เหลียวมองการค้าอินเดียกับอาเซียน

เหลียวมองการค้าอินเดียกับอาเซียน

อาเซียนและอินเดียได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย หรือ ASEAN-India Free Trade Agreement (AIFTA)

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ

การได้ลงนามความตกลงดังกล่าวเป็นผลมาจากความพยายามในการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย มายาวนานกว่า 6 ปี ตั้งแต่ปี 2545 และทั้งสองฝ่ายได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่างๆ หรือ Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation Agreement (CECA) เมื่อปี 2546

ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า หรือ Agreement on Trade in Goods (TIG) มีผลให้อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เริ่มลดภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 และประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และอินเดียจะยกเลิกภาษีศุลกากรของสินค้าโดยรวมประมาณร้อยละ 80 ของรายการสินค้าภายในปี 2559

ขณะที่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียนอื่นๆ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และอินเดียจะยกเลิกภาษีภายในปี 2564 ส่วนประเทศฟิลิปปินส์และอินเดียจะยกเลิกภาษีภายในปี 2562

ฝ่ายไทยมองว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และมีความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและจีน ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 7-8 ต่อปี ส่งผลให้ประชากรมีรายได้สูงขึ้นและเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มี กำลังซื้อปานกลางถึงสูงรวมกว่า 350 ล้านคน อินเดียจึงเป็นตลาดใหม่ทีมีศักยภาพรองรับการส่งออกของไทย

ขณะที่ฝ่ายอินเดียมองว่า 10 ประเทศในอาเซียนถือเป็นกลุ่มประเทศที่ใกล้ชิดกับอินเดียมากเป็นลำดับสอง รองจากประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ แต่โดยที่กลุ่มประเทศเอเชียใต้ส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ที่ช้า อินเดียจึงเล็งเห็นว่า จำเป็นที่ต้องมองไปทางฝั่งตะวันออก เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับกลุ่มอาเซียน จึงให้ความสำคัญกับนโยบาย Look East Policy

การลงนามในความตกลง TIG จึงมีความสำคัญต่ออินเดียอย่างยิ่ง และเปรียบเสมือนเป็นการสร้างเขตการค้าเสรีที่มีประชากรมากกว่า 1.8 ล้านคน และมี GDP รวมกันกว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และขณะนี้ มีรายการสินค้ากว่า 4,000 รายการที่จะลดภาษีให้เหลือ 0 ภายในปี 2559 นี้

เมื่อดูสถิติ จะพบว่า การค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียภายหลังการลงนามความตกลง TIG ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีมูลค่าและการเติบโตน้อยกว่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน อาเซียนกับญี่ปุ่น และอาเซียนกับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

ในปี 2554 ภายหลังจากการลดภาษีตามความตกลง มูลค่าการค้าระหว่างอินเดียกับอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก ปี 2542 ที่มีรวม 43,911.67 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 56,235.85 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวสูงถึงร้อยละ 28 และได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2557 มูลค่าการค้ารวมอาเซียน-อินเดีย มีสูงถึง 76,527.35 ล้านดอลลาร์

จากสถิติการค้าทั้งในส่วนของการนำเข้าและส่งออกระหว่างอินเดียกับอาเซียนมีเพิ่มขึ้นโดยตลอด ยกเว้นในปี 2555 ที่การส่งออกของอินเดียไปยังอาเซียนมีการเติบโตที่ติดลบ (รูปที่ 1)

การส่งออกสินค้าไปยังอาเซียนของอินเดีย ในปี 2557 มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 10.25 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอินเดีย และมูลค่าการนำเข้า มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 9.98 (รูปที่ 2)

สินค้าส่วนใหญ่ที่อินเดียได้ประโยชน์จาก TIG ก็ได้แก่ การส่งออกสินค้าทางด้านวิศวกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์พวกแร่โลหะต่างๆ ไปยังอาเซียน

อย่างไรก็ดี อินเดียมองว่า ในการทำการค้าระหว่างอินเดียกับอาเซียน ยังคงมีอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non Tariff Barriers) อื่นๆ ในโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปสรรคทางเทคนิค ซึ่งได้แก่ เรื่อง มาตรฐานสินค้า มาตรฐานการผลิตสินค้า การตรวจสอบสินค้า และอุปสรรคด้านอื่นๆ เช่น การจำกัดโควต้า การนำเข้าสินค้า เช่น กรณีเวียดนามกำหนดโควต้าการนำเข้าสินค้าส่วนประกอบยานยนต์ การให้ใบอนุญาต (licensing) ของสินค้าบางประเภท เช่น กรณีของสินค้าเวชภัณฑ์ และการห้ามนำเข้า เช่น สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์จากอินเดีย

นอกจากนี้ พ่อค้าอินเดียยังมองว่า รัฐบาลอินเดียยังไม่ได้ให้การสนับสนุนการส่งออกอย่างจริงจัง และมองว่า กระบวนการส่งออกจากอินเดียใช้เวลายาวนาน และเสียเงินและเสียเวลาค่อนข้างมาก อีกทั้งยังต้องมีสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของอินเดีย อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทางและระบบโลจิสติกส์ของอินเดียยังไม่ดีพอ รวมถึงรัฐบาลยังมีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ซึ่งล้วนส่งผลต่อต้นทุนการส่งออกของพ่อค้าอินเดีย

หากพิจารณาดูความเคลื่อนไหวของอินเดียในระยะนี้ จะพบว่า อินเดียมิได้มองเฉพาะการค้าระหว่างอินเดียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่กำลังพยายามที่จะเชื่อมโยงการค้าของอินเดียเข้ากับกลุ่มทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และแม้กระทั่งความตกลงหุ้นส่วนทางทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP)

โดยอินเดียมองว่าจะใช้ประโยชน์จากประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิก TPP ได้อย่างไร และในสาขาใด

รายงานข่าวเมื่อกลางปีที่แล้ว ระบุว่า อินเดียเป็นประเทศที่ประกาศจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอินเดียไปลงทุนธุรกิจ สิ่งทอในเวียดนามด้วยการเสนอสิทธิพิเศษ ทั้งด้านการเงินและด้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยการลงทุนดังกล่าวจะทำให้ได้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปขายในประเทศสมาชิกของ TPP ที่มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของการค้าโลก

แต่อย่างไรก็ดี อินเดียยังเป็นประเทศที่ยังไม่เข้าร่วม TPP โดยประเมินว่า อินเดียจะประสบปัญหาทางการค้าหลายประการ หากตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง TPP โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเรื่องสิทธิบัตรยา เนื่องจากจะทำให้ยาในอินเดียมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อประชากรอินเดียในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางอย่างรุนแรง