั้น อยู่ในอัตราใด ซึ่งแน่นอนว่า เขาจะต้องส่งถ่ายภาระภาษีนี้ให้แก่ผู้บริโภค แต่เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการนำรถยนต์ออกจำหน่าย นักลงทุนจึงนำเรื่องภาษีแพงมาใช้เป็นข้ออ้าง

ผู้นำเข้าเหล่านี้ มีหน้าที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง หากอ้างภาระภาษีที่แพง และ ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ก็ควรที่จะนำสินค้าออกไปขายยังประเทศอื่น ส่วนกรมศุลกากรก็จะต้องออกกฎกติกา ในเขตปลอดอากรที่มีระยะเวลาในการจัดเก็บสินค้า เพราะปัจจุบัน ไม่มีกฎระเบียบนี้ ทำให้ผู้นำเข้านำสินค้ามาเก็บเพื่อรอการจำหน่ายนานเกินไป เนื่องจาก ภาระภาษีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ผู้ประกอบการเหล่านี้นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากร

แม้รัฐบาลจะเปิดทางหนุนนักลงทุนให้เข้าลงทุนในไทยอย่างเต็มที่ แต่กฎก็ต้องเป็นกฎ ใครที่ละเลย ก็ไม่ควรส่งเสริม เพราะถือเป็นธรรมาภิบาลที่นักลงทุนที่ดีเขามองอยู่