บรรษัทภิบาล บจ.ไทย'คลุมเครือ'

บรรษัทภิบาล บจ.ไทย'คลุมเครือ'

ปีนี้ดูเหมือนว่าเรื่องของระบบบรรษัทภิบาล บริษัทจดทะเบียน

ในตลาดหุ้นไทย(บจ.) เป็นเรื่องที่มีบทบาทในสังคมมากขึ้น และต่อเนื่อง แม้ความพยายามของหน่วยงานกำกับดูแลทุกๆ ด้านต่างให้เร่งรณรงค์ และสร้างกระแส เพื่อให้บจ.ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องดังกล่าว ทั้งในรูปแบบการขอความร่วมมือแกมบังคับ รวมถึงการพิจารณาเพิ่มบทลงโทษในทางกฏหมาย โดยเฉพาะ บทลงโทษในส่วนของผู้บริหารบริษัท 

ล่าสุด ผลสำรวจกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย ในส่วนของสถาบันกรรมการไทย (IOD) กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า บทลงโทษกรรมการหรือผู้บริหารที่กระทำความผิด ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน รวมถึงการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์เทรดดิ้ง) ซึ่งส่วนใหญ่สิ้นสุดที่การถูกปรับนั้นเบาเกินไป และกรรมการที่กระทำผิดควรได้รับทั้งโทษปรับ จำคุก และตัดสิทธิการเป็นกรรมการด้วย

สอดคล้องกับสิ่งที่ “รพี สุจริตกุล”เลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ออกมาบอกว่า การเพิ่มบทลงโทษกรณีดังกล่าวจะออกมาให้เห็นเร็วๆนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในด้านของการกำกับดูแล

พฤติกรรมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ดูเหมือนว่า ระบบบรรษัทภิบาลบจ. ยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเลย โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางถึงเล็ก 

ตัวอย่างกรณี บริษัทโซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) SOLAR รายงานผลประกอบการที่ผิดพลาดจนมีผลกระทบต่อราคาหุ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีระบบการตรวจสอบอย่างเป็นขั้นตอนรอบด้าน และตลาดหลักทรัพย์ เคยยืนยันเสมอว่า คุณภาพของบจ.ไทยได้มาตรฐานสากล และความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนได้เร็วสุดคือราคาหุ้นจากราคา 6.25 บาท ลดลงมาต่ำสุด 3.84 บาท คิดเป็น 38%เพียงระยะเวลา2 สัปดาห์

ล่าสุดมาเกิดกรณีของบริษัท สามชัย สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) SAM ถูกกรมศุลกากรสั่งดำเนินคดี กรณีขอคืนภาษีเป็นเท็จ ส่งท่อเหล็กออกไปลาวแล้ว นำสินค้ากลับเข้าไทยใหม่หวังสร้างยอดขายและขอคืนภาษี มูลค่าความเสียหายรวม 120 ล้านบาท ขณะที่ผู้บริหารบริษัททำหนังสือชี้แจงต่อตลาด ว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสาร เพื่อเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรมศุลกากร และมีประโยคชี้แจงที่สำคัญว่า บริษัทเห็นว่า บริษัท ไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะชำระเงินตามที่ทางกรมศุลกากรแจ้งไว้ว่า เป็นมูลค่าสินค้าจำนวน 70 ล้านบาท และมูลค่าภาษีอากรจำนวน 49 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากราคา 1.40 บาท ลงไปต่ำสุดที่ 1.13 บาท คิดเป็น 19% ในช่วง 2 วัน

เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้ง 2 บริษัท ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจของระบบบรรษัทภิบาลบจ.ไทย สะท้อนให้เห็นว่า ยังคลุมเครือ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้บริหารบริษัทย่อมมีส่วนรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะเป็นผู้บริหารชุดเดิม ที่ยังคงนั่งบริหารอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นบทสรุปของทั้ง 2 กรณี จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม ทั้งหน่วยงานที่เป็นฝ่ายกำกับดูแล และคณะกรรมการบริษัท จะหาทางออกแบบไหนที่จะแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายในฐานะผู้ถือหุ้น ก็คงต้องตัดสินใจกันเองว่า ควรจะเป็นผู้ถือหุ้นต่อไป หรือยอมรับความจริง ตัดใจขายหุ้นออกไป... ก็แล้วแต่ใจต้องการ