แรงงานเมียนมาเข้าเมืองผิดกฎหมาย: อุปสรรคเชิงนโยบาย

แรงงานเมียนมาเข้าเมืองผิดกฎหมาย: อุปสรรคเชิงนโยบาย

ปัจจุบันแรงงานเมียนมามีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาคบริการ รวมทั้งเกษตร ประมง และก่อสร้าง

โดยกลุ่มที่มีสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมายราว 1 ล้านคน ทำงานอยู่ใน 2 อาชีพ คือกรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน แต่ยังมีแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่ปรากฏข้อมูลชัด โดยที่โอกาสทางเศรษฐกิจของไทยยังดูดีอยู่สำหรับการดึงดูดแรงงานเมียนให้เข้ามาอีกมาก

ในช่วงปีนี้มีกระแสวิพากษ์เกี่ยวกับแรงงานเมียนมา หลังจากภาคการส่งออกของไทยซบเซาเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับความกังวลการไหลกลับของแรงงานเมียนมา ทำให้เศรษฐกิจเมียนมาหลังเลือกตั้งมีทิศทางดีขึ้น โดยเฉพาะการมาเยี่ยมแรงงานเมียนมาในไทยของนางอองซาน ซูจี ล่าสุด ได้สร้างแรงกระเพื่อมพอสมควร

สำหรับข้อเสนอแนะของแรงงานเมียนมาต่อรัฐบาลไทย ที่มาจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) ร่วมกับเครือข่ายแรงงานเมียนมาในไทย ซึ่งเกี่ยวกับการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำและสิทธิแรงงานที่เสมอภาคกัน รวมทั้งประเด็นพิธีการพิสูจน์สัญชาติและอื่นๆ นั้น ยังต้องหาข้อสรุปและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกฎระเบียบของไทย

ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการดูแลแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติม การเข้าถึงสิทธิที่เกี่ยวกับสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ถือเป็นหลักตามข้อตกลงพื้นฐานสากล และต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติกับแรงงานทุกชาติ ซึ่งหลายๆ อย่างได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การซื้อสิทธิประกันสังคม การให้สิทธิในการศึกษากับเด็ก

ด้านกลุ่มที่มีสถานะถูกกฎหมายดูจะไม่เป็นปัญหานัก โดยกลุ่มที่เป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของสังคมมากที่สุดคือ กลุ่มแรงงานที่ยังมีสถานะผิดกฎหมายอยู่ ซึ่งเราจะดูแลและจัดการคนเหล่านี้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาทั้งเศรษฐกิจและสังคม ยังเป็นเรื่องต้องทำความเข้าใจและพูดคุยกับคนไทยอีกมาก

ขณะที่การแก้ปัญหาแรงงานเมียนมาที่เข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งเป็นต้นตอของอุปสรรคเชืงนโยบายและน่าเป็นห่วงในยุคที่ทุนเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีการลักลอบเข้าเมืองด้วยวิธีการต่างๆ นั้น กลับนำไปสู่การทำงานที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถูกเอาเปรียบ เกิดกรณีพิพาท มีการหลบซ่อนเพื่อแอบเข้ามาแย่งงานคนไทย สร้างปัญหาสังคม เกิดปัญหาการจับคู่ระหว่างความต้องการแรงงานและอุปทานแรงงานต่างด้าวที่จะถูกนำเข้ามาโดยตลอด สร้างความเสียหายให้กับทุกฝ่าย

นอกจากนี้ การอนุญาตให้แรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายมาลงทะเบียน เพื่อพิสูจน์สัญชาติเข้าทำงานชั่วคราวก็มีการดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมาย คือ ต้องการจะให้แรงงานเมียนมากลับไปยังประเทศของตนหลังจากระยะเวลาอนุญาตให้ทำงานหมดลง แล้วให้ดำเนินการขออนุญาตเข้าเมืองมาใหม่เพื่อมาทำงานอย่างถูกกฎหมาย แต่ปัญหาใหญ่คือ แรงงานกลุ่มนี้มีจำนวนมากและกระจายทั่วประเทศ ปัจจัยเรื่องการบริหารจัดการที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องของการทำงาน โอกาสที่จะกลับมาไทย ล้วนเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ล่าสุดกรมการจัดหางานผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวยื่นรายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่จนถึง 29 กรกฎาคม 2559 แม้รัฐบาลจะพยายามสนับสนุนช่องทางผ่านการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างทางการไทยกับเมียนมาโดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐมากขึ้น แต่การใช้ประโยชน์จากช่องนี้ยังน้อยอยู่ โดยตัวเลข ณ พฤษภาคม 2559 มีแรงงานเมียนมาที่ถูกนำเข้ามาช่องทางนี้เพียง 150,000 คน

โจทย์สำคัญของรัฐบาลไทยและเมียนมาในระยะยาวคือ 1) การหามาตรการที่จะช่วยลดจำนวนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ให้ระบุความต้องการแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน มีการอบรมก่อนทำงานและติดตามควบคุมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง คำนึงความปลอดภัย ทำสัญญาที่เป็นธรรมและช่วยเหลือกรณีพิพาท ในการทำงานให้ครบวงจร 2) เพิ่มประสิทธิภาพหรืออัตราใช้ประโยชน์จากช่องทางทำเอ็มโอยูระหว่างทางการไทยกับเมียนมาแบบรัฐต่อรัฐมากขึ้น 3) ทำให้ถูกตั้งแต่ต้นทาง ฝั่งเมียนมาต้องปรับตัวจัดระบบการจ้างงานให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะเข้ามาในไทย มีการอบรมด้านกฎหมาย สิทธิ วิธีการทำงานร่วมกับคนไทย พัฒนาฝีมือเป็นมาตรฐานและตรงตามความต้องการของนายจ้างไทย

ท้ายที่สุด ในการเดินทางมาเยี่ยมแรงงานเมียนมาของนางอองซาน ซูจี จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้สถานการณ์การแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การได้มาซึ่งแรงงานที่มีคุณภาพ และการบริหารจัดการแรงงานทั้งในไทยและเมียนมามีทิศทางดีขึ้น

----------------------

ถิรภาพ ฟักทอง

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์