อุตฯประมงเวียดนาม 5 ปีข้างหน้ากับโอกาสธุรกิจไทย

อุตฯประมงเวียดนาม 5 ปีข้างหน้ากับโอกาสธุรกิจไทย

เวียดนามมีชายฝั่งทะเลยาว 3,260 กม.และมีแม่น้ำอยู่ 2,860 สาย ในขณะที่เมียนมามีชายฝั่งทะเลยาว 3,000 กม.

 แบ่งเป็นชายฝั่งทะเลรัฐยะไข่ยาว 740 กม. ชายฝั่งทะเลเขตอิระวดี (Ayeyarwaddy Region) ยาว 460 กม. และยาวระยะทาง 1,200 กม.ที่เขตตะนาวศรี (Tanintharyi Region) ส่วนทะเลไทยมีความยาว 2,614 กม. ในขณะที่อินโดนีเซียมีชายฝั่งทะเล 50,000 กม. สำหรับเวียดนามจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการทำประมงและอุตสาหกรรมประมงจึงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการผลิตร้อยละ 6 ของ GDP (ปี 2015 GDP เท่ากับ 191 พันล้านดอลลาร์)

ผมได้ไปจังหวัดเกิ่นเทอ (Can Tho) ที่ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม (Mekong Delta River : MDR) เพื่อเก็บข้อมูลอุตสาหกรรมประมงของเวียดนาม จากโฮจิมินห์ถึงจังหวัดเกิ่นเทอ ผมใช้ระยะเวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง (ระยะทางจากโฮจิมินห์สู่เมืองเกิ่นเทอ 220 กม.) ต้องผ่าน 3 จังหวัดคือ Long An, Tien Giang และ Vinh Long ตลอดการเดินทางถนนเป็นลาดยางสี่เลน สองข้างทางมีการปลูกมะพร้าว (ปลูกมากที่สุดของประเทศในจังหวัด Tien Giang และ Bentre ซึ่งเป็นจังหวัดทางผ่านไปเกิ่นเทอ) กล้วย และทุ่งนา

ศักยภาพของการทำประมงในปี 2015 เวียดนามจับสัตว์น้ำได้ 6 ล้านตัน เป็นสัตว์น้ำเลี้ยง (Aquaculture) 4 ล้านตันและสัตว์น้ำทะเล 2 ล้านตัน และส่งออกเป็นมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนไทยส่งออกมูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์ และอินโดนีเซียส่งออกมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ แต่สามารถจับสัตว์น้ำรวมได้มากถึง 18 ล้านตัน บริเวณ MDR มีเนื้อที่ 40,000 ตร.กม. (The Mekong River Commission Secretariat บอกว่ามีพื้นที่ 65,500 ตร.กม.) ครอบคลุม 12 จังหวัดๆ มีที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดก็คือจังหวัดเกิ่นเทอ ปี 2015 มีประชากร 1.2 ล้านคน (ประชากรทั้งหมดของ MDR มี 17 ล้านคน ใน 12 จังหวัดจึงมีประชากรเฉลี่ยจังหวัดละ 1 ล้านกว่าๆ)

MDR มีศักยภาพผลิตสัตว์น้ำได้ถึงร้อยละ 60 ของการผลิตทั้งประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 62 ของการผลิตใน MDR สัตว์น้ำส่วนใหญ่เป็น “ปลาดอลรี่ (Pangasius) ซึ่งในเวียดนามเรียกว่า “ปลาสวาย และกุ้ง” ตลาดส่งออกหลักๆ คือสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรปและรัสเซีย

ผมได้เก็บข้อมูลที่บริษัทแห่งหนึ่งที่เป็นของคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 1997 ในนิคมอุตสาหกรรม Tra Noc 1 Industrial Zone ซึ่งมีตำแหน่งที่ตั้งค่อยข้างดี โดยห่างจากตัวเมืองเกิ่นเทอ 10 กม. ห่างจากท่าเรือเกิ่นเทอ 3 กม. ห่างจากสนามบินเกิ่นเทอ 2 กม. ได้รับอนุมัติการลงทุนเมื่อปี 1997 จาก Ministry of Planning and Investment (MPI) เพื่อลงทุนในอาหารทะเลเพื่อส่งออกและบริโภคในประเทศด้วยเงินลงทุน 12 ล้านดอลลาร์ (ตามกฎหมายกำหนดไว้ที่ 4 ล้านดอลลาร์) ได้รับสัมปทานการเช่าที่ดิน 50 ปี

โรงงานแห่งนี้มีการจ้างแรงงาน 900 คน ที่ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ เวลา 08.00 ถึง 17.00 น. มีกำลังการผลิตกุ้ง 3.5 ตัน/วัน เนื้อปู 6 ตัน/วัน และปลาแมคคาเรล 25 ตัน/วัน โดยวัตถุดิบร้อยละ 90 ใช้จากเวียดนาม ที่เหลือเป็นการนำเข้ากระป๋องนำเข้าจากไทยผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง-โฮจิมินห์ (เนื่องจากที่เวียดนามมีโรงงานผลิตกระป๋องขนาดเล็ก ขนาดไม่หลากหลาย ไม่มีคุณภาพ) ส่วนซอสมะเขือเทศนำเข้าจากจีน ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งไปยุโรป 100% ยกเว้นปลากระป๋องที่ส่งไปไทย 70% ที่เหลือขายในเวียดนาม

จุดแข็งในการลงทุนอุตสาหกรรมประมงในเวียดนามหลักๆ น่าจะเป็นคือเป็นแหล่งวัตถุดิบ แรงงานพร้อม สิทธิพิเศษ GSP ไปยุโรป และค่าแรงงานขั้นต่ำจ่ายกันที่ 3,100,000 ด่อง + 7% + 24% (ค่าประกันสังคมและสุขภาพ) เท่ากับ 6,852 บาทต่อเดือน (26 วัน) แต่มีปรับขึ้นทุกปีประมาณ 12-13% อีก ในอนาคตอันใกล้นี้จะไม่ใช่ข้อได้เปรียบอีกต่อไป (3 ปีข้างหน้าจะเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำของไทย) อีกส่วนหนึ่งปัญหาคือปริมาณการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปลาหมึกและปู ส่วนการผลิตเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมและปลาสวายตามที่เวีดยนามคาดว่าจะสามารถผลิตได้ใน 5-10 ปีข้างหน้า

สำหรับนโยบายอุตสาหกรรมประมงของเวียดนามในปี 2020 นั้นพบว่ารัฐบาลยังสนับสนุนให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยให้เพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 7 ล้านตัน ให้มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 11,000 ล้านดอลลาร์ โดยหลักๆ ยังเน้นสินค้าประมงแช่แข็งมากกว่าการแปรรูป แต่ยังคงผลักดันให้การแปรรูปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังเร่งเพิ่มศักยภาพในการจับสัตว์ของชาวประมงให้สูงขึ้นกว่าเดิมอีกร้อยละ 50 และยังส่งเสริมเกษตรกรมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ โดยผ่านการใช้เทคโนโลยี่และเครื่องมือที่ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนเมษายน 2559 เวียดนามได้เจอปัญหา “ปลาตายครั้งใหญ่จำนวนหลายล้านตัว คิดเป็น 100 ตัน ตามชายฝั่งทะเลยาว 200 กม. ตามชายฝั่งทะเลจังหวัดตอนกลาง เช่น ฮาตินห์ กวางตรี และกวางบิน จนชาวบ้านประท้วงว่าเป็นเพราะสารเคมีที่ปล่อยโรงงานถลุงเหล็กของบริษัท Formosar Ha Tinh Steel ของไต้หวันเป็นต้นเหตุบริษัทนี้ตั้งที่ “the Vung Ang Economic Zone” จนถึงวันนี้รัฐบาลเวียดนามก็ยังไม่ได้แถลงว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นให้ตลาดยุโรปเริ่มไม่เชื่อมั่นการทำประมงของเวียดนาม ว่าเป็นการเลี้ยงที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ (ปี 2558 เวียดนามส่งออกอาหารทะเลไปยุโรปปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์ ไทยส่งออก 500 ล้านดอลลาร์)

คำถามที่สำคัญคือ “โอกาสของธุรกิจประมงของไทยในเวียดนามในอนาคตมีมากน้อยแคไหน” ต้องแยกพิจารณาดังนี้ครับ สำหรับธุรกิจปลาแช่แข็งและกุ้งแช่แข็ง (Frozen Fish and Shrimp) ปัจจุบันนักธุรกิจต่างชาติและเวียดนามก็ทำอยู่ เราเข้าไปทำแข่งอีกโอกาสน่าจะน้อย สำหรับโอกาสของนักธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมประมงแช่แข็งน่าจะเป็นเรื่องบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เพราะไทยมีศักยภาพทางด้านนี้มากกว่าเวียดนาม สามารถเข้าไปร่วมทุนกับนักธุรกิจเวียดนาม แต่ขึ้นกับว่านักธุรกิจเวียดนามต้องการจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับภาพลักษณ์ของสินค้าที่ไปต่างประเทศหรือไม่ นอกจากนี้ให้เวียดนามเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบสัตว์ทะเลแช่แข็งส่งไปแปรรูปในประเทศไทย

ทั้งนี้ต้องคิดต่อว่าระหว่าง “เข้าไปลงทุนในเวียดนามกับการส่งสัตว์น้ำกลับประเทศไทยอะไรก็ดีกว่ากัน ส่วนธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปอันนี้ผมว่าเราน่าจะมีโอกาส 100% เพราะเวียดนามไม่เก่งด้านการแปรรูปในทุกประเภทอุตสาหกรรม (ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปทะเลของไทยติดอันดับ 1 ของอาเซียน) ปัจจุบันโรงงานที่ทำอยู่ส่วนใหญ่เป็นปลากระป๋องและเนื้อปูใส่กระป๋อง แต่การแปรรูปอาหารทะเลด้านอื่นๆ เช่น สัตว์น้ำชุบแป้ง ชุบขนมปังหรือแปรรูปในรูปแบบอื่นๆ หากนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนก็เป็นโอกาสครับ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษคือจำนวนสัตว์น้ำในอนาคตของเวียดนามว่าสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตเป็นไปตามแผนหรือไม่ โรงงานอาหารทะเลแปรรูปต่อไปที่ผมได้เข้าไปเก็บคือโรงงานผลิตปลาหมึกกรอบที่ไปขายในเมืองไทย เป็นการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยกับเวียดนามสัดส่วน 49 ต่อ 51 แต่ความจริงเป็นของนักธุรกิจไทย 100% มีพนักงานประมาณ 30-40 คน

โดยทั้งอุตสาหกรรมนี้พบว่าสัดส่วนร้อยละ 80% นั้นมาจากเวียดนามส่วนที่เหลือมาจากประเทศไทย โดยทำเป็นปลาหมึกบดและส่งไปปรุงรสและบรรจุกล่องในเมืองไทย ส่งออกราคาต่อกล่องที่มีน้ำหนัก 8 กก. อยู่ที่ 6,300 บาท หรือ 1 กรัมเท่ากับ 0.7 บาท แต่ราคาขายที่เมืองไทย 60 กรัมเท่ากับ 175 บาท แสดงมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 200 % โดยปลาหมึกมาจากร้อยละ 60 มาจากจังหวัด Kien Loung ที่ติดกับประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นจังหวัดที่มีปลาหมึกสวยสุดและแพงสุดในเวียดนาม ปลาหมึกบดที่ผลิตนี้เพื่อส่งออกไปไทย 100%

โอกาสของธุรกิจไทยจะทำในธุรกิจนี้ก็ยังมีครับ ความเสี่ยงคือวัตถุดิบปลาหมึกที่นับวันจะหมดลงไปทุกที ผมประเมินว่าไม่เกิน 10 ปีปลาหมึกเวียดนามน่าจะหมดครับ