คนที่เคยพลาด ก็สามารถกู้..“กิจการหรือเงิน”ได้

คนที่เคยพลาด ก็สามารถกู้..“กิจการหรือเงิน”ได้

ช่วงเทศกาลหยุดยาวที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SMEs หลายๆ กิจการต่างอิ่มเอิบใจกับรายได้ที่เข้ามาเป็นกอบเป็นกำ

จากผลพ่วงความพยายามของรัฐที่ต้องการให้เงินทองหมุนเวียนอยู่ในประเทศ จึงได้เชิญชวนให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายนที่ผ่านมาสามารถนำใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีสำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่มที่จ่ายให้กับร้านอาหาร ค่าแพ็กเก็จทัวร์และค่าที่พักโรงแรมในไทยที่จ่ายให้ผู้ประกอบการซึ่งจดภาษีมูลค่าเพิ่มมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึงคนละ 15,000 บาท นอกจากนี้ยังต่ออายุมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2559 หากไปเที่ยวไทย

เท่านั้นไม่พอ เหล่าบรรดาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อย่างเช่นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน รวมถึงธนาคารพาณิชย์ต่างออกมาตบเท้าประกาศ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ SMEs ลง 0.125 - 0.625%

งานนี้เรียกว่า จัดเต็ม จัดหนักให้แก่ SMEs มีสภาพคล่องหรือเงินสดไว้หมุนเวียนในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และที่สำคัญ SMEs ที่เคยพลาดท่าเสียที ก็มีโอกาสพลิกฟื้นกอบกู้กิจการและเตรียมตัวเข้าหาแหล่งทุนเพิ่มเติม

การเตรียมตัวเข้าหาแหล่งเงินทุน สำหรับผู้ประกอบการที่เคยพลาดท่านั้น ส่วนใหญ่ก็มีเหตุมาจาก “ความสามารถในการชำระหนี้ที่ไม่เพียงพอ” หรือพูดง่ายๆ ว่า ผู้ประกอบการไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะชำระหนี้ (เงินต้นและดอกเบี้ย) ได้ตามที่ระบุในสัญญา จนนำไปสู่การเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงิน และเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อไปได้ ดังนั้น จึงเกิดคำถามตามมาว่า “ผู้ประกอบการ SMEs ต้องทำอย่างไร?”

ก่อนอื่น ท่านผู้ประกอบการต้องเข้าเข้าใจก่อนว่า ความสามารถในการชำระหนี้จะเกิดจากรายได้ของกิจการ หักด้วย ค่าใช้จ่าย หรือถ้านำมาเขียนเป็นสูตรการคำนวณแบบง่ายๆ เบื้องต้นก็จะได้ว่า

รายได้-ค่าใช้จ่าย = ความสามารถในการชำระหนี้ (จำนวนเงินที่เหลือสำหรับชำระเงินต้นและดอกเบี้ย)

ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีรายได้เดือนละ 10 บาท มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 3.50 บาท บริษัท A ก็จะมีเงินเหลืออยู่จำนวน 6.50 บาท และถ้าบริษัท A มีเงินกู้ 120 บาท จ่ายดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินร้อยละ 7 ต่อปี มีระยะเวลาการกู้เงินหรือผ่อนชำระคืนเงินต้นและดอกบี้ยกับสถาบันการเงิน 60 งวด เมื่อคิดเป็นเงินต้นที่ต้องชำระคืนต่องวดจะเท่ากับ 2 บาท และดอกเบี้ยอีกประมาณ 0.70 บาท กิจการก็ยังมีเงินเหลืออีก 3.80 บาท

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ไม่ปกติทำให้ รายได้ของบริษัทลดลงเหลือเดือนละ 6 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงที่เดือนละ 3.50 บาท ก็จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะจะมีเงินเหลือไว้ชำระหนี้ได้เพียง 2.50 บาท ในขณะที่มีภาระต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 2.70 บาท จึงเป็นเหตุให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินนั้นเอง

เมื่อท่านผู้ประกอบการเข้าใจสถานการณ์ข้างต้นแล้ว ท่านต้องรีบป้องกันตนเองไม่ให้มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือถ้ากิจการใดที่พลาดท่าไปแล้วก็ต้องรีบแก้ไขให้สถานะกิจการของตนเองกลับมาสู่ภาวะปกติ โดยเข้ามาปรึกษาหารือกับสถาบันการเงินที่ดูแลกิจการของท่านอยู่ เพื่อทำการ ปรับงวดผ่อนชำระหนี้ใหม่ หรือที่เรียกว่า Reschedule Payment” โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป เช่น อย่างกรณีตัวอย่างนี้ ถ้าเราขยายระยะเวลาการกู้เงินออกไปอีก 1 ปี ท่านจะลดการชำระคืนค่างวดลงจาก 2.00 บาท เป็น 1.67 บาท และเมื่อรวมจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 0.70 บาทแล้ว ท่านก็ยังคงมีเงินเหลือไว้หมุนเวียนในกิจการอีก 0.13 บาท

จะเห็นว่าเพียงแค่ท่านกล้าเดินหน้าเข้าปรึกษาหารือกับสถาบันการเงิน และปรับรูปแบบการชำระเงินของท่านให้เหมาะสมก็สามารถป้องกัน หรือแก้ไขไม่ให้กิจการของท่านต้องพลาดท่าเสียทีกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แล้ว จากนี้ไปท่านประคับประคองกิจการของท่านไปอีกสักระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ท่านก็สามารถเข้าสู่แหล่งทุนตามปกติแล้วครับ