ธนาคารพาณิชย์พร้อมใจลดดอกเบี้ย

ธนาคารพาณิชย์พร้อมใจลดดอกเบี้ย

เมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง 4 แบงก์ใหญ่ (BBL SCB KBANK KTB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 25bps อยู่ที่ 6.25-6.275%

เพื่อช่วยลูกค้าลดภาระในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SME การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปี นับจากเดือนพ.ค.2558 และ ไม่รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินของธนาคาร จึงย่อมส่งผลต่อกำไรของกลุ่มธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่คือที่มาของการ Sell-off หุ้นกลุ่มแบงก์ออกมาตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารฯ เตรียมปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารลงราว 5-7% 

บทความก่อนหน้า ผมได้กล่าวถึงสภาพคล่องของระบบธนาคารว่าอยู่ในระดับ All-time high แตะ 1.8 ล้านล้านบาท และในปัจจุบันลดลงเล็กน้อยโดยอยู่ที่ประมาณ 1.77 ล้านล้านบาท สภาพคล่องส่วนนี้เป็นเม็ดเงินที่นำฝากผ่านหน้าต่าง Bilateral repurchase กับธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงเวลา 09.30 น.ของทุกวัน โดยมีช่วงอายุ 1 วัน 7 วัน 14 วัน และ 30 วัน .... ต้องไม่ลืมว่า นี่คือ สภาพคล่องที่แต่ละธนาคารดำรงไว้ในรูปเงินสด หลังจากทำการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐฯ ภาคเอกชนบางส่วน และวาง reserve กับธปท.ไปแล้ว จึงสามารถกล่าวได้ว่า ท่วมจริงๆ

การที่ LDR หรือ Loan/Deposit ratio ของแต่ละธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ย่อมบ่งบอกถึง สภาพคล่องส่วนเกินที่ธนาคารต่างแบกรับไว้นั่นเอง เงินฝากที่ระดมมาจากทั้งบุคคลและสถาบันเริ่มท่วมเพราะธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยกู้ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ธนาคาร 3-4 แห่ง พร้อมกลับใจปล่อยเงินกู้ยืมให้กับบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่กันอย่างครึกโครม เพื่อลดสภาพคล่องที่ตนแบกรับไว้

ในอีกมุมหนึ่ง stock น้ำมันลดลง สวนทางคาดการณ์ หนุนหุ้นน้ำมันฟื้นตัวช่วงสั้น ตามรายงานของสำนักสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) สิ้นสุดสัปดาห์ (1 เม.ย.) สต็อกน้ำ มันดิบลดลงครั้งแรกในรอบ 8 สัปดาห์ แม้หุ้นน้ำมันฟื้นตัว แต่ยังถูกกดดันจาก หุ้น ธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มสื่อสาร

แม้ว่า กนง. ได้ยืนดอกเบี้ย นโยบายที่ 1.5% แต่ด้วยสภาพคล่องทางการเงินที่สูง และความต้องการใช้สินเชื่อน้อย ทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต้องประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้ว 5 ราย โดยยังคงอัตราดอกเบี้ย เงินฝาก โดยรวม ธ.พ. ขนาดใหญ่ 4 ราย จะได้รับผลกระทบมากสุด ได้แก่ KBANK, BBL, KTB และ TMB เนื่องจากมีสัดส่วนของสินเชื่อ Corporate และ SMEs รวมกันเฉลี่ยสูงถึง 60% เว้นแต่ SCB มีสัดส่วนราว 50% จึงน่าได้รับผลกระทบน้อยกว่า

ในมุมของค่าเงินนั้น ค่าเงินในเอเชียแข็งค่าเป็น Sentiment ที่เป็นบวกกับหุ้นเอเชียในระยะสั้น เนื่องจาก FED Minutes ส่งสัญญาณว่า FED จะยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยเพราะกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับตัวเลข Caixin PMI ของจีนเดือน มี.ค. ดีขึ้นตาม PMI ของทางการ อย่างไรก็ตามภาพในระยะกลางยังคงไม่ชัดเจนและ เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนมากทั้งจากอัตราแลกเปลี่ยน ราคา Commodities และตลาดหุ้น เพราะ Unknown มีมากเหลือเกิน ในขณะที่การฟื้นตัวของพระเอกอย่างสหรัฐ กลับเริ่มชะลอตัวลง

แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR ในครั้งนี้ อาจพออนุมานได้ว่า โอกาสที่ธปท.จะใช้มาตรการดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลาอันใกล้คงริบหรี่ลง นั่นไม่ได้แปลว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยไม่น่าสนใจ ผมมั่นใจว่าเราจะยังคงเห็นเม็ดเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรต่อไป สุดท้าย ยิ่งธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสารหนี้ในสัดส่วนที่มากขึ้นเท่าไร NIM หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยย่อมถูกกดดันมากขึ้นเท่านั้น เพราะดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 5.5-6.5% ในขณะ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี จะอยู่ที่เพียง 1.55%