Top-down Spaceตอน ทำไมต้องมองภาพใหญ่?

Top-down Spaceตอน ทำไมต้องมองภาพใหญ่?

วิธีการวิเคราะห์แบบ Top-down หรือ การมองภาพใหญ่ ซึ่งภาพใหญ่ในที่นี้ ก็คือ การวิเคราะห์ และการพยายามเข้าใจกลไกของเศรษฐกิจระดับมหภาค

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ผม ชยนนท์ รักกาญจนันท์ เจ้าของนามปากกา“Mr.Messenger”ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นCo-Founderของ บลน. อินฟินิติ และ บริษัท ฟินโนมีนา ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่โลกของการลงทุน ในมุมมองที่มองจากข้างบนลงมา หรือที่นักลงทุนรู้จักวิธีการนี้ในชื่อว่า“Top-down Investing”นะครับ

วิธีการวิเคราะห์แบบ Top-down นั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า มองภาพใหญ่ ซึ่งภาพใหญ่ในที่นี้ ก็คือ การวิเคราะห์ แลการพยายามเข้าใจกลไกของเศรษฐกิจระดับมหภาค และโลกการเงินทั้งหมด ซึ่งคล้ายๆกับการต่อจิ๊กซอว์โดยเริ่มจากต่อกรอบทั้งสี่ด้านให้ครบ แล้วค่อยๆหาคำตอบที่อยู่ตรงกลางไปเรื่อยๆ

ไล่เรียงจากเศรษฐกิจมหภาค ว่า ฟื้นตัว หรือ ขยายตัวจากภาคส่วนใดของธุรกิจ แล้วจึงเจาะลึกในรายอุตสาหกรรมว่า อุตสาหกรรมใดที่โดดเด่น อุตสาหกรรมใดที่ควรหลีกเลี่ยงในการลงทุน นี่คือ วิธีการวิเคราะห์ Top-down แบบที่เราเข้าใจ

จริงๆแล้ว วิธีการวิเคราะห์แบบมองจากบนลงล่าง ฟากพิจารณาแค่เศรษฐกิจมหภาค หรือ พื้นฐานของประเทศนั้นๆเพียงอย่างเดียวแล้ว มักจะนำไปสู่กลยุทธ์การลงทุนได้ค่อนข้างยาก ยิ่งในยุคหลังวิกฤตแฮมเบอเกอร์ ที่ธนาคารกลางทั้งหลายต่างอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ จนทำให้ปริมาณเงินมีมากขึ้น
ในขณะที่เศรษฐกิจของโลกนั้นกลับเติบโตได้ในระดับต่ำเช่นนี้ การเคลื่อนไหวเงินทุนเสรี ก็ทำให้เงินเคลื่อนที่และแสวงหาผลตอบแทนในระยะสั้นมากขึ้น เกิดเป็นความผันผวน และความเสี่ยงในการลงทุนตามมา หากวิเคราะห์เพียงแค่ปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นรายตัว หรือ การลงทุนแบบ จัดพอร์ตการลงทุนทั่วโลก (Global Asset Allocation) ก็จะพบว่า บางครั้ง ช้าเกินไป และไม่ทันต่อเหตุการณ์

ดังนั้น โดยหลักการวิเคราะห์แบบTop Down Investingณ ปัจจุบันนั้น ตัวผมเอง ใช้การวิเคราะห์ใน มุมมองด้วยกัน นั้นก็คือ1.Fundamental 2. Fund Flowและ3. Technical (หลักการนี้ ขอเรียกตัวย่อว่าFFT)

Fundamental ก็อย่างที่บอกไปแล้วนะครับ คือ การวิเคราะห์ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจของโลกว่า โตได้จากปัจจัยใด อะไรคือความเสี่ยง ที่ไหนโตดีกว่าที่ไหน มุมมองนโยบายการเงิน การคลัง แล้วค่อยเจาะไปในรายอุตสาหกรรมอีกที ซึ่งภาพตรงนี้ จะเป็นการต่อจิ๊กซอว์กับนักลงทุนที่วิเคราะห์แบบ Bottom-up ให้สามารถหาธุรกิจแห่งอนาคต ได้จากการมองหาในภาพกว้างๆแบบนี้ได้เช่นกัน

Fund Flow หรือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการพิจารณาการลงทุนไม่แพ้กัน มีการกล่าวกันว่า สำหรับนักลงทุนต่างชาติแล้ว กำไรที่สำคัญที่สุดในการไปลงทุนที่ใดก็แล้วแต่ ที่แรกที่ต้องกำไรก็คือ Foreign Exchange (FX) ซึ่งถือเป็นแหล่งกำไรหลัก (Source of Return)ของเงินลงทุนต่างชาติที่สำคัญที่สุด ประเด็นคือ การเคลื่อนนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น และรวดเร็วมากขึ้น บนข้อมูลข่าวสารที่มากมายมหาศาลเช่นนี้ การที่เราจะดูปัจจัยพื้นฐานเพื่อจับสัญญาณ และวิเคราะห์ออกมาเป็นกลยุทธ์ อาจไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ดังนั้น การตามกลิ่นการเคลื่อนย้ายเงินทุนเลยตรงๆ ก็เป็นทางลัดที่นักลงทุนต่างชาติ เหล่ากองทุน Pension Fund, Sovereign Wealth Fund หรือพวก Hedge Fund ต่างก็มีการวิเคราะห์ Fund Flow เช่นเดียวกัน ดังนั้น มันคงจะดีไม่น้อย ถ้าเรารู้ว่า นักลงทุนเหล่านี้เขาใช้เครื่องมือตัวใดในการจับสัญญาณ Fund Flow ที่ว่า

Technical หรือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค ถือเป็นเครื่องมือที่ได้รับกันในวงกว้างมากขึ้น หลังจากมีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในแนวทางนี้จำนวนไม่น้อย ในมุมมองของผม เมื่อพื้นฐานดี เงินทุนไหลเข้า สิ่งที่ต้องตามมาด้วยก็คือ แนวโน้มของการเคลื่อนไหวของราคาต้องชัดเจนตามมา ดังนั้น ผมมักใช้Technicalเป็นตัวยืนยัน 2Fข้างบน อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่า สินทรัพย์ประเภทนั้นๆที่เราสนใจ กำลังจะวิ่งไป หรือปรับฐานลงอย่างที่เราคิดจริงๆ ซึ่งในหลักการเบื้องต้นนั้น ผมมองว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้จักเครื่องมือ Technical Analysis ให้หมดทุกชนิด เพียงแต่ต้องรู้ เท่าที่ควรรู้ ซึ่งมีอะไรบ้างในบทความตอนต่อไป ผมยินดีจะแชร์มุมมองจากประสบการณ์ตัวเอง และที่ได้ร่ำเรียนมาจากเฮียกู (Google) ให้ได้อ่านกันอีกที

เตรียมพร้อมเข้าสู่โลก Top-down Space ย่อโลกมาอยู่ในมือคุณ แล้วสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้วยตัวคุณเองกันครับ