ตัดสินใจอย่างไรให้ขาด

ตัดสินใจอย่างไรให้ขาด

ดิฉันได้มีโอกาสเรียนรู้จาก Dr. Dan Ariely อาจารย์คนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมแห่งมหาวิทยาลัย Duke

เจ้าของหนังสือขายดี เรื่อง Predictably Irrational ที่มีชื่อไทยว่า พฤติกรรมพยากรณ์

เราคุยกันถึงหนึ่งเรื่อง ที่มักเป็นประเด็นปัญหาค้างคาใจสำหรับทั้งผู้บริหาร หัวหน้า และมนุษย์สามัญธรรมดาทั่วไป

ในฐานะครูด้านการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ เราต่างได้ยินคำถามจากผู้เข้าอบรมคล้ายกัน

ตัดสินใจอย่างไรให้ไม่พลาด?”

ก่อนอื่นใด ปัญหาอาจอยู่ที่คำถามนี้ ย้ำอีกประเด็นที “ตัดสินใจอย่างไรไม่ให้พลาด?!”

ซึ่งชี้นำให้คำตอบไปในทิศทางว่า ต้องหาข้อมูลให้ครบถ้วน 100%, ต้องหารือผู้เชี่ยวชาญทุกท่านและทุกคนที่เกี่ยวข้อง, ต้องใช้เวลา, ต้องวิเคราะห์เพิ่ม... ฯลฯ

ผลคือ..

ตัดสินใจไม่ทันท่วงที

หรือ มีโอกาสไม่ตัดสินใจเสียที..สูงยิ่ง

ดังนั้น การชั่งใจ ใช้เวลาใคร่ครวญประเด็นปัญหาที่ต้องการการตัดสินใจ ให้กระจ่าง ถือเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญยิ่ง

อาทิ “จะเลือกใครเป็นคู่ครองดี?” แนวทางการหาข้อมูล ทางเลือก และการตัดสินใจ ก็จะไปทางหนึ่ง

แต่หากถามตัวเองใหม่ ใคร่ครวญอีกที ประเด็นปัญหาที่ต้องมีการตัดสินใจ อาจเปลี่ยนไปเป็น

“จะแต่งงานดีไหม?”

ทางเลือกให้ตัดสินใจ จะไปคนละทาง ห่างกันคนละทิศ กับการขบคิดปัญหาว่า “จะเลือกใคร”!

ฉันใดฉันนั้น คำถาม ตัดสินใจอย่างไรไม่ให้พลาด?

อาจต้องปรับเป็น “ตัดสินใจอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล?”

เพราะ “ตัดสินใจอย่างอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล” เป็นไปได้

แต่ “ตัดสินใจอย่างอย่างไม่พลาด” อาจทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ

เพราะ.. สี่เท้ายังรู้พลาด แถมเราๆก็ห่างการเป็นปราชญ์นัก

ดังนั้น การตัดสินใจที่ ดีพอเพียงหรือ “Good enough” วันนี้ ณ วินาทีนี้ อาจดีกว่าการตัดสินใจแบบไร้ที่ติ ในอีก 3 วัน หรือแม้อีก 3 วินาทีข้างหน้า

เนื่องจาก บางปัญหารอเราตัดสินใจไม่ไหว คนไข้ขาดใจไปก่อน หรือ อุบัติเหตุเกิด จนร่างคนเกลื่อนถนน เพราะคนทำหน้าที่ขับขี่ ตัดสินใจช้าไป 3 วินาที

ความสามารถในการตัดสินใจ แม้ไม่มีข้อมูล 100% ถือเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งสำหรับทั้งผู้บริหาร หัวหน้างาน และคนทั่วไป

เพราะเราต่างมีเรื่องทั้งเล็กและใหญ่ ที่ต้องพินิจพิจารณาตัดสินใจ ไม่เคยเว้นแต่ละวัน

ดิฉันถามอาจารย์ว่า ถ้าขอคำแนะนำให้ผู้อ่าน 1 ข้อ เพื่อช่วยการตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น อาจารย์จะแนะนำว่าอย่างไร

อาจารย์ฟันธงว่า กรุณา “take the outside perspective” หรือ มองจากมุมข้างนอก

หลายครั้งที่เราตัดสินใจไม่ได้ หรือไม่ดีเท่าที่ควร เป็นเพราะเราจมปลักอยู่กับอารมณ์รัก โลภ โกรธ หรือ หลง ทำให้ปลงไม่ตก หรือ สถานการณ์ประชิดรอบตัว บังตาจนมัว มองประเด็นได้ไม่กระจ่าง

ดังนั้น การตัดสินใจของเราจะมีคุณภาพขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย หากเราถอยห่างจากสถานการณ์ และลอยตัวอยู่เหนืออคติของตัวตน ตลอดจนละอารมณ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ยามมีสติดี

เทคนิคง่ายๆของอาจารย์ในการลดความหมกมุ่นดังกล่าว คือ การถามตัวเราเองว่า

หากเพื่อนมาหารือว่า เขาควรตัดสินใจอย่างไรในสถานการณ์นั้นๆ ฉันจะแนะนำเขาว่าอย่างไร

นั่นคือ การมองจาก “มุมคนนอก” แยกตัวออกจากปัญหา เป็นที่มีแห่งปัญญาและสายตาของคนที่เป็นกลาง

หรือ ถามตัวเองว่า "คนที่เรานับถือว่าเป็นผู้มีความสามารถในการตัดสินใจ เขาจะทำอย่างไรในสถานการณ์นี้"

ก็เป็นอีกวิธี ที่พยายามมองกลับเข้ามา ด้วยสายตาของ “คนนอก”

หากคำตอบของ 2 คำถามข้างบน ต่างจากหนทางที่เราเองตัดสินใจจะเลือก

ถือว่า คำถามทั้งสอง นำเรามาถูกทิศ

ทำให้ฉุกคิดได้ว่า อาจต้องพิจารณาใหม่..

ง่ายดี