วันหุ้นเยอะ

วันหุ้นเยอะ

โค้งสุดท้ายของฤดูกาล AGM 2559 ก็เดินมาถึง ความร้อนระอุทะลุ 40 องศา กับงานจิตอาสาตลอด 31 วันในฤดูกาลนี้กำลังจะจบลง

ท่ามกลางเสียงถอนหายใจ ..เฮือกใหญ่ ของผู้บริหารที่มักจะเกิดอาการแบบนี้ เป็นฤดูกาลมาตามนัดของทุกปี และกระจุกตัวการประชุมอยู่ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ถึงเกือบ 60% ของบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่ในตลาดหุ้นไทย ที่ระบุตามกฏหมาย ว่า ต้องมีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ภายใน 120 วันหลังปิดงวดบัญชี ส่วนใหญ่ปิดงวด คือ 31 ธันวาคม ดังนั้น วันสุดท้ายของการจัดประชุมคือ 30 เมษายน

วันหุ้นเยอะ หรือวันที่มีการ กระจุกตัวของการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ในปีนี้--2559 ปีที่ร้อนทะลุปรอท 40 องศา คือ วันที่ 28 เมษายน มีจำนวน 83 บริษัท กระจายเกือบทุกโรงแรมในกรุงเทพมหานคร และอาจจะจัดที่สำนักงานใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อเทียบกับ 2 ปี ก่อน ด้วยสถิติที่ไม่น้อยหน้าไปกว่ากันปี 2557 คือ 25 เมษายนจำนวน 92 บริษัท และปี 2558 จำนวน 76 บริษัท ตามลำดับ

ตัวเลขเรียงกันมา คือ 92/76/83 บริษัท อยู่ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี มาตามนัดและมากระจุกตัวกันเช่นนี้ จึงมี เสียงคำถามตามมา พร้อมคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลที่น่าสนใจ ด้านบริษัทจดทะเบียน: ต้องรองบการเงินฉบับสมบูรณ์ จากผู้สอบบัญชี ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อขึ้นทะเบียนที่ทาง ก.ล.ต. ไว้แล้ว จำนวน 177 คน เฉลี่ยแบบตัวเลขเส้นตรง แต่ละคนจะเป็นผู้เซ็นต์รับรองงบการเงินราว 4 บริษัท ทั้งนี้ มากน้อยตามแบรนด์ดิ้งของแต่ละคน รวมทั้งเป็นบริษัทข้ามชาติหรือสัญชาติไทย

ต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ถูกต้องตามกฎหมายหลายฉบับและตามนโยบายของบริษัทในการเปิดเผยข้อมูล กว่าจะสรุปออกมาเป็นวาระการประชุมได้ ล้วนต้องใช้เวลาตามวาระปกติที่ต้องนำเสนอ อาทิ การรับรองงบการเงิน, การรับรองรายงานการประชุมในครั้งก่อนหน้า, การอนุมัติค่าสอบบัญชี, การเลือกตั้งกรรมการ, การพิจารณาค่าตอบแทนกรรมการ หรืออาจจะมีวาระการเพิ่มทุน, การออกหุ้นกู้, การออกวอร์แรนท์, การออก ESOP, การชี้แจงกรณีการได้มาซึ่งทรัพย์สิน น่าเห็นใจเลขานุการบริษัทที่ต้องทำหน้าที่มือประสานสิบทิศ กว่าจะตกผลึกออกมา เป็นวาระการประชุม อย่างที่เราเห็นกันในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งลงเผยแพร่ลงในเว๊บไซต์ของบริษัท ก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เป็นเวลา 30 วันล่วงหน้า ส่วนรายงานประจำปีสามารถส่งตามได้ล่วงหน้าก่อนวันประชุม 7 วัน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่การประชุม AGM จะกระจุกตัวกัน ตามการดังกล่าว ถามว่าจะเร็วกว่านี้ หรือกระจายตัวออกไปบ้าง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีโอกาสจัดเวลาไปประชุมในหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ แบบไม่ซ้ำซ้อนกันในวันเดียวกัน จนไม่สามารถแบ่งภาคโคลนนิ่งได้นั้น จะเป็นไปได้ไหม คงต้องกลับไปอ่านข้อมูลข้างบนอีกรอบกระมัง

มีข้อมูลแลกเปลี่ยนกัน ว่าในตลาดหุ้นฮ่องกง เขากำหนดให้ส่งงบการเงินภายใน 3 เดือน และจัดประชุมผู้ถือหุ้นภายใน 6 เดือน

ด้านผู้ถือหุ้น เขาและเธอเป็นเจ้าของ เจ้านาย ของบริษัท จึงควรไปตรวจงานกันหน่อย ว่าผู้บริหารจัดการกับกิจการของคุณอย่างไร ไปถามไถ่ ไปพูดคุย โดยอ่านข้อมูล ทำการบ้านไปก่อนล่วงหน้า ถามอย่างสร้างสรรค์ ตรงวาระ เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นส่วนรวม และรักษาเวลา

น่าชื่นชม ว่านักลงทุนรายบุคคลรุ่นใหม่กลุ่มใหญ่เป็นนักลงทุนคุณภาพที่ขยัน เส้นทางที่พวกเขาเลือกประกอบอาชีพยอดนิยมในยามนี้ คือ เป็นนักลงทุนเต็มเวลา หมายถึงไม่ประกอบอาชีพอื่น นอกจากลงทุนในหุ้น ในตราสารทางการเงิน ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน ไม่ต้องตอกบัตรทุกเช้า มีความอิสระ บริหารเวลา ด้วยตนเอง แบบชิลชิล

ข้อมูลภาคสนามที่เก็บข้อมูลจริงรายงานเป็นสถิติบางซีกส่วน ว่ายังมีผู้ถือหุ้นรุ่นอาวุโสที่ยังมีพฤติกรรมส่วนตน แสดงออกถึงบางมุมที่อาจถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ คือ การลุกขึ้นทวงของชำร่วยจากผู้บริหาร หรือการด่าทอ ต่อว่า สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในการรณรงค์งดแจกของชำร่วย โดยสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ ก.ล.ต. ด้วยเช่นกัน

ยังมีประเด็นส่วนตน เรื่องเล็กๆ ของผู้ถือหุ้นบางคน เช่น การทวงของว่าง ทวงอาหารกลางวัน บอกว่า รีบมาประชุม ยังไม่ได้ทานมื้อกลางวัน มีผู้บริหาร (ท่านหนึ่ง) โต้แบบเผ็ดๆว่า “ ครับ รับทราบ ปีหน้าผมจะเชิญประชุมสักบ่ายสาม ผู้ถือหุ้นจะได้ทานข้าวมาให้เรียบร้อยก่อน” ไหมล่ะ..เผ็ด เด็ดพอกัน

และยังพอจะพบเห็นพฤติกรรมที่จ้องใช้เวทีเป็นที่ปราศรัยเหมือนอภิปรายในสภา ใช้เวลายืดย้อยยอวาทีบ้าง เหน็บแหนบบ้าง พอเจ็บคัน ได้ระบายความในใจกันปีละหน และยังมีข่าวลือสะพัด เรื่องการเจรจารับ หน้าเสื่อการประชุม ให้พลิกคว่ำ พลิกหงาย ตามนิ้วที่ชี้นำ อาจเรียกเป็น เดอะแก๊งส์หรือ ก๊วนทำงานแบบสีเทาๆ กับ (บาง) บริษัท ที่สีเทาๆ ด้วย DNA เดียวกัน เพราะเราเข้าใจกันแล้วนะ ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกย่อมมีด้านขาวด้านดำ หุ้นไทยก็เช่นกัน

การทำงานของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล ที่เป็นผู้จัดทำโครงการ การประเมินคุณภาพ การจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 ด้วยการส่งอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น เข้าร่วมประชุม และทำการประเมิน คะแนน จากนั้นจะใช้เป็นฐานในการคำนวนคะแนนด้านธรรมาภิบาลของตลาดหุ้นไทย หากคะแนน CG ดี หุ้นไทยก็น่าสนใจที่จะลงทุน หากคะแนนลดก็อยู่ในทิศทางตรงกันข้าม

มีปุฉา-วิสัจฉนา เรื่องธรรมาภิบาล กับกำไร-ขาดทุน ของบริษัท ว่า ควรไปทิศทางเดียวกัน หรือแยกส่วนกันมอง หมายถึง บริษัทที่มีกำไรดี แต่ไม่มีมีธรรมาภิบาลก็ได้อย่างนั้นหรือ มีปันผลงามๆ จ่ายให้ผู้ถือหุ้นก็พอแล้ว แต่การบริหารงานจะมีนอกมีใน ก็หลับตาไม่มอง ไม่ต้องแคร์ อย่างนั้นหรือ

แต่โลกปัจจุบัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความศรัทธาเชื่อมั่นต่อองค์กร ต่อความเป็นคนดีของผู้บริหารมีมากมีน้อยย่อมพิสูจน์จากพฤติกรรม ยิ่งตำแหน่งสูง ยิ่งต้องการจริยธรรมสูงเป็นเงาตามตัว จะมาบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ย่อมฟังไม่ขึ้นแน่ๆ สังคมจะให้อภัยไหม หากยังไม่รู้สึกตัวว่าทำในสิ่งที่ควร หรือไม่ควร เหมือนบุญ-บาป ที่เจ้าตัวย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ

28 เมษายน มี 83 บริษัทวันหุ้นเยอะที่สุด ตามด้วย 29 เมษายนอีก 76 บริษัท เป็นอันปิดฉาก รูดม่านฤดูกาล AGM 2559

ยังมีข้อมูลภาคสนาม สนุกๆ ที่ดิฉัน อยากเล่า อยากแชร์ รอหลังปิดฤดูกาล คือ หลัง 30 เมษายน สถิติต่างๆ จะถูกลำเลียงออกมา ทั้งภาพ ทั้งเสียง ทั้งตัวเลขเชิงสถิติ เชิงคุณภาพ คาดไม่ถึงกันเลยล่ะ ติดตามกันได้คะ

หากกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า วันนี้-28 เมษายน จะเป็นวันที่มีอุณหภูมิทะลุปรอทกว่า 40 องศา วันนี้เช่นกัน ที่พี่น้องอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น ทุกคน ต่างทำหน้าที่ ด้วยจิตอาสา และคาถา 3 เต็ม คือ เต็มที่ เต็มใจ และเต็มศักดิ์ศรี