เงินทองคืออะไร?

เงินทองคืออะไร?

เมื่อหลายๆ พันปีก่อน มนุษย์ยังใช้ระบบเศรษฐกิจที่อาศัยการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้าเป็นระบบซื้อขายกันอยู่

ความมั่งมีในทรัพย์สินเงินทองยังกระจายอยู่อย่างเท่าเทียมกันในสังคม ไม่กระจุกอยู่กับกลุ่มชนแค่หยิบมือเดียว ยกเว้นชนชั้นพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดิน

ระบบแลกเปลี่ยนสินค้านี้ มีคู่แลกเปลี่ยนกันอย่างน้อยหนึ่งคู่ เช่น ชาวนาเลี้ยงหมูไว้หลายตัว ต้องการพืชพันธุ์ธัญญาหารหลากชนิดไว้บริโภคนานเป็นเดือนๆ ก็ลากจูงหมูเป็นๆ ฝูงหนึ่ง เดินทางไกลไปยังตลาด เพื่อแลกหมูกับพืชผักผลไม้ต่างๆ ของชาวสวน เป็นต้น หากแลกเปลี่ยนกันได้ลงตัว ต่างก็จะเริ่มก้มหน้าก้มตานำสินค้าใหม่ทั้งหมดกลับถิ่นฐานตน บนเส้นทางที่ทุรกันดารแสนสาหัส ทั้งนี้ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกอย่างยิ่งกับคู่แลกเปลี่ยน

เมื่อ 2,700 ปีก่อน ที่ราชอาณาจักรลิเดีย ใกล้ประเทศตุรกีปัจจุบัน กษัตริย์ลิเดียทรงประดิษฐ์เงินตราขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยนำโลหะที่เป็นส่วนผสมตามธรรมชาติระหว่างทองกับเงินมาทำเป็นตัวเหรียญ ช่างโลหะตอกตีตัวเลขน้ำหนักสุทธิของแต่ละเหรียญกำกับไว้ด้านหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ต้องชั่งเหรียญทุกครั้งที่มีการซื้อขายกัน และตอกตีเครื่องหมายประจำองค์พระมหากษัตริย์ไว้อีกด้านหนึ่ง

นับแต่นั้นมา มนุษย์เริ่มมีระบบเงินตราที่ผู้ปกครองแผ่นดินแสดงความรับผิดชอบต่อพสกนิกร ในการสถาปนาเหรียญโลหะให้มีค่ามาตรฐานสำหรับใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้า นับเป็นนโยบายเงินตราแรกเริ่มแห่งรัฐที่ยังใช้กันมาถึงทุกวันนี้

เมื่อ 2,500 ปีก่อน ชาวกรีกและชาวโรมผลัดกันพัฒนาเหรียญมีค่าให้งดงามและประณีตบรรจงยิ่งขึ้น ชาวกรีกได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์เหรียญได้วิจิตรบรรจงงดงามที่สุด ส่วนชาวโรมันก็ผลิตเหรียญได้สง่างามในจำนวนมหึมา ยังผลให้ชาวโรมและชาวเมืองอาณานิคมทั้งหลาย ได้หันมาใช้เหรียญมีค่าเป็นเงินตราซื้อขายสินค้าอย่างกว้างขวางต่อไปอีกหลายศตวรรษ

เมื่อ 1,000 ปีก่อน ชาวจีนเริ่มปฏิรูปเหรียญมีค่าให้เป็นธนบัตรเป็นครั้งแรก ช่างตีพิมพ์ผลิตธนบัตรด้วยการทาหมึกดำบนก้อนไม้แกะสลัก แล้วนำรอยแกะสลักติดหมึกดำไปประทับบนแผ่นกระดาษ เพื่อแสดงราคาค่างวดของแผ่นกระดาษหรือธนบัตรแต่ละใบ พร้อมระบุคำมั่นสัญญาไว้ว่า มูลค่าของธนบัตรนี้ มีสินค้ามาตรฐานที่มีราคาค่างวดรับรองค้ำประกันอยู่ โดยทางการเก็บรักษาสินค้านี้ไว้ที่ปลอดภัยแห่งหนึ่ง

เมื่อ 700 ปีก่อน นายมาร์โค โปโล พ่อค้าใหญ่แห่งสาธารณรัฐเวนิส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลีสมัยนี้ เดินทางไปมาซื้อขายสินค้าระหว่างกลุ่มชนชาติยุโรปและชาวจีนบ่อยๆ บนเส้นทางโด่งดังที่เรียกกันว่า “ถนนสายไหม” พบว่า ธนบัตรของจีนได้รับการค้ำประกันดัวยโลหะมีราคาค่างวดจริง อีกทั้งได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายที่มีบทลงโทษผู้ทำธนบัตรปลอมด้วยมาตรการประหารชีวิต

เมื่อ 400 ปีก่อน ระบบซื้อขายด้วยเหรียญมีค่าและธนบัตรได้วิวัฒนาการมาเป็นระบบธนาคารแห่งแรกที่อังกฤษ ซึ่งมีบริการเก็บรักษาเหรียญมีค่าของลูกค้าไว้ในที่ปลอดภัย โดยเรียกเก็บค่าบริการตามสมควร และเริ่มมีบริการออกเอกสารแสดงจำนวนมูลค่าของเหรียญที่รับฝากจากลูกค้า เอกสารนี้มีสิทธิ์ซื้อสินค้าหรือแลกเป็นเงินสดได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของการเขียนจำนวนเงินฝากเป็นตัวเลขบนแผ่นเอกสารของธนาคาร เรียกกันสมัยนี้ว่า “เช็ค”

นับแต่นั้นมา นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเริ่มมีบทบาทบริหารจัดการกับทรัพย์สินเงินทองของแผ่นดิน

เห็นได้ว่า ระบบเหรียญมีค่าเริ่มใช้กันแล้วในสมัยของพระพุทธเจ้า พระธรรมของพระองค์จึงเป็นคำสั่งสอนที่ได้หยั่งรู้ในอำนาจของเงินตรามาแล้ว ทว่า พระองค์ทรงเลือกวิถีทางแห่งการทำบุญสร้างกุศล อันเป็นวิถีทางแห่งจิตนิยม ทางพ้นทุกข์ แทนวิถีทางแห่งการสะสมทรัพย์สินเงินทอง อันเป็นวิถีทางแห่งวัตถุเงินทองนิยม ทางพัวพันทุกข์ ทั้งนี้ พระองค์อาจทรงตระหนักถึง ความเสื่อมวิบัติ ในมนุษยชาติที่หลงใหลสะสมวัตถุเงินทองอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ การวิจัยระดับสูงกว่าดุษฎีบัญฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งคาลิฟอร์เนีย สหรัฐ พบว่า ผู้มีเงินทองร่ำรวยกว่าชาวบ้านทั่วไป มักเป็นคนมีกิริยากักขฬะหยาบคายมากกว่า และมักทำผิดกฎหมายหรือกติกาสังคมบ่อยกว่าชาวบ้านยากจนทั่วไป

ดร.พอล พิฟ หัวหน้าคณะวิจัยสรุปผลไว้ว่า “ชาวอเมริกันทุกวันนี้มีภาวะจิตที่หลงใหลในตัวเองมากกว่าในทุกยุคสมัยก่อน แต่ความหลงใหลในตัวเองนี้ มิได้มีกระจายอย่างสม่ำเสมอทั่วทุกชนชั้นเศรษฐกิจในสังคม คือ ผู้คนในระดับชนชั้นเศรษฐกิจยิ่งสูงขึ้นไป ยิ่งมีทัศนะคติที่แสดงตนเป็นอภิสิทธิ์ชนและมีความหลงใหลในตัวเองมากกว่าชนชั้นยากจนกว่าตน”

ดร.พิฟและคณะ พบว่า ผู้คนที่มีเงินทองมากกว่าผู้อื่น แม้จะไม่ได้หาเงินทองมาด้วยฝีมือตัวเอง มักมีทัศนะคติที่แตกต่างจากผู้มีเงินทองน้อยกว่าตน โดยขยายความว่า

“คนยิ่งร่ำรวยมากก็ยิ่งมีความเมตตากรุณาและการหยั่งรู้ในความรู้สึกต่อผู้อื่นน้อยลง ในขณะที่ยิ่งมีความเป็นอภิสิทธิ์ชน ความรู้สึกสมควรจะได้รับผลประโยชน์ ตลอดจนการยึดมั่นในคตินิยมที่จะใฝ่หาประโยชน์ใส่ตนมากขึ้น”

การวิจัยครั้งหนึ่ง ให้สองคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เล่นเกมโมโนโปลี่ ซึ่งเป็นเกมที่ผู้เล่นทั้งสองแข่งกันซื้อขายทรัพย์สิน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างที่ดิน ที่อยู่อาศัย และโรงแรม อีกทั้งเก็บค่าเช่าจากผู้เล่นอีกคนหนึ่ง โดยพยายามทำให้ฝ่ายตรงข้ามล้มละลายไป เพื่อว่าตนจะได้เป็นผู้มีเอกสิทธิ์ผูกขาด กำเศรษฐกิจทั้งหมดไว้ในมือแต่ผู้เดียว คือ เพื่อตนจะได้ครองตำแหน่งโมโนโปลิสต์ผู้ผูกขาดได้อย่างเด็ดขาด

ผู้เล่นเกมทั้งสองเล่นเกมตามกติกาปกติ ยกเว้นแต่ว่า คนหนึ่งจะมีจำนวนเงินในมือมากเป็นสองเท่าของอีกคนหนึ่ง แถมมีลูกเต๋าให้ใช้โยนได้เป็นพิเศษอีกหนึ่งลูก ทั้งสองมีสิทธิ์เท่ากันที่จะหยิบขนมในชามที่ตั้งอยู่ใกล้มือขึ้นมาทานได้ตลอดเวลา

ผู้เล่นเกมต่างรับรู้แต่แรกว่า เกมที่เล่นอยู่ไม่เป็นธรรม เพราะฝ่ายหนึ่งได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งในปัจจัยเงินทุนและลูกเต๋า เมื่อเล่นเกมไปเรื่อยๆ ฝ่ายได้เปรียบ ซึ่งทำกำไรนำลิ่ว จะแสดง กิริยากักขฬะหยาบคายและน่ารังเกียจยิ่งออกมาบ่อยๆ ส่งเสียงกระโชกโฮกฮากดังขึ้นเรื่อยๆ และหยิบขนมใส่ปากเคี้ยวกินถี่กว่าฝ่ายเสียเปรียบ เมื่อถามว่าชนะเกมได้อย่างไร ฝ่ายได้เปรียบมักตอบว่า ชนะด้วยฝีมือตัวเอง ไม่เกี่ยวกับปัจจัยได้เปรียบแต่แรกของตนเลย

ดร.พิฟชี้แจงว่า “ผู้เล่นที่ได้เปรียบแต่แรกและชนะเกมอยู่เรื่อย มองไม่เห็นเหตุการณ์วิกฤติหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนเล่นเกม ซึ่งได้แก่การโยนหัวก้อยของเหรียญที่กำหนดให้ตัวเขา แทนที่จะเป็นอีกคนหนึ่ง ได้สวมบทบาทของผู้ได้เปรียบแต่แรก เป็นวิธีกำหนดด้วยการเดาสุ่มล้วนๆ แล้วแต่เหรียญจะตกกระเด็นไปออกหัวหรือก้อยเอง”

พูดง่ายๆ จังหวะชีวิต--มิใช่ฝีมือส่วนตัว--อำนวยให้ผู้เล่นเกมคนหนึ่งได้เปรียบ และส่งผลให้เป็นฝ่ายชนะอย่างง่ายดาย

ในวิจัยอีกรายหนึ่ง ดร.พิฟศึกษาดู ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และน้ำใจ ของผู้เล่นเกมอีกชุดหนึ่ง คือ ผู้อาสาเล่นเกมแต่ละคนจะได้รับเงิน 10 ดอลลาร์ (1:34 บาท) โดยมีสิทธิ์ที่จะเก็บเงินฟรีนี้ไว้เฉยๆหรือแบ่งปันบางส่วนให้กับคนแปลกหน้า ก็ได้

ผู้วิจัยพบว่า ผู้เล่นเกมที่มีเงินเดือนต่ำ คือ มีรายได้จริงต่ำกว่า 25,000 ดอลลาร์ต่อปี แบ่งปันเงิน 10 ดอลลาร์ฟรีนี้ให้คนแปลกหน้า ในอัตราเฉลี่ย 44 % สูงกว่าอีกคนหนึ่งที่มีรายได้จริงสูงเกิน 150,000 ดอลลาร์ต่อปี แบ่งปันเงิน 10 ดอลลาร์ฟรี่นี้ให้คนแปลกหน้า

พูดง่ายๆ ผู้ยากจนกลับมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และน้ำใจมากกว่าผู้ร่ำรวยมหึมากว่าตนด้วยซ้ำไป 

นอกจากนี้ ดร.พิฟและคณะยังพบว่า ผู้ขับรถยนต์ราคาแพงสุดๆ มีมากถึง 50% คือ หนึ่งในสองคน ที่ไม่ยอมหยุดรถให้ประชาชนเดินข้ามถนนบนทางม้าลาย ในขณะที่ผู้ขับรถยนต์ราคาถูกสุดๆยอมหยุดรถให้ประชาชนเดินข้ามถนนบนทางม้าลายทุกครั้ง

พูดง่ายๆ ผู้ที่ยิ่งรวยก็ยิ่งมีกิริยาเห็นแก่ตัว ยิ่งจนกลับยิ่งเห็นแก่ส่วนรวมเต็มร้อย

ระบบเศรษฐกิจตะวันตกปัจจุบันที่มุ่งกระจายรายได้ให้เฉพาะคนรวยได้มีโอกาสร่ำรวยยิ่งขึ้น และมักผันวัฏจักรเศรษฐกิจล่มสลายสิบปีฟื้นสิบปี ซ้ำเติมความบอบช้ำให้กับคนจนที่หาเช้ากินค่ำ จนไม่มีวันลืมตาอ้าปากได้ สร้างแต่คนรวยที่มีคุณภาพทางจิตใจต่ำกว่าคนยากจน ดังเห็นได้ชัดจากการวิจัยดังกล่าว

นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกมองมนุษย์เป็นวัตถุสิ่งของซื้อขายกันได้ด้วยเงินทองราวกับผักปลาหรือทาสสมัยใหม่ คนรวยก็พลอยมองเห็นคนจนในทำนองเดียวกัน คือ คนรวย มีสิทธิ์ใช้เงินซื้อหา คนจนได้ด้วยอำนาจเงิน ค่านิยมสมัยนี้ คือ ยิ่งรวยยิ่งดี ไม่ว่าจะรวยด้วยวิธีใด จะได้ไม่เสียชาติเกิด นี่คือสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งของการโกงกินชาติบ้านเมือง

ทางออกที่ดีที่สุดในการปลดแอกสังคมที่บูชาเงินทองได้แก่การนำ พุทธเศรษฐศาสตร์ มาใช้ เพราะเป็นระบบที่มองเห็นมนุษย์และระบบนิเวศวิทยาอย่างมีคุณค่าเหนือสินค้าหรือผักปลา ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดสงบสุขของมนุษยชาติเอง

ภาวะร้อนรุนแรงยิ่งกว่าไฟนรกจากปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก และภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กำลังตักเตือนมวลมนุษย์ให้ตระหนักในอภิมหันตภัยของความร่ำรวยที่ไปกระจุกอยู่กับคน 62 คน ซึ่งมีทรัพย์สินเงินทองรวมกันแล้วมากเท่ากับทรัพย์สินเงินทองของคนจนสุดๆ ครึ่งโลก

พุทธเศรษฐศาสตร์สอนให้ทุกคนทำบุญสร้างกุศล ในทำนองให้สุขแก่ท่าน สุขนั้นถึงตัว สอนให้ปฏิบัติต่อนิเวศวิทยาอย่างภมรผึ้งที่ตอมดอกไม้เพื่อดูดน้ำหวานไปทำรังผึ้งโดยไม่ทำให้ชอกช้ำเสียหาย แต่กลับช่วยให้ดอกไม้ได้ผสมพันธุ์เกสรจนเกิดเป็นอาหารมนุษย์ต่อไป ตลอดจนสอนให้มีปรัชญาชีวิตที่ไม่เป็นเหยื่อของโลภโกรธหลง คือ อยู่อย่างพอเพียงบนสายกลางของแต่ละบุคคล

ที่น่าสนใจคือพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทุกคนรู้จักแบ่งทรัพย์สินเงินทองออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

(1) ใช้หนี้เก่าเลี้ยงดูพ่อแม่ (2) ใช้หนี้ใหม่เลี้ยงดูบุตร  (3) ฝังไว้ คือ เก็บออมหรือบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ (4) ทิ้งเหว คือ ทิ้งลงท้อง พระองค์ทรงเปรียบท้องเราเป็นเหวลึกที่ไม่มีวันอิ่ม

มีระบบเศรษฐศาสตร์ใดในโลกที่ประเสริฐสุดกว่าพุทธเศรษฐศาสตร์อีกหรือ?

----------------

ธนรัตน์ ยงวานิชจิต

[email protected]