งานประจำ-ฟรีแลนซ์-งานไม่ประจำ(ตอนที่2)

งานประจำ-ฟรีแลนซ์-งานไม่ประจำ(ตอนที่2)

Gig Economy งานไม่ประจำ ทำหลายจ๊อบ จึงเป็นโอกาส เป็นความท้าทาย และเป็นทางเลือกที่คนรุ่นใหม่ต้องการ

บทความตอนที่แล้ว ผมเล่าถึงวิวัฒนาการของงานประจำในระบบราชการ ระบบเอกชน มาสู่ยุคงานไม่ประจำแบบฟรีแลนซ์ ที่คนทำมีความเชี่ยวชาญในงานเดียว กระทั่งพัฒนาการล่าสุด มาสู่งานไม่ประจำรับเป็นจ๊อบ หลายจ๊อบ ทำเสร็จแล้วจบ ซึ่งในอเมริกาเรียกรูปแบบการทำงานนี้ว่า 'Gig Economy' คืองานไม่ประจำ ทำหลายจ๊อบ

ตัวอย่างของ Gig Economy เช่น นายสมบัติ เพิ่งเรียนจบ อาจจะรับงานหลายจ๊อบ(Gig)โดยมีทั้งขายของในไอจี(Instagram)ในช่วงเช้า, ช่วงกลางวันนัดพบลูกค้ามาเช่าบ้านตัวเองที่แบ่งพื้นที่ให้เช่าในAirBnBและช่วงเย็นรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินำเที่ยวชิมอาหารย่านเยาวราชผ่านทางแอพTake Me Tour

นายสมบัติจึงเป็นคนที่มีรายได้หลายทาง ทั้งขายของในฐานะพ่อค้า IG, นักธุรกิจห้องเช่าใน AirBnBและ ผู้นำเที่ยวใน Take Me Tour
ถามว่าอะไรที่ทำให้คนรุ่นเจน Y และ Z ทำแบบนี้ได้ ? การเกิด Gig Economy มีปัจจัยสำคัญดังนี้

1. อินเทอร์เนต โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เนตความเร็วสูง 3G 4G รวมทั้งเนตบ้าน ทำให้คนทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้ เชื่อมต่อกับโลกได้ทุกที่ ทุกเวลา

2. แอพพลิเคชั่น พัฒนาการของโลกแอพ ไปไกลมาก โลกเรามีโซเชียลมีเดียที่ใช้กันทั้งโลกอย่าง Facebook, Twitter เรามีแอพแชร์ภาพชื่อดังอย่าง Instagram เรามีแอพแชทสื่อสารอย่าง WhatsApp และ LINE และ กำลังมีแอพยุคใหม่ ที่เอื้อให้คนทำงานได้มากขึ้นอย่าง Grab TAXI, UBER, และ AirBnB

3. คนรุ่นใหม่ ผู้นำในโลกยุค 10 ปีข้างหน้ากำลังจะถูกขับเคลื่อนโดยคนเจน Y และ Z ซึ่งเป็นคนที่เติบโตมากับเทคโนโลยี และความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร และเป็นคนที่พร้อมรับอะไรใหม่ๆเต็มที่

สิ่งที่ผลักดันคนเจน Y และ Z ให้หันมาทำ “งานไม่ประจำ ทำหลายจ๊อบ”มากขึ้น ผมคิดว่ามีเรื่องมุมมองต่อความมั่นคงในงานที่ไม่เหมือนเดิม พวกเขาสงสัยอย่างยิ่งว่า …
• เงินเดือน 15,000-18,000 บาท จะสร้างความมั่นคงในชีวิตได้อย่างไร ?
• อัตราการขึ้นเงินเดือน 3-5% หรืออย่างเก่ง 10% จะสร้างความมั่นคงในชีวิตได้อย่างไร ?
• การไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร ใช้เวลาเป็น 10 ปีขึ้นไป พวกเขามองว่านั่นเป็นความเสี่ยงมหาศาล(คนรุ่นใหม่ทำงาน 1-2 ปีก็ถามหนักๆละว่าเมื่อไหร่จะได้เป็นผู้จัดการ)

ดังนั้น Gig Economy งานไม่ประจำ ทำหลายจ๊อบ จึงเป็นโอกาส เป็นความท้าทาย และเป็นทางเลือกที่คนรุ่นใหม่ต้องการ ตอบโจทย์ความเป็นผู้ประกอบการ ตอบโจทย์ความท้าทายในชีวิตทำงาน ตอบโจทย์ความเป็นเจ้านายตัวเอง บริหารจัดการเวลาของตัวเองได้

Gig Economy ยังเติมเต็มความต้องการเบื้องลึกอีกอย่างของคนรุ่นใหม่ คือ 'การใช้ชีวิตไปด้วย ทำงานไปด้วย' เพราะพวกเขาเห็นพ่อแม่ทำงานหนักเป็นลูกจ้างองค์กรมาทั้งชีวิต กว่าจะได้เที่ยวจริงจังก็วัยใกล้เกษียณเข้าไปแล้ว ชีวิตทำงานจึงไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่พวกเขาต้องการ

คำแนะนำ3 ข้อของผม สำหรับคนเจน Y และ Z ที่จะเข้าสู่ Gig Economy อย่างเต็มตัวในอนาคตอันใกล้นี้ คือ
1. จงสร้างบ่อน้ำไว้หลายบ่อ...สร้างความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ความมั่นคงของชีวิต ไม่เคยมีอยู่ในงานเดียว
2. จงเป็นเจ้านายตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ...งานฟรีแลนซ์ งานไม่ประจำทำหลายจ๊อบ ไม่มีเจ้านายมาสั่งเรา จึงจำเป็นที่ตัวเราต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและตัวเองอย่างสูงยิ่ง
3. จงเป็นมนุษย์เกิน 100… ด้วยความที่ต้องทำงานหลายจ๊อบ ทั้งหาลูกค้า หานายจ้าง หรือบางครั้งอาจจะทำงานประจำร่วมด้วย การเป็นมนุษย์เกิน 100% เหยียบเรือหลายแคม ต้องใช้พลังกายพลังใจสูง

จริงอยู่ ว่างานไม่ประจำทำหลายจ๊อบ อาจจะไม่เหมาะกับคนเจน Y,Z ทุกคน ซึ่งก็ต้องดูจริต ดูจังหวะชีวิตของแต่ละคน แต่ผมมีความเชื่อลึกๆว่า คนรุ่นใหม่ต้องการความยืดหยุ่น (Flexible) และความเป็นเจ้าของ(Ownership) งานลักษณะนี้จึงน่าจะเป็นเทรนด์ของรุ่นใหม่ทั่วโลก

ที่อเมริกามีคนทำงานไม่ประจำทั้งประเทศมากถึง 53.7 ล้านคน (ข้อมูลจาก upwork.com)คิดเป็น 16.8% ของจำนวนประชากร ...เยอะมากใช่เล่นครับ ถึงขนาดที่เรื่อง Gig Economy เป็นประเด็นในการหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อย่างฮิลลารี่ คลินตัน พูดถึงนโยบายการส่งเสริม Gig Economy ว่าจะทำอย่างไร โดยใช้คำเรียกเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ว่า Micro Entrepreneurship (ผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว)

งานไม่ประจำ ทำหลายจ๊อบ ...เทรนด์นี้มาแน่ๆ ครับ