ลุ้นดัชนี 1,500 จุดไตรมาส 3

ลุ้นดัชนี 1,500 จุดไตรมาส 3

ไตรมาส 2 ปีนี้กำลังจะสิ้นสุดลง นักลงทุนในตลาดหุ้น

ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความปั่นป่วนของตลาดเงิน ตลาดทุนและทองคำ ซึ่งการลงทุนสินทรัพย์แต่ละประเภทมีความตื่นเต้นไม่น้อย โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

หากพิจารณาข้อมูลจะพบว่าไตรมาส 2/59 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.18% แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Brexitที่สังคมกำลังเกาะติดกันอย่างใกล้ชิด เพราะหวั่นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป

จากการประเมินความคิดเห็นส่วนใหญ่เชื่อว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จะมีผลกระทบการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น และนักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไป แต่หวั่นไหวได้พอควร 

เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า กรณีการลงประชามติการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ ส่งผลกระทบทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในระยะสั้น

รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การลงมติแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป มีผลกระทบระยะสั้นในเรื่องความผันผวนของตลาดเงินของอังกฤษและภูมิภาคอื่น ๆ เป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบไปถึงความเชื่อมั่นของตลาดทุน สำหรับผลกระทบระยะสั้นที่มีต่อตลาดทุนไทย ก.ล.ต. ยังคงมองว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้กระทบปัจจัยพื้นฐานของ บจ. ไทยโดยตรง

ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า กรณี Brexit กระทบกับตลาดหุ้นไทยน้อยมาก เนื่องจากไทยมีการส่งออกไปอังกฤษเพียง 1.8% แต่เชื่อว่าจากกรณีดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินจากยุโรปจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยเพราะปัจจุบันเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยถือว่าน้อยสุด เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น จึงทำให้เม็ดเงินต่างชาติจะไหลกลับเข้ามา แต่คาดว่าตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน โดยมองว่าดัชนีปีนี้ไม่เกิน 1,500 จุด เนื่องจากยังมีปัจจัยการเมืองในประเทศคอยกดดัน และเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า

นอกจากนี้ได้แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ประกอบด้วย หุ้นบีซีเอช, หุ้นโรบินสัน,หุ้นซีพีออลล์,หุ้นซีฟโก้,หุ้นช.การช่าง ขณะที่หุ้นที่หลีกเลี่ยงการลงทุน หุ้นไทยยูนี่ยน ,หุ้นไอวีแอล,หุ้นเคซีอี,หุ้นเอสวีไอ,หุ้นเดลต้า อย่างไรก็ตามหากพิจารณาราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวช่วงเดือนมิ.ย.พบว่าราคาหุ้นสะท้อนไปในระดับหนึ่งแล้ว 

ขณะที่บล.ทรีนีตี้ให้มุมมองที่น่าสนใจคือไตรมาสที่ 3 ที่กำลังจะถึงนี้คาดว่า ดัชนีมีโอกาสไต่ระดับขึ้นไปทดสอบเป้าหมายดัชนีปีนี้ที่ 1500 จุด ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมตามโมเดล Earning yield gap ของฝ่ายวิจัยประเมินบรรยากาศการลงทุนในไตรมาสที่ 3 จะยังคงผ่อนคลายหลังประเด็น Brexit มีความชัดเจนมากขึ้น และคาดว่าอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดจะเริ่มเปลี่ยนจากภาวะ “Brexit Fear” มาเป็น “Central Bank Hope” มากขึ้น สำหรับความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ความผันผวนทางปัจจัยการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และภาวะ Bond shock ที่อาจเกิดขึ้นหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวสูงขึ้นฉับพลัน