เมื่อคนเชื่อว่าหยวนจะไม่หยวน

เมื่อคนเชื่อว่าหยวนจะไม่หยวน

ที่พูดถึงนี้หมายถึงเงินตราของประเทศจีนนะครับ หยวน (Chinese Yuan ; CNY) หรืออีกชื่อว่า เหรินหมินปี้ (Renminbi)

เป็นเงินตราสกุลของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ ตอนนี้ก็มีการพูดจากันแบบ “นิยายตื่นเต้นเร้าใจ” กันมาก หากท่านได้ติดตามกันตามโซเชียลมีเดียกัน ผมเลยอยากใช้โอกาสของผมตรงนี้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้นะครับ อาจจะเห็นคล้องหรือเห็นต่าง ขอให้ท่านโปรดใช้วิจารณญาณ ด้วยนะครับ ทั้งหลายทั้งปวงเป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ 

ข้อเท็จจริงแรก จีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลกลางสหรัฐ (U.S. Treasury) อยู่มากประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่อีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้ที่ผู้คน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลมีเดีย) ไม่ค่อยได้กล่าวถึงก็คือ มีอีกประเทศหนึ่งที่ถือครองในจำนวนที่ใกล้เคียงกันมากประเทศนั้นก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งถือครองอยู่ประมาณ 1.23 ล้านล้านดอลลาร์ สูสีมากครับ ตัวเลขมีขึ้นลงตลอดแต่คงไม่แตกต่างจากที่กล่าวข้างต้นสักเท่าไหร่หรอกครับ

ข้อเท็จจริงที่สอง เงินสกุลของจีนนี้เพิ่งได้รับสถานะเป็นเงินสกุลหนึ่งใน SDRs (Special Drawing Rights) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF พูดแบบภาษาชาวบ้านคือถือว่าเป็นเงินสกุลที่เป็นสำรองระหว่างประเทศได้

ข้อเท็จจริงที่สาม ตลาดพันธบัตรรัฐบาลจีนเพิ่งได้มีการผ่อนคลายเงื่อนไขการลงทุน กล่าวโดยย่อคือยกเลิกระบบการจัดสารโควต้าสำหรับนักลงทุนต่างชาติ การผ่อนคลายครั้งนี้จะส่งผลทำให้ตลาดตราสารหนี้ (เริ่มต้นที่ภาครัฐก่อน) ได้รับความสนใจจากต่างชาติมากขึ้น และจะทำให้การซื้อ/ขายพันธบัตรคึกคักขึ้นในระยะเวลาต่อไป ถึงแม้จะมีเงื่อนไขที่จำกัดการซื้อ/ขายอยู่บ้างก็ตาม

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ผมเรียนข้างต้นไม่ว่าจะเป็นขาใหญ่ในตลาดตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐหรือสถานะของเงินหยวนในเวทีระหว่างประเทศและการผ่อนคลายการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ภาครัฐของตนเอง การที่มีคนกล่าวกันว่าหยวนจีนจะมาแทนเงินดอลลาร์ของสหรัฐในการเป็นเงินสกุลของโลก ก็น่าจะเป็นจริงไม่ใช่หรือ คำตอบของผมคือ ใช่ครับ แต่ทว่าคงจะไม่ใช่ในเร็ววันหรือเดือนหรือไม่กี่ปี อย่างที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยินได้อ่านจากที่คนเขาแชร์กันมาในโซเชียลมีเดีย อ่านกันเพลินแล้วก็มโนต่อๆ กันไปนะครับ

ผมเองนั้นเชื่อว่าถ้าหยวนจีนผงาดขึ้นมา เอาเป็นว่าแค่เป็นเงินสกุลทางเลือกในการใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างประเทศได้ภายใน 10 ปี ก็ถือว่าใช้ได้แล้วนะครับ โดยมิพักต้องพูดถึงการ ”มาแทน” เงินดอลลาร์ ถ้าสามารถมาแทนได้ภายใน 20 ปี จากนี้ไปก็ถือว่าเป็นเรื่องที่อเมซซิ่งมากมาย ที่กล่าวอย่างนี้ผมไม่ได้บังอาจ ”ท้าทาย” ความเห็นต่างๆ ที่ ”เชียร์” จีนกันเหลือเกิน แต่ผมวิเคราะห์เอาจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมากับญี่ปุ่นและเงินเยนในช่วงทศวรรษ 70-80 ที่ตอนนั้นญี่ปุ่นก็ครองโลกนะครับ (ไม่เชื่อลองกลับไปหาหนังเรื่อง Die Hard ภาคแรกมาดูก็น่าจะได้ความรู้สึกนี้นะครับ)

หากทว่าจีนเรียนรู้บทเรียนญี่ปุ่นและสมมติว่าแก้ไข/อุดรูรั่วได้ทั้งหมด เพื่อนำพาเงินของตนไปสู่เงินสกุลหลักของโลก (ไม่ว่าจะเป็นแบบทางเลือกหรือแทนดอลลาร์ก็ตาม) ก็คงไม่ใช่ชั่วข้ามคืนหรือแบบที่บางท่านกล่าวว่าก็ ”ขายทิ้ง” U.S.Treasury” ที่ถืออยู่ก็เสร็จ ซึ่งมันดูเป็นหนังแนวเจมส์บอนด์มากไปหน่อย เพราะการ ”ขายทิ้ง” ดังกล่าวคงจะเกิดขึ้นได้ยากเพราะตลาดเองก็ไม่สามารถจะรองรับปริมาณดังกล่าวในระยะเวลาอันสั้นได้ หรือตัวคนถือครองอยู่เอง หากทำอย่างนั้นก็น่าจะเป็นผลเสียหายรุนแรงมากกว่าผลดี (ซึ่งคืออะไรผมก็ยังนึกไม่ออก) หากแต่ว่าคงต้องทะยอยทำมากกว่านะครับ หากจีนต้องการ”Liquidate” จริง ๆ

มีอีกประเด็นหนึ่งที่ Social media พูดกันเยอะเรื่องปริมาณเงินดอลลาร์มากมายจากการทำ QE ของ Fed ในทำนองว่าเงินดอลลาร์จะไม่มีมูลค่าหรือด้อยค่าลงไป และจะไม่มีอนาคตแล้ว ผมก็อยากเรียนอย่างนี้นะครับว่า อย่าได้ไปห่วงใยเขาเลยครับ เขาอัดฉีดเข้ามาได้ เขาก็จัดการ ”ดูดกลับ” ไปได้ครับ สถานะของเขาได้เปรียบอยู่แล้ว เนื่องจากเงินของเขาเป็นเงินสกุลหลักของโลก (อย่างน้อยก็ยังเป็นอยู่นะครับ) เราคงต้องมาวิเคราะห์กันดีกว่าว่าตัวสหรัฐเอง หากจะดูดเงินตัวเองกลับไปแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น และเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ดังกล่าวจะดีกว่านะครับ เก็บความรู้สึกไม่ชอบขี้หน้าเอาไว้ที่อื่นก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวกระเป๋าตัวเองจะฉีกเสียก่อนนะครับ

หากเรามองในบริบทของเหล่าธนาคารกลางต่างๆ แล้ว เราก็จะเห็นภาพที่ชัดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางในชาติที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อันได้แก่ Fed หรือ BoJ หรือ PBoC ผมได้เคยกล่าวถึง actions ต่างๆ ที่ธนาคารกลางเหล่านี้มาโดยตลอดแล้วนะครับ เพียงแต่ในเรื่องนี้ก็อยากจะให้มุมมองเพิ่มเติมเผื่อจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาสถานะของหยวนจีนที่เราได้วิเคราะห์กันในครั้งนี้ บริบทที่ว่าคือหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ ในกรณีนี้ PBoC ก็ต้องแน่ใจอย่างยิ่ง หากต้องการผลักดันให้เงินของตนเป็นเงินสกุลหลักของโลก และในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการที่หยวนจีนมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ บางทีก็แก้ไขได้ดี บางทีก็แก้ไขได้ไม่ดี ตัวอย่างก็มีให้เห็นในกรณีของ BoJ และเงินเยน ซึ่งในขณะหนึ่งที่เยนมีค่าอ่อนอย่างตั้งใจเพื่อสนับสนุนการส่งออก และในที่สุดในฐานะที่เป็นเงินสกุลหลักสกุลหนึ่ง ก็ต้องยอมให้เงินตัวเองแข็งค่า สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจที่ชะงักงันมานานจนถึงขณะนี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของเงินเยนดังกล่าวข้างต้นนะครับ สวัสดี