กลยุทธ์เคลื่อนไหว 'นปช.'

กลยุทธ์เคลื่อนไหว 'นปช.'

แค่แถลงข่าว เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ 7 ส.ค.

 และไปยื่นหนังสือต่อ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า “คสช.” ให้ช่วยสั่งการไม่ให้มีการข่มขู่คุกคาม หรือขัดขวางการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ในวันที่ 19 มิ.ย. ของ ทีมแกนนำนปช. ก็ถือว่าได้เคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเต็มๆ แถมได้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติอย่างไม่มีใครปิดกั้นได้

นั่นแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์ ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ของ นปช.ได้ผล โดยเฉพาะผลทางการเมือง

แถมยังเอาคำของพล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นตรายางประทับรับรองความถูกต้องอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ใครกล้ายุ่ง ที่ไม่ห้ามตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ แม้ไม่เห็นด้วย

แต่ถึงกระนั้น ล่าสุด(13 ม.ย.) “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ก็ได้ออกมาห้ามปรามเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า ตนไม่ให้ตั้งศูนย์ดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นใครก็ตั้งศูนย์แบบนี้ขึ้นมาได้ ทั้งนี้การตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติต้องมีองค์กรขึ้นมารองรับ ตนถามว่าจะไปตั้งทำไม เรามีทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว

“หาก นปช.เดินหน้าตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติต่อ ผมไม่ให้เดิน พอแล้ว หยุดเถอะ ผมขอร้อง ไม่เอา หากยังเดินหน้าต่อ ผมก็มีมาตรการทางกฎหมายดำเนินการ ไปดูว่าผิดอะไรหรือไม่ หากผิดว่าไปตามนั้น แต่ตอนนี้ผมขอร้องก่อน...”

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “นปช.” จะเชื่อ “บิ๊กป้อง” หรือไม่ หรือยังคงยืนยันดำเนินการตาม “กลยุทธ์” ต่อไป

นี่แค่ก้าวแรก ของ “กลยุทธ์” เท่านั้น

ก้าวต่อไป ก็แทบไม่ต้องสงสัยว่า นปช.จะต้องมีบทบาทเคลื่อนไหวทั่วแผ่นดิน

ถ้าเอาตามที่ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ แถลงเปิดศูนย์ว่า จะมีการนัดหมายเพื่อเปิดศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งภารกิจของศูนย์จะมีอาสาสมัคร ซึ่งไม่ใช่คนสีใดสีหนึ่งลงพื้นที่สังเกตการณ์ มีทีมกฎหมาย หากพบว่าจะมีการทุจริตก็จะไปแจ้งต่อ กกต. จากนั้น “นปช.” ส่วนกลางก็จะแถลงข่าว จึงขอเชิญสื่อมวลชนให้มาอยู่ที่นี่ จะมีการแถลงจับโกงกันทุกวัน ศูนย์ปราบโกงยังจะขอให้ “กกต.” อนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์ที่หน่วยออกเสียงลงประชามติด้วย...

ถ้าทำได้ตามนี้ และไม่มีสิ่งใดปิดกั้นได้ การแถลงข่าวแบบรายวัน รายงานความคืบหน้าของแต่ละศูนย์ ตลอดจนถ้าฝ่ายอื่นออกมา “ตอบโต้” ก็ใช้เป็นเวที “ตอกกลับ” อย่างที่ถนัด คิดดู “คสช.” จะต้องออกแรงรับมือสักแค่ไหน จึงจะเอาอยู่ กับสถานการณ์การเมืองที่จะปะทะกันร้อนแรงขึ้นทุกวัน

ต้องยอมรับว่า คนที่คิด “กลยุทธ์” นี้ขึ้นมา ต้องมีเหลี่ยมคูทางการเมืองสูงทีเดียว

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ตามมาก็คือ นปช.จะเอาจริงแค่ไหนในการปราบโกงประชามติ?

ปัจจัยที่เป็นคำตอบ อาจอยู่ที่ ประการแรก นปช.รู้ว่า ฐานมวลชนของพรรคเพื่อไทย บวกฐานเสียงอันแน่นเหนียวของ คนเสื้อแดง ถึงอย่างไรก็มีคะแนนสูงกว่า เสียงของฝ่ายตรงข้าม เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีอะไรไปเปลี่ยนแปลงฐานมวลชนเหล่านี้ได้ ยิ่งกว่านั้น ยังอาจมีพลังบวกจากข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่ไม่พอใจ คสช. โดยเฉพาะข้าราชการครู เนื่องจากถูกปรับโครงสร้างบริหาร

จากปัจจัยนี้เอง นปช.อาจเชื่อว่า ถ้าไม่มีการโกง ไม่มีทางที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ จะผ่านประชามติ?

ประการที่สอง สิ่งที่ นปช.อยากเห็น จากเกมใหม่ของพวกเขาก็คือ ความพ่ายแพ้ของฝ่าย “คสช.” ด้วยตัวเลขของการลงประชามติเป็นเครื่องยืนยัน ว่าใครเหนือกว่าใคร ทิ้งห่างแค่ไหน เพื่อนำมาขยายผลทางการเมือง และยกระดับการเคลื่อนไหวที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้น จึงไม่แปลกที่จะมีการดักคอเอาไว้ ไม่ให้มีการสร้างเงื่อนไขเลื่อนหรือเลิกการลงประชามติ ที่ “ตู่” จตุพร พูดอยู่เป็นประจำ

"...ศูนย์ปราบโกงฯจะเป็นภัยคนที่จะโกงประชามติเท่านั้น ถ้าท่านไม่โกงก็ไม่ต้องเดือดร้อน ท่านบอกว่าเกลียดการโกง ถ้าไม่โกงจะไปโมโหเรื่องอะไร...” จตุพร กล่าวสำทับเอาไว้

นี่คือ เกมการเมืองที่รุกประชิด คสช.และประกบแน่น จนแทบกระดิกตัวไม่ได้ จึงอยู่ที่ คสช.จะแก้เกมได้อย่างไรเท่านั้นเอง