เม็ดกรวดในรองเท้า

เม็ดกรวดในรองเท้า

“It’s not the mountain that wears you out, it’s the pebble in your shoe.” Muhammad Ali

อุปสรรคสำคัญของมนุษย์ ในการเดินทางสู่เป้าหมาย

หลายครา หาใช่อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ดั่งเช่นขุนเขา

แต่กลายเป็นประเด็นปัญหาย่อยๆ

ที่ต้องประสบและแก้ไขในระหว่างทาง

เฉกเช่นเม็ดกรวดในรองเท้า

Muhammad Ali แชมป์มวยสากลระดับตำนาน ฟันธงไว้ให้เราเอาเป็นเยี่ยงอย่างข้างต้นค่ะ

คนส่วนใหญ่ที่ไปไม่ถึงฝันอันยิ่งใหญ่

เป็นเพราะเขายอมแพ้ เพราะย่อท้อต่ออุปสรรครายวัน

ที่ทำให้การเดินทางไม่ราบรื่น

เปรียบเสมือนมีเม็ดกรวดเม็ดทรายในรองเท้า

เดินไปๆนานเข้า นอกจากระคายเคืองแล้ว

ยังทำให้เกิดแผลพอง เลือดซิบได้

...แต่แผลนี้ยังไกลหัวใจนัก

และที่สำคัญ เม็ดทรายไม่หนักหนาดั่งปัญหาแบบภูเขาใหญ่

เพราะมีวิธีขจัดได้ไม่ยาก ไม่เกินความสามารถเราๆแน่นอน

อาทิ ก่อนสวมใส่รองเท้าในแต่ละวัน ใส่ใจเช็ดทำความสะอาด

(ทุกวัน “ตั้งสติก่อนสตาร์ท” มุ่งมั่นทำเฉพาะสิ่งดีๆที่เป็นประโยชน์)

หรือ ยอมหยุดนั่ง ถอดรองเท้า เพื่อเทเม็ดทรายที่ทำให้ระคายเคือง..เรื่องจิ๊บๆ

(ยอมเสียเวลา แก้ปัญหาเล็ก ก่อนที่จะลุกลามบานปลาย)

หรือ แม้แต่ลงทุนซื้อหารองเท้าคู่ใหม่ หากคู่เก่าเขามีรู ทำให้ทรายไหลเข้า..เอาไม่อยู่

(อะไรไม่ work ต้องตัดเป็น ไม่เสียน้อยเสียยาก จนลำบากในระยะยาว)

วันนี้ ดิฉันชวนท่านผู้อ่านลองพิจารณาชีวิตของเรา ว่า พกพา “เม็ดทราย” อะไรไว้บ้าง

ที่ทำให้ระคายเคือง เป็นเรื่องให้ทั้งท้อ ทั้งล้า และเป็นปัญหาค้างๆ คาๆ ที่หากสะสมทิ้งไว้ จะใหญ่ขึ้นทุกวัน

อาทิ พฤติกรรมที่ต้องปรับ เพราะส่งผลให้ไม่มีเวลาแก้ปัญหาสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นตื่นสาย ไปทำงานไม่ทัน,

วันๆใช้เวลากับการเช็ดข่าว เข้า Line ใช้ Facebook อย่างงอมแงม,

แถมคบเพื่อนที่ทำตัวประหนึ่งศัตรู แทงข้างหลังทุกครั้งที่เผลอ,

หรือ ผัดวันประกันพรุ่ง จนงาน “รอระบาย” ไม่ไหว

ถมท่วมทับจนไม่รู้จะหยิบจับสิ่งใด...แพ้ภัยตนเองในที่สุด

วันนี้มาดู 2 วิธีขจัดกรวดทรายกันค่ะ

ประยุกต์ใช้วิชาไคเซ็น Kaizen

อาจารย์ James Kerr ถ่ายทอดในหนังสือดัง ชื่อ Legacy

Kaizen คือ การพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องรอเรื่องใหญ่ เก็บให้ได้แม้ทีละเล็กทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป

ใช้หลักการเดียวกัน เล็งไปที่ประเด็นทั้งหลายที่เป็นปัญหาคาใจในชีวิตประจำวัน และตั้งใจปรับปรุงทีละน้อย จะส่งผลให้รองเท้าเราเบาสบายขึ้น

ยิ่งผู้นำที่ต้องดูแลทีม หากสามารถระดมพลังช่วยกัน “พัฒนา 100 สิ่ง เพียงแค่อย่างละ 1%” ย่อมต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงดีๆที่สั่งสม

ที่สำคัญ 1% ทำได้ไม่ยาก ไม่ไกลเกินเอื้อม จนเอือมตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม

หัวใจ คือ ต้องทำสม่ำเสมอ ไม่เผลอให้มี “เม็ดทราย” กล้ำกรายมาใหม่

ไม่ว่าใครจะประสบความสำเร็จเท่าใด

ก็ยังมีเม็ดทราย ที่คอยจ้อง ขอเข้าครอบครองพื้นที่ในชีวิตเรา

จึงไม่มีใครสำคัญหรือยิ่งใหญ่ จนไม่ต้องกวาดเม็ดทรายในบ้านตน

ย้ายเฟอร์นิเจอร์

ของอาจารย์ Brian Tracy เจ้าของหนังสือขายดี Focal Points

จินตนาการห้องพักของเราที่อยู่มานานปี

ย่อมมีสิ่งสกปรก มีของรกๆ ที่สะสมไว้ แม้จะไร้ประโยชน์ หรือ กระทั่งเป็นโทษต่อการอยู่เย็นเป็นสุขในห้องนี้

กรุณาหาฤกษ์งามยามดี

ย้ายทุกสิ่งออกนอกห้อง ทุกตู้ ทุกโต๊ะ ทุกลิ้นชัก ทุกสิ่งที่แตกหักแล้ว แต่ก็ยังเสียดาย

ย้ายออกให้หมด จนเหลือห้องเปล่า!

แล้วเลือกยกกลับเฉพาะแต่ที่จำเป็น ที่เห็นประโยชน์

ห้องเราต้องอยู่สบาย หายใจสะดวกขึ้นอย่างไม่มีข้อสงสัย

วิธีนี้เรียกว่า Zero-Based Thinking ตั้งหลักใหม่ที่ศูนย์

เอาพฤติกรรม นิสัยที่เราสั่งสมไว้ทั้งหมดออกมากอง เรียงรายให้มองเห็นชัด

จากนั้นจัดค่ะ!

อยากเก็บอะไร อยากละอะไร เลือกอย่างใช้สติ

โดยถามตนเองว่า “มีพฤติกรรมใดบ้างหนอ ที่เราสะสมไว้ ทั้งอย่างตั้งใจ และไม่ตั้งใจ

แต่เมื่อคิดได้ใหม่ เห็นกระจ่างขึ้นในวันนี้ รู้ดีว่าหาประโยชน์มิได้

แถมเป็นภาระ เป็นภัยแฝงดั่งเม็ดทราย”

อาทิ ตู้ใบใหญ่ ที่มีไว้ใช้นินทาเพื่อนร่วมงานและเจ้านายแบบเจาะจงเฉพาะกิจ

คิดได้..กรุณาไม่เอากลับเข้าห้อง

ทิ้งไป ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์ !