ห้องสมุดแห่งปัญญา

ห้องสมุดแห่งปัญญา

โลกที่อำนาจการสื่อสารอยู่ในหน้าจอโทรศัพท์มือถือแบบที่ทำอะไรๆ ก็ต้อง Mobile First เอาไว้ก่อน

กระแสการไหลบ่าของข้อมูลมหาศาลที่ผสมผสานทั้งเก่า-ใหม่ ดี-ร้าย จริง-ลวง ใครๆก็สร้างเนื้อหาได้ คนธรรมดาสามารถยกระดับจากดินเป็นดาวได้ในชั่วข้ามคืน คนมีของมีไอเดีย ที่แตกต่างสามารถสร้างชื่อเสียงและความมั่งคั่งได้อย่างไม่คาดคิด มดล้มยักษ์ได้และอะไรๆ ที่สมัยก่อนเราไม่คิดว่าจะสามารถเป็นได้ ก็เป็นมาแล้วนักต่อนัก

            ผู้เขียนซึ่งเป็นคนที่มีชีวิตการทำงานวันแรกจนถึงวันนี้ในแวดวงดิจิทัลมาตลอด มีความคิดหนึ่ง ซึ่งนับวันก็ยิ่งแจ่มชัดมากขึ้นๆ คือความคิดที่ว่าในหลายๆ กรณีและเงื่อนไขของชีวิต “ปัญญา อาจมีความสำคัญไม่แพ้ปริญญา”

            โลกดิจิทัลอะไรที่เราอยากรู้ ก็ได้รู้ อยากเห็น ก็ได้เห็น และอยากทำก็ทำได้ง่ายดายเพียงการคีย์สืบค้นและมือกดไม่กี่ปุ่ม ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ ศิลป์แขนงใด หรือทักษะความชำนาญด้านไหน หากมีจิตคิดจะเรียน หากมีใจใฝ่จะรู้ ก็สามารถเรียนรู้ความรู้นั้นๆ ได้ รวมถึงฝึกฝนความถนัดต่างๆ ได้

            ยิ่งหากมีประตูที่ชื่อว่า “ภาษา” ด้วยแล้ว ก็ไม่ยากที่จะเข้าถึงความรู้มากมายใหญ่เล็กของทุกระดับชั้น ซึ่งมีรองรับเรามากมายชนิดที่เรียนกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว ฉะนั้นคนๆหนึ่งที่มีดีกรีปริญญาไม่โดดเด่นก็อาจรู้รอบ รู้ลึก ไปกับความรู้ที่อัพเดททันสมัยได้เหมือนกัน

            ฐานข้อมูลอันมหาศาลเหลือประมาณหมายแห่งโลกออนไลน์ คือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดตลอด 24 ชั่วโมง รองรับ “ความใฝ่รู้” ที่ไม่รู้จบ

            เราสามารถสรรหาและกลั่นกรอง เก็บเกี่ยวมา “ประดับปัญญา” ได้ทุกเมื่อ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง ยิ่งหากใครมีความสามารถในการแตกกอต่อยอดได้จากความรู้นั้นๆ ก็ยิ่งนำมาซึ่งประโยชน์อันใหญ่หลวง เรียกว่าแม้ไม่มีดีกรีความรู้ ก็สามารถรังสรรค์ดีกรีความสำเร็จได้เช่นกัน

            นอกจากปัญญาจะก่อให้เกิดแง่งามแห่ง “การเรียนรู้” แล้ว ปัญญายังจำเป็นอย่างยิ่งยวดในแง่ของ “วิจารณญาณในการรับรู้และตัดสิน” เพราะอีกนัยหนึ่ง โลกออนไลน์ก็เป็นเสมือนโรงละครชีวิตที่มีรสชาติหลากหลาย เป็นนิยายทางสังคมฉากใหญ่ ยิ่งในปริบทของคนไทย ที่เรามีความสนใจใคร่รู้เรื่องราวของชาวบ้านเป็นทุนเดิม

            เมื่อความเป็นชุมชนย้ายจากออฟไลน์มาอยู่บนออนไลน์ จึงก่อเกิดไทยมุงดิจิทัลและดราม่าบนโซเชียลไม่เว้นแต่ละวัน และตรงนี้แหละที่เป็นหลุมพรางอันแยบยล ทำให้หลายคนขาดสติ หรือลืมงัดปัญญาออกมาใช้ตริตรองตกหลุมพรางจากการอ่านไม่จบ ขบไม่แตก ฟังความไม่รอบด้าน ตรวจสอบไม่ดีพอ แล้วกระโดดเข้าร่วมวงโดยทันที เรื่องราวประมาณนี้มีตัวอย่างให้เห็นนักต่อนัก ทั้งกับคนดัง คนเก่ง คนที่ได้ชื่อว่ามีความรู้ หรือแม้แต่คนที่เป็นผู้นำทางความคิดของคนในสังคมก็ติดกับดักแห่งโลกออนไลน์อันซับซ้อนนี้ได้เสมอ

            กลายเป็นว่าจะอ่านคนสมัยนี้ให้ทะลุถึงแก่นว่านอกจากจะมีความรู้ความสามารถขนาดไหนแล้วมีสติ ปัญญา วิจารณญาณเช่นไร ดูแค่ในชีวิตแท้ๆ เห็นหน้าเห็นตาแบบตัวเป็นๆ อาจจะไม่ครบทุกมุมพอด้วยซ้ำ อาจต้องตามไปเก็บข้อมูลบางส่วนในออนไลน์ แล้วนำมาประมวลผลร่วมกันก็จะให้แง่มุมที่หลากหลายขึ้น เรียกว่า จะลุ่มลึก แหลมคม หรือกลมกล่อมขนาดไหน ถ้ามีการประมวลผลร่วมกันของตัวตนในชีวิตจริงและออนไลน์ จะหนักแน่นแม่นยำขึ้นอีกอักโข

            ใครบางคนเคยว่าไว้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วคนไทยเราโดยรวมไม่ค่อยถนัดในการเป็นผู้สร้างและส่งสารชนิดปฐมภูมิ คือมักจะเป็นแนวได้รับรู้ ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านมา แล้วก็นำมาแชร์ต่อ แต่ถึงกระนั้นการที่ใครก็ตามเลือกที่จะคัดสรรเอาข้อมูลใดๆ มาบอกกล่าวเล่าต่อก็พอจะสะท้อนถึงตัวตนและวิธีคิดพิจารณาของเขาและเธอเหล่านั้นได้ไม่น้อย

            ยิ่งถ้าหากเนื้อหาใดๆ เป็นสิ่งที่เจ้าตัวสร้างเอง เขียนเอง วาดเอง ถ่ายเอง โพสต์เอง อันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นกระจกบานหนึ่งซึ่งสะท้อนภาพของเจ้าของข้อมูลได้อย่างค่อนข้างมีนัยสำคัญ

            แม้ความถูกผิดจะตัดสินยาก แม้ไม้บรรทัดความเหมาะสมของคนเราไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะละเลยหรือหลงลืมที่จะใช้ปัญญาในการเสพ สร้างและสื่อสารบนโลกดิจิทัล

            จริงอยู่ห้องสมุดแห่งนี้สามารถประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้เติม “ปัญญา” ให้เราได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ แต่ก็มีด้านปลอม ย้อมสี ให้เราหลงทิศผิดทางได้อย่างน่าสะเทือนจิตเช่นกัน ท้ายที่สุดไม่ว่าจะในบทบาทใดโลกจริงหรือโลกเสมือน “สติและปัญญา” ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเสมอ...ลืมไม่ได้ และต้องงัดออกมาใช้บ่อยๆ!