เรียนรู้จากผู้นำ : ได้ใจ Gen Y สไตล์ซัมซุง

เรียนรู้จากผู้นำ : ได้ใจ Gen Y สไตล์ซัมซุง

องค์กรและหัวหน้างานจำนวนมากมาย ที่ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยในฐานะวิทยากร ล้วนมีเรื่องกลุ้มใจคล้ายกัน

“ฉันจะทำอย่างไรดีกับน้องยุคใหม่” ที่ไม่เอาถ่าน งานหยิบโหย่ง หนักไม่เอา เบา..ก็สู้บ้าง เป็นบางหน จนรุ่น “ลุงป้าอา” อยากขอลาจากการเป็นหัวหน้าคุณหนูๆนัก

กติกา 2 ข้อ ที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ต่างหาทางออกเพื่อทำงานร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ คือ

กติกาข้อแรก ที่ดิฉันหมั่นทำความเข้าใจกับหัวหน้าวัย “ลุงป้าอา” คือ

กรุณาอย่ามองเขา อย่างที่ เราเป็น

“ทำไมน้องๆจึงไม่เป็นเหมือนเรา?!”

- เราไม่เถียงผู้ใหญ่ (หากค้าน ก็แอบพึมพำเบาๆในใจ)

- เราพร้อมทำงานที่ได้รับมอบหมาย (แม้อาจไม่เห็นด้วยเสมอไป)

- เรามีสัมมาคาวระ พูดจารื่นหู (แม้พูดที่บ้านคนละวิธี แต่เมื่ออยู่ที่ทำงาน ก็ปรับให้สอดรับกับสถานที่)

โดยให้พี่หัวหน้าทดลองเปลี่ยนมุมมองว่า

“หากน้องใหม่คนนี้ เป็นคนที่มาจากเยอรมันนี ญี่ปุ่น บุรุนดี ฯลฯ

พี่จะใช้มาตรฐานของไทยเรา ไปวัดเขาหรือไม่?”

เราพร้อมยกประโยชน์ให้ “จำเลย” บ้างใช่ไหม หากเขาทำอะไรแตกต่าง

เพราะรับได้ว่า เขามาจากต่างถิ่น มีอะไรที่ไม่เหมือนเรา

พี่จึงพยายามที่จะเข้าใจพฤติกรรมเขา และตั้งใจปรับจากภาษาที่เราถนัด จัดให้เป็นภาษาที่เขาเข้าใจ ว่าเราต้องการให้เขาทำอะไร เพราะอะไร...อย่างใจเย็น

บังเอิญน้อง Gen Y เป็นคนไทย จึงถูกเหมาเอาว่า มันน่าจะต้องเหมือนเรา !

กระนั้นก็ดี ประสบการณ์ที่เขาผ่านมาตลอดชั่วชีวิต มีสิทธิ์ต่างกับรุ่นลุงป้ามากมายนัก

เช่น พ่อแม่เขาเสริมส่งสุดๆ ให้ลูกมีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าพูด (บ้านเราเรียกว่า “กล้าเถียง”)

พ่อแม่มีลูกช้า มีน้อย จึงเน้นทะนุถนอม ลิ้นไรอย่าบังอาจไต่ตอม ทั้งยอมอดกลั้นไม่ดุ ไม่ตี กลัวเขามีปมด้อย ฯลฯ (บ้านเราเรียกว่า “สปอยล์” ตามใจเกิน)

สรุป ให้คิดว่า น้องเขามาจากต่างดาวเราจะได้เลิกเอามาตรฐานยุคเรา ไปคาดคั้นกับเขาไง

กติกาข้อที่สอง ที่ตอกย้ำกับหลาน Gen Y

กรุณาตั้งหลักใหม่ ว่าอยากเรียนรู้ อยากได้โอกาส อยากก้าวหน้าใช่ไหม..หากใช่

ให้ลองคิดใหม่ว่า อยู่ในองค์กร ก็เหมือนเดินทางไปต่างประเทศ ที่ล้วนมีวัฒนธรรมแตกต่างจากบ้านเรา

ยามอยู่ในรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น เห็นคนรอบข้างไม่ใช้โทรศัพท์เสียงดัง น้องยังพร้อมงดใช้โทรศัพท์ ปรับตัวได้กลมกลืน หรือจะใช้รถไฟเขา รู้ว่าไม่ตรงเวลาไม่ได้ ปกติจะโอ้เอ้อย่างไร ก็ปรับตัวให้ตรงเวลาเป็น

การปรับพฤติกรรมในที่ทำงาน ก็อาการๆ คล้ายกัน

อาทิ ฝึกมีวินัย ใช้มธุรสวาจา ไปลา มาไหว้..ไว้อยู่บ้านค่อยเหวี่ยงค่ะ

นอกจากนั้น องค์กรจำนวนไม่น้อย ล้วนตระหนักว่ากลุ่ม “มนุษย์ต่างดาว” จะค่อยๆเข้าครอบครององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จึงต้องพร้อมปรับวิถีองค์กรบ้าง ให้สอดรับกับ “ลูกค้าภายใน” หรือ พนักงานรุ่นใหม่ ที่ร่วงหล่นมาจากดาวไกลโพ้น

ตัวอย่างหนึ่งคือ ซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ ยักษ์สัญชาติเกาหลี ที่สำนักงานในสหรัฐอเมริกา

Gen Y ในสหรัฐฯ น่าจะมีหลายสิ่งคล้ายกับ Gen Y ไทย อาทิ จากผลการวิจัยเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า Gen Y อเมริกัน 9 ใน 10 คน พร้อมเลือกซื้อสินค้าที่มีภาพลักษณ์ดีเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม

6 ใน 10 คน พร้อมที่จะเลือกทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียงดีในการดูแลสังคม แม้รายได้จะไม่สูงเท่าองค์กรอื่นก็ตาม

ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์นี้ ซัมซุงจึงมีนโยบาย Day of Service หรือ วันสำหรับพนักงานทำประโยชน์ให้สังคม

ที่ผ่านมา แม้องค์กรมีกิจกรรมจิตอาสาที่เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมอยู่แล้ว แต่ Day of Service แตกต่าง ในแง่ที่ซัมซุงแสดงความจริงจัง โดยประกาศปิดบริษัท เพื่อ Day of Service 2 วันต่อปี

ล่าสุด Day of Service จัดเมื่อ 13 พค. ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากพนักงาน

พนักงาน 4,000 คน จากซัมซุงทั่วสหรัฐฯ อาสาทำความดีร่วมกับองค์กร โดยรวมกลุ่มเป็นหลายทีม กระจายไปช่วยหลากหลายหน่วยงานและมูลนิธิทั่วประเทศ อาทิ คุณ Gregory Lee CEO ไปอ่านหนังสือให้เด็กในโรงเรียนเด็กด้อยโอกาสที่เป็นโรคเอดส์ฟัง คุณ Ann Woo ผู้บริหารที่รับผิดชอบโครงการ Day of Service ไปตัดกระดาษ แปะกาว ระบายสี ในโครงการศิลปะเพื่อเด็กเล็กของมูลนิธิการกุศล ฯลฯ

นอกจากนั้น พนักงานทุกคนสามารถชวนครอบครัวไปร่วมทำกิจกรรมด้วย จึงเหมือนวันครอบครัวไปในตัว ทั้งมีโอกาสสอนลูกหลานให้มีจิตใจเผื่อแผ่ ทั้งยังได้สนุกสนานชุ่มฉ่ำใจกับเพื่อนร่วมงานระหว่างการทำประโยชน์

ที่สำคัญ ต่างภาคภูมิใจที่ได้ทำสิ่งดีๆ และรับรู้ว่า องค์กรของเขาให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมอย่างจริงจัง จับต้องได้

บรรยากาศทั้งก่อนและหลัง Day of Service อบอวลไปด้วยน้ำใจ และความรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น

ในอดีต ที่ไม่ค่อยได้คุยกัน ก็ทักทายกันไปมา ว่าเธอจะไปมูลนิธิไหน ฉันจะไปทาสีโรงพยาบาลเด็ก ฯลฯ กลับมา ก็ถามไถ่กันเพิ่มเติมว่า ที่ไปมาเป็นอย่างไร ครั้งหน้าไปไหนดี..

ถือเป็นวิธีสร้างทีมและความผูกพัน ระหว่างกลุ่มคนที่ต่างจิตต่างใจ และ ระหว่างพนักงานกับองค์กรอย่างดียิ่ง

ซัมซุงจึงให้ใจต่อ บอกว่าพนักงานทุกคน ลาได้อีกคนละ 8 ชั่วโมงต่อปี เพื่อที่จะไปทำสิ่งดีๆให้สังคม ไปเมื่อใดก็ได้ ไม่ถือเป็นวันลาครับ!

ได้ภาพลักษณ์ ได้ความสุข ได้ใจกันไปมา

โดยเฉพาะใจ Gen Y ชนต่างดาวเจ้า “ปัญหา”

สรุปว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้มค่ะ