Regulatory Sandbox

Regulatory Sandbox

เมื่อตอนเดือนม.ค. 2559 บทความในตอนท้ายผมได้เล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นและผลที่จะเกิดขึ้นกับพวกเรา

จะได้เตรียมตัวและเตรียมใจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มันก็เป็นเรื่องบังเอิญมากที่หลังจากนั้นไม่นานบ้านเราก็มีการพูดจากล่าวถึงเรื่องดังกล่าวกันอย่างแพร่หลาย มีศัพท์แรง ฟังดูดี พูดถึงกันเยอะแยะ Start ups เอย, Fintech เอย พูดกันเยอะมาก แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าในทางปฎิบัติบ้านเราจะทำกันให้เป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหนนะครับ ไหนๆ ก็ไหนๆ ครับ เดือนนี้ขอเพิ่มคำศัพท์อีกหนึ่งคำ มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปพูดต่อและอาจจะต่อยอดทางความคิดนะครับ ก็อย่างที่จั่วหัวอยู่ข้างบนนะครับ 

เมื่อตอนกลางเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาเผอิญมี ”เพื่อน”ในเฟสบุ๊คของผมท่านหนึ่งได้โพสต์เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจเลยติดตามอ่านดู เรื่องที่เพื่อนท่านนั้นได้โพสต์นั้นเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายในการกำกับดูแลเรื่อง Smart Nation Initiative ของสิงคโปร์ เรื่องที่ท่านได้กล่าวในนั้น แน่นอนก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลและทำให้เกิดขึ้นของโครงการของสิงคโปร์ที่ผมเรียนไว้คือ Smart Nation Initiative ท่านสามารถหาอ่านได้เพิ่มเติมที่ www.ide.gov.sg นะครับ แต่สิ่งที่ผมจะเรียนท่านผู้อ่านในเดือนนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐมนตรีท่านนี้ได้กล่าวถึง ผมก็เลยต้องทำการบ้านต่ออีกหน่อย เรื่องที่ว่านี้ก็คือ Regulatory Sandbox ครับ

หากเราไปปรึกษา”อากู๋” เพิ่มเติมว่า “sandbox” ที่ว่าคืออะไร อากู๋ก็จะให้คำตอบได้หลายอย่างเช่นเคย ผมเอาเฉพาะอันที่น่าจะเกี่ยวข้องนะครับ กล่าวคือโดยสรุปก็คือ เป็นที่ๆ ในแวดวง computer จะใช้ในการทดสอบโปรแกรมที่ไม่ทราบที่มาที่ไปหรือไม่ได้รับการ verify แหล่งที่มาของโปรแกรม ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ระบบคอมพิวเตอร์ตกอยู่ในอันตรายหากโปรแกรมเหล่านั้นมีไวรัสหรือ code ที่เป็นอันตราย หรือในอีกความหมายหนึ่ง sandbox จะหมายถึง ”สนามทดลอง”โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่หรืออาจจะเป็นโปรแกรมที่กำลัง ”ปรับปรุง” ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ใหญ่จากอันตรายทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว

มาถึงตรงนี้ก็เลยถึงบางอ้อว่าที่สิงคโปร์เรียก Regulatory Sandbox นั้นมันคืออะไร ตามสุนทรพจน์ดังกล่าวรัฐมนตรีท่านนี้ได้กล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยสังเขปว่า 1.)อนาคตของสิงคโปร์นั้นขึ้นอยู่ที่สถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก 2.) สิงคโปร์โดย MAS ซึ่งทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางตัดสินใจที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Regulatory Sandbox ขึ้นมา สำหรับบริษัทต่างๆ ที่เป็น Fintech 3.) กล่าวคือถ้าท่านจะเป็นนิติบุคคลหรือปัจเจกบุคคลถ้ามี idea อย่างไรไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินก็สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตทาง MAS ก่อน ประเด็นหลักคือทำไปเลยไม่ต้องขออนุญาตก่อน ตราบใดก็ตามที่ท่านไม่ได้หลอกลวงใคร จนกระทั่ง idea ของท่านกลายเป็นจริงและเติบโตจนถึงจุดๆหนึ่งที่ MAS พิจารณาแล้วว่าขนาดธุรกิจของท่านมีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาจัดระบบระเบียบ ซึ่งหมายความว่าขนาดธุรกิจของท่านต้องใหญ่พอที่จะเป็นผู้เล่นหลักในตลาดการเงิน แนวนโยบายนี้สำคัญมาก และเป็นสิ่งที่หน่วยงานทางการเช่น MAS ยอม ”re-prioritize” เป้าหมายหลักโดยดูภาพรวมเป็นหลักใหญ่ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ “โดน” และ”แนว”มากสำหรับ MAS ซึ่งเป็นผู้รักษากฎที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เป้าหมายที่จะต้องดำรงตนให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกที่สำคัญแห่งหนึ่ง (ตอนนี้ก็เป็นรองเพียงลอนดอนเท่านั้น) และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางด้าน IT ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว การสร้างแนวความคิดนี้ของ MAS ย่อมทำให้เกิดการไหลบ่าของ idea และความคิดสร้างสรรทางด้าน Fintech มาสู่สิงคโปร์ อนาคตอันใกล้คงจะเห็นว่าการจุดประกายดังกล่าวคงทำให้มีการเกิดขึ้นของ Fintech อย่างรวดเร็วในสิงคโปร์เพียงทำให้สังคมเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงต้องเป็น”ผู้ซื้อ” idea ดังกล่าวต่อไปแทนที่จะเป็นผู้ก่อกำเนิด และในข้อเท็จจริงก็ไม่ได้มีเพียงมิติของ Financial Regulators เช่น MAS อย่างเดียว แต่มีอีกหลายมิติประกอบกับที่สิงคโปร์ทำพร้อมๆ กัน โดยมีเป้าหมายหลักในการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า digital revolution ในปัจจุบัน เพียงแต่ผมขอไม่กล่าวในที่นี้นะครับ

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเรื่อง Regulation Sandbox นี้ ก็ยังไม่ตกผลึกเท่าไรนัก กล่าวคือยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเล็กน้อยถึงพอควรในบรรดา regulators ในโลกนี้ นอกเหนือจากของ MAS ที่กล่าวถึงข้างต้นแบบละเอียดเห็นภาพแล้ว regulators เจ้าอื่นเช่น Financial Conduct Authority; FCA ของอังกฤษ ก็ให้ความเห็นที่แตกต่างออกไปจากของ MAS เช่นกัน หรือแม้แต่ BaFin ของเยอรมนีที่มีแนวความคิดปฎิเสธเรื่องนี้ไปเลย

ที่ต้องกล่าวถึงความเห็นที่แตกต่างทั้งแบบบางส่วนหรือโดยสิ้นเชิงนั้นก็เป็นเพียงแต่อยากจะเรียนว่า คงไม่มีใครผิดใครถูกในเรื่องนี้หรอก แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดในเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่เคยเรียนท่านผู้อ่านของผมว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน(หรือนโยบายอื่นๆ ก็ตาม) ในยุค digital revolution นี้จะรวดเร็วและมองไปข้างหน้าเป็นอย่างมาก(proactive) ดังนั้นหากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือเอาแค่ว่าตามเขาให้ทันก็คงต้องเน้นการดำเนินนโยบายแบบ proactive ให้มากขึ้น มิฉะนั้นไม่ใช่แค่ตามเขาไม่ทัน แต่อาจจะพ่ายแพ้ต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคที่ว่านี้อย่างแน่นอน

สุดท้ายก็ต้องขอขอบคุณเพื่อนที่กรุณาแชร์เรื่องนี้มาให้ผมและมันก็ inspire ผมมาก เพราะโดยแก่นแล้วก็คงจะเห็นในลักษณะทิศทางเดียวกันคือ การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้มันรวดเร็ว และมีผลกระทบรุนแรง การดำเนินนโยบายคงต้องปรับให้ตามทันกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ นะครับ อย่างน้อยก็ตามไปห่างๆ ก็ยิ่งดี สวัสดีครับ